เช็ก 10 หุ้น SETESG ระดับ AAA งบ 9 เดือน กร้าวใจ กำไรพุ่งกว่าหมื่นล้านบาท

เช็ก 10 หุ้น SETESG ระดับ AAA งบ 9 เดือน กร้าวใจ กำไรพุ่งกว่าหมื่นล้านบาท

ดัชนีหุ้น SETESG มีทั้งหมด 114 หลักทรัพย์ คัดกรองเรทติ้ง  AAA ผลประกอบการ 9 เดือนทำกำไรสุทธิ เกิน 1 หมื่นล้านบาท มี 10 หลักทรัพย์ PTT กำไรมากสุดในกลุ่ม 79,259 ล้านบาท ปันผล YTD ที่ 5.76%

หลังจากคณะรัฐมนตรี อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงฯ ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ซื้อกองทุน Thailand ESG Fund อัตรา 30% ไม่เกิน 1 แสนบาท/ปี และให้ยกเว้นภาษีกำไรจากการขายหน่วยลงทุน ให้เริ่มทันทีจนถึง 31 ธ.ค. 75 นั้น ทำให้บรรดาหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการจัดตั้งกองทุน ESG ได้รับการจับตาอย่างมาก  

โดย “กรุงเทธธุรกิจ” สำรวจ ดัชนีหุ้น SETESG มีทั้งหมด 114 หลักทรัพย์ ได้ทำการคัดกรองเรทติ้ง  AAA ที่ผลประกอบการ 9 เดือนทำกำไรสุทธิเกิน 1 หมื่นล้านบาท มี 10 หลักทรัพย์

เช็ก 10 หุ้น SETESG ระดับ AAA งบ 9 เดือน กร้าวใจ กำไรพุ่งกว่าหมื่นล้านบาท

1.บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) PTT

  • SET ESG Ratings อยู่ที่ระดับ AAA
  • มาร์เก็ตแคป 992,564.12 ล้านบาท 
  • กำไร 9 เดือน 79,258.87 ล้านบาท
  • เงินปันผล YTD ที่ 5.76%

2.บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP

  • SET ESG Ratings อยู่ที่ระดับ AAA
  • มาร์เก็ตแคป 639,167.65 ล้านบาท 
  • กำไร 9 เดือน 58,422.44 ล้านบาท
  • เงินปันผล YTD ที่ 5.75%  

3.ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK

  • SET ESG Ratings อยู่ที่ระดับ AAA
  • มาร์เก็ตแคป 311,566.58 ล้านบาท 
  • กำไร 9 เดือน 33,017.19 ล้านบาท
  • เงินปันผล YTD ที่ 3.04% 

4.ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB

  • SET ESG Ratings อยู่ที่ระดับ AAA
  • มาร์เก็ตแคป 255,761.92 ล้านบาท 
  • กำไร 9 เดือน 30,504.96 ล้านบาท
  • เงินปันผล YTD ที่ 3.73%  

5.บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ SCC

  • SET ESG Ratings อยู่ที่ระดับ AAA
  • มาร์เก็ตแคป 352,800.00 ล้านบาท 
  • กำไร 9 เดือน 27,049.34 ล้านบาท
  • เงินปันผล YTD ที่ 2.72% 

6.บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC

  • SET ESG Ratings อยู่ที่ระดับ AAA
  • มาร์เก็ตแคป 642,429.30 ล้านบาท 
  • กำไร 9 เดือน 22,083.57 ล้านบาท
  • เงินปันผล YTD ที่ 3.56%  

7.บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP

  • SET ESG Ratings อยู่ที่ระดับ AAA
  • มาร์เก็ตแคป 115,042.53 ล้านบาท 
  • กำไร 9 เดือน 16,498.83 ล้านบาท
  • เงินปันผล YTD ที่ 7.18%  

8.บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP

  • SET ESG Ratings อยู่ที่ระดับ AAA
  • มาร์เก็ตแคป 60,584.62 ล้านบาท 
  • กำไร 9 เดือน 14,210.09 ล้านบาท
  • เงินปันผล YTD ที่ 5.06% 

9.บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL

  • SET ESG Ratings อยู่ที่ระดับ AAA
  • มาร์เก็ตแคป 505,299.45 ล้านบาท 
  • กำไร 9 เดือน 12,985.48 ล้านบาท
  • เงินปันผล YTD ที่ 1.33%

10.บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR

  • SET ESG Ratings อยู่ที่ระดับ AAA
  • มาร์เก็ตแคป 240,000.00 ล้านบาท 
  • กำไร 9 เดือน 10,901.13 ล้านบาท
  • เงินปันผล YTD ที่ 2.50%

กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลกับกรงเทพธุรกิจว่า มองเป็นผลดีกับตลาดหุ้นไทยมากกว่าตอนที่มีการออกกองทุน SSF เพราะมีความเจาะจงในเรื่องของการลงทุนในหุ้นไทยธีม ESG ที่มากกว่า SSF ที่สามารถลงทุนได้ในสินทรัพย์ทุกประเภท จึงทำให้เกิดการกระจายตัวของเม็ดเงินลงทุนออกไปค่อนข้างมาก 

ทั้งนี้หุ้นที่น่าสนใจที่อยู่ในกลุ่ม ESG จะอยู่ในระดับเรตติ้ง AAA กับ AA ซึ่งอยากจะให้นักลงทุนมองทั้ง 2 กลุ่มนี้ โดยไม่ต้องไปยึดติดว่า AAA ดีกว่า AA เพราะเกณฑ์ของ ESG จะมีคะแนนหลาย ๆ อย่างไม่ว่าจะเป๋็นเรื่องของการกำกับดูแล หรือแนวทางต่าง ๆ นั่นไม่ได้แปลว่า ความน่าสนใจของหุ้น AA จะน้อยกว่า AAA 

โดยหุ้นในทั้ง 2 กลุ่มนี้ทั้ง AAA และ AA ที่น่าสนใจ หากอยู่ในกลุ่ม AAA หุ้น ADVANC AMATA BCP BGRIM CPALL CPAXT CPF CRC KBANK OR PTT SCGP และ WHA ส่วนหุ้นเรตติ้ง AA ที่น่าสนใจคือ BAM BBL BCH BDMS BJC CPN BA GULF MAJOR MINT OSP และ SCB ซึ่งหุ้นเหล่านี้จะเป็นTarget ที่กองทุนน่าจะเข้าไปลงทุน

ส่วนนักลงทุนควรเลือกหุ้นที่มีปัจจัยสำคัญดังนี้

1.ปีหน้าผลตอบแทนพันธบัตรจะอยู่ในระดับที่สูง เพราะฉะนั้นหุ้นควรมีผลตอบแทนที่สามารถเทียบเคียงกับพันธบัตรได้ ควรให้ปันผลได้ในระดับ 4% ขึ้นไป

2. เป็นหุ้นที่หนี้ไม่สูง เพราะอาจจะมีผลกระทบจากความเสี่ยงเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่สูงหรือต้นทุนทางการเงินสูงในระดับที่น้อยกว่า

3.มุมมองของ ยูโอบี เคย์เฮียน มองว่า ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยจะทำให้เงินบาทอ่อนค่า และอาจจะไปทดสอบแถว 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

หากนักลงทุนเข้าไปลงทุนให้ที่ได้รับประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่าก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งนักลงทุนอาจจะใช้แนวทาง 3 ข้อนี้ในการพิจารณาเลือกหุ้นได้ 

ขณะที่ประเด็นที่ต้องติดตามในปีหน้าคือ ทิศทางเงินทุนไหลออกเนื่องจากว่า ช่วงแรกการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายธนาคารกลางสหรัฐ ในช่วงนั้นอาจจะส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าหนักได้ เพราะหากสหรัฐฯ เริ่มลดอัตราดอกเบี้ยอย่างจริงจังตลาดตราสารหนี้ของสหรัฐจะกลายเป็นขาขึ้นอย่างเต็มตัว อาจจะเห็นเม็ดเงินโยกการลงทุนเพิ่มน้ำหนักที่ตราสารหนี้สหรัฐฯได้ ซึ่งจะเห็นโฟลด์ของการไหลออกแรง ๆ รอบหนึ่ง 

แต่อย่างไรก็ตามมองว่า สัญญาณดังกล่าวเป็นเรื่องทีดี แม้ว่าหุ้นไทยจะไม่ได้เฟอร์ฟอร์มทันที แต่จะเป็นสัญญาณบอกว่าการปรับตัวลดลงของอัตราดอกเบี้ย ตลาดหุ้นไทยน่าสนใจเข้ามาลงทุนในระยะกลางได้

ขณะเดียวกันภาพเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรป ซึ่งปีหน้าน่าจะลดความร้อนแรงลง แต่ถึงขั้นชะลอหรือไม่ ยังเป็นคำถามที่นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกติดตามอยู่ และประเด็นสุดท้ายที่ต้องติดตาม ภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งมีแนวโน้มที่จะแรงขึ้นในปีหน้า ตั้งแต่ต้นปีจะมีการเลือกตั้งของไต้หวัน ตามมาด้วยการเลือกตั้งของสหรัฐฯเลือกประธานาธิบดี ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า นโยบายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นของพรรคใดไม่ค่อยจะเป็นมิตรกับทางจีนมากนัก ดังนั้นปีหน้าความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์น่าจะรุนแรงขึ้น

สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับกรุงเทพธุรกิจว่า หลังจากครม.อนุมัติมาตรการส่งเสริมการลงทุน TESG ซึ่งคาดว่าอาจจะช่วยกระตุ้นดัชนีหุ้นไทยไม่ได้มากนัก เนื่องจากกองทุน SSF เดิมที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ที่นักลงทุนสามารถเข้าซื้อได้ไม่เกิน 200,000 บาท ส่วนใหญ่มีนโยบายการลงทุนกระจายตัวไปในหลาย ๆ ประเทศ หรือในหลาย ๆ สินทรัพย์ที่ไม่ใช่แค่หุ้นเพียงอย่างเดียว หรือเรียกได้ว่า ไม่ได้เป็นการลงทุนที่กระจุกตัวแค่ในประเทศไทยอย่างเดียว ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมาเม็ดเงินการลงทุนของสถาบันลดลงเรื่อย ๆ เช่นกัน เพราะไม่ได้มีการจำกัดว่า จะต้องลงในดัชนีหุ้นไทยเพียงอย่างเดียว 

แต่การลงทุน TESG เป็นการลงทุนในหุ้นไทยเพียงอย่างเดียว 100% ซึ่งการลงทุนในหุ้น TESG มีด้วยกันหลายเกรด ซึ่งท๊อปสุดก็จะเป็นระดับ AAA จะมีหุ้นที่อยู่ในโซน  AAA หลายตัว โดยมองเป็นบวกต่อการลงทุน เพราะมองว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาในเดือนธันวาคมนี้เป็นต้นไป ประมาณ 10,000 ล้านบาท 

โดยหุ้นที่อยู่ระดับ AAA ที่น่าสนใจ ADVANC AJ AMATA BANPU BAY BCP BGRIM BKI BPP CKP CPALL CPAXT CPF CRC KBANK KTB KTC M-CHAI OR PR9 PTT PTTEP PTTGC SABINA SCC SCGP STA STGT TGMAMA THCOM TISCO  TOP WHA WHAUP

“มอง 2 มุมว่า รัฐบาลได้ให้ความสนใจต่อตลาดทุน พยายามที่จะเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งตรงนี้ถือว่าตรงจุด แต่ถ้าถามว่าสิ่งที่สำคัญต่อความเชื่อมั่นต่ออนาคต เศรษฐกิจ และกำไรของตลาดหลักทรัพย์ เพราะถ้ามองว่า มีกองทุนนี้เข้ามาจะทำให้ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นคงไม่ใช่ทั้งหมด” 

อย่างไรก็ตาม มองว่า เม็ดเงินที่เข้ามา 10,000 ล้านบาท ถือว่าไม่ได้เยอะมาก เพราะปัจจุบันวอลุ่มการซื้อขายช่วง 2- 3 เดือนอยู่ที่ประมาณ  3-4 หมื่นล้านบาท ถือว่ามีความน่ากังวล หากเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลังไป 5 ปีที่ผ่านมา เทรดอยู่ในกรอบประมาณ 5 - 6 หมื่นล้านบาท 

ทั้งนี้สาเหตุเกิดจากหลายปัจจัย ซึ่งมาจากกำไรของตลาดหุ้นที่โดนดาวน์เกรดลงมา โดยเฉพาะในปีหน้ากำไรตลาดหุ้นโดนดาวน์เกรดลงมา จาก 1 ล้านล้านบาท หล่นลงมาอยู่ที่ 9.8 แสนล้านบาท ขณะที่ จีดีพีของไทยมีโอกาสที่จะต่ำกว่า 4% ในปีหน้า เพราะฉะนั้นจึงเป็นปัจจัยกดดันเข้ามาต่อตลาดหุ้นไทย 

แนะนำนักลงทุนในช่วงท้ายปีนี้ประเมินไว้ว่า ดัชนีหุ้นไทยยังคงแกว่งตัวอยู่ในระดับ 1,400 - 1,450 จุด ไม่น่าที่จะขึ้นหรือลงไปมากกว่านี้ ส่วนสิ่งที่นักลงทุนต้องติดตามคือ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ว่าสุดท้ายแล้วจะปิดประตูการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วหรือยัง ซึ่งส่วนตัวมองว่าน่าจะจบรอบไปแล้ว เพราะกรณีดังกล่าวจะส่งผลต่อบอนด์ยีลด์ เพราะหากบอนด์ยีลด์ยังยืนอยู่ในระดับสูงตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ค่อนข้างลำบาก

รวมถึงประเด็นในประเทศที่ติดตามว่า รัฐบาลจะสามารถผลักดันดิจิทัลวอเล็ตให้ออกมาใช้ได้จริงหรือไม่ เพราะขณะนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 ด่านคือ ด่านของรัฐสภากับพรรคร่วม กับอีกด่านคือ กฤษฎีกาในการตีความ หากผ่านได้ถือเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นและเศรษฐกิจ 

ส่วนหุ้นที่แนะนำช่วงวอลุ่มที่หายไป หุ้นใหญ่จะค่อนข้างนิ่ง ขณะที่หุ้นกลางเริ่มวิ่งขึ้นมา มองว่าควรเลือกหุ้นที่อยู่ในโซนล่าง โดยธีมการลงทุนแบ่งออกเป็น 3 ธีม ได้แก่ ธีมที่เกี่ยวข้องกับกำลังซื้อในปีหน้าเช่น ดิจิทัลวอเลต หรือการลดหย่อนทางภาษี หุ้น COM7 GLOBAL CPALL จะได้ประโยชน์ ธีมที่ 2 จะเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโดยมองว่า ผ่านจุด Bottom มาแล้ว จะค่อย ๆ ฟื้นตัว หุ้น TOP GLOBAL และธีมสุดท้ายที่ได้ประโยชน์จาก EU ที่มีโอกาสปรับตัวลง และค่าเงินบาทที่มีโอกาสแข็งค่าขึ้น มองเป็นหุ้น โรงไฟฟ้ากับไฟแนนซ์ หุ้น MTC และ BGRIM เป็นต้น