JKN กางไทม์ไลน์ฟื้นฟูกิจการ ย้ำชัดหากไม่ได้รับอนุมัติ ต้องปิดกิจการมูลค่าหุ้นเหลือศูนย์
JKN กางแผนแก้ปัญหาสภาพคล่อง โดยตั้งตัวเองเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟู ชี้ชัดการฟื้นฟูกิจการเป็นแนวทางที่ดีสุด พร้อมโชว์ไทม์ไลน์แก้ปัญหา แจง 4 อุปสรรคใหญ่ที่อาจทำไม่ได้ตามแผน ย้ำชัดหากไม่ได้รับอนุมัติให้ฟื้นฟูกิจการ คงต้องปิดบริษัท มูลค่าหุ้นส่อทรุดเหลือศูนย์
หลังจากถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยขึ้นเครื่องหมาย C (Caution) บนหุ้นของ บมจ.เจเคเอ็น โกลบอลกรุ๊ป(JKN) ไปเมื่อต้นเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อเตือนผู้ลงทุนกรณีมีเหตุการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อฐานะการเงินและการดำเนินธุรกิจ ล่าสุด JKN ได้ แจ้งแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว
โดย นายจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ JKN แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ปัญหาดังกล่าวสืบเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ออกหุ้นกู้จำนวน 7 ชุด มูลค่ารวม 3,360 ล้านบาท
ต่อมาบริษัทจัดการสภาพคล่องไม่เป็นไปตามแผน ทำให้หุ้นกู้รุ่น JKN239A ผิดนัดชำระหนี้ และถือเป็นเหตุให้เกิดการผิดสัญญาหุ้นกู้รุ่นอื่นๆ ทั้ง 6 รุ่น นอกจากนี้ยังเป็นเหตุให้เกิดการผิดสัญญาหุ้นกู้แปลงสภาพและหนี้เงินกู้จากสถาบันการเงินด้วย
ในการนี้บริษัทจึงจำเป็นต้องพิจารณาจัดประเภทหนี้สินใหม่ โดยจัดประเภทหนี้หุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพ และหนี้เงินกู้จากสถาบันการเงิน เป็นหนี้สินหมุนเวียนทั้งจำนวน ณ 30 ก.ย.2566 ทำให้หนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนมาก ส่งผลให้บริษัทขาดสภาพคล่องสูง
ส่วนแนวทางแก้ปัญหา บริษัทได้ว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินมาช่วยทำแผน ด้วยคำแนะนำของกรรมการจาก Morgan Stanley ที่เห็นว่าบริษัทควรจ้างที่ปรึกษาทางการเงินจากภายนอกที่มีประสบการณ์มาช่วยวางแนวทางแก้ไขปัญหาบริษัทจึงได้แต่งตั้ง บริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย ที่ปรึกษาธุรกิจ จำกัด (KPMG) ให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
ทั้งนี้ KPMG ได้เสนอตัวเลือกของการชำระคืนหุ้นกู้แก่ตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งรวมไปถึงการนำเสนอตัวเลือกที่มีระยะเวลาจ่ายชำระหนี้ที่อาจใช้เวลาถึง 8 ปี ขึ้นอยู่กับความสามารถในการหาแหล่งเงินทุนใหม่
โดยมีความตั้งใจที่จะนำข้อเสนอแนะของตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ที่มีต่อแผนการชำระหนี้หุ้นกู้มาสรุปในการประชุมตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้วันที่ 8 พ.ย.2566 และในวันที่ 6 พ.ย.2566 ทาง KPMG ได้สรุปความเห็นของตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้และนำเสนอตัวเลือกในการชำระเงินคืนให้แก่บริษัทเพื่อให้คณะผู้บริหาร ตัดสินใจตามดุลยพินิจในลำดับต่อไป
นายจักรพงษ์ แจ้งด้วยว่า บริษัทได้พยายามหาเงินมาชำระคืนหุ้นกู้ โดยได้เข้าเจรจากับนักลงทุน 3 กลุ่มเพื่อเพิ่มทุนตั้งแต่ปลายเดือนก.ย.2566 รวมถึงขายสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน และหาแนวทางการทำธุรกิจต่างๆ โดยในเดือนต.ค.2566 ที่ผ่านมา ได้มีการเจรจากับนักลงทุนต่างๆ ตลอดทั้งเดือน แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่จะหาเงินทุนมาชำระหุ้นกู้ได้ บริษัทจึงมีความจำเป็นต้องยุติการเจรจาในวันที่ 30 ต.ค.2566
ทั้งนี้ แม้ในงบการเงินบริษัทจะมีทรัพย์สินพอสมควร แต่ทรัพย์สิน 67% เป็นทรัพย์สินไม่มีตัวตน ซึ่งไม่สามารถแปลงมาเป็นเงินสดเพื่อชำระหนี้ได้ทันเวลา และในการเจรจากับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้และผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2566 ทาง KPMG ได้ร่วมกับบริษัทจัดประชุมเพื่อหาข้อสรุปในการชำระคืนหนี้
โดยที่ประชุมเห็นว่า ผู้ถือหุ้นกู้มีแนวโน้มที่จะไม่ยินยอมการชำระคืนหนี้ยาวนานถึง 8 ปี แต่หากต้องการรับเงินคืนภายใน 3 ปี บริษัทจึงมีความเห็นว่าจะไม่สามารถดำเนินการตามแผนดังกล่าวได้เมื่อผลการประชุมเข้าเงื่อนไข บริษัทจึงตัดสินใจยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางตามแผนที่ได้รับจากที่ปรึกษาทางการเงิน โดยไม่ได้แจ้งที่ปรึกษาทางการเงินก่อนที่จะยื่นคำร้องในวันที่ 8 พ.ย.2566 ตามที่ได้รับมติจากคณะกรรมการในคืนวันที่ 7 พ.ย.2566 ซึ่งศาลฯ รับคำร้องของบริษัทในวันที่ 9 พ.ย.2566 และบริษัทได้เข้าสู่สภาวะการพักชำระหนี้ทั้งหมด(Automatic Stay) ไปจนกว่าศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
นายจักรพงษ์ แจ้งด้วยว่า การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุดและเป็นวิธีการแก้ปัญหาเพียงช่องทางเดียวที่บริษัทมีในเวลานั้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อบริษัทและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
สำหรับขั้นตอนและกรอบระยะเวลาโดยประมาณ
8พ.ย.2566 : ยื่นคําร้องขอเข้าแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาล
9พ.ย.2566 : ศาลมีคําสั่งรับคําร้อง และเข้าสู่สภาวะ Automatic Stay
จนกว่าศาลจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น
พ.ย.2566 : ศาลจัดส่งคําร้องขอฟื้นฟูกิจการให้เจ้าหนี้
29ม.ค.2567 : ศาลนัดไต่สวนคําร้องการเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ
เม.ย.2567 : ศาลพิจารณามีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทําแผน
พ.ค.2567 : ประกาศคําสั่งศาลและแต่งตั้งผู้ทําแผนในหนังสือพิมพ์และ
ราชกิจจานุเบกษา
มิ.ย.2567 : เจ้าหนี้ดําเนินการยื่นคําร้องขอรับชําระหนี้
ก.ย.2567 : ผู้ทําแผนจัดทําแผนฟื้นฟูภายใน 3 เดือนนับจากวันโฆษณา
คําสั่งตั้งผู้ทําแผน
ต.ค.2567 : เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นําส่งแผนฟื้นฟูกิจการให้เจ้าหนี้
พ.ย.2567 : เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพยัจัดประชุมเจ้าหนี้ลงมติรับแผนฟื้นฟู
กิจการ
ธ.ค.2567 : ศาลล้มละลายกลางพิจารณาคําสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ
ม.ค.2568 : ผู้บริหารแผนเริ่มดําเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ
ทั้งนี้ กรอบระยะเวลาดําเนินการดังกล่าวเป็นการประมาณการเบื้องต้น ภายใต้สมมติฐานที่ดีที่สุดและภายใต้กรณีที่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลังขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นใน
อนาคต
นอกจากนี้ JKN ยังได้แจ้งถึงปัญหาและอุปสรรคที่อาจทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามแผนได้
1.ความร่วมมือจากเจ้าหนี้เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับการชำระหนี้ร่วมกัน
2.ความสามารถในการปรับเปลี่ยนสัดส่วนธุรกิจ จากธุรกิจ Content ไปเป็นธุรกิจใหม่ที่บริษัทได้เตรียมไว้
3.การหาพันธมิตร นักลงทุน ตลอดจนการจัดหาแหล่งเงินทุน
4.สภาพเศรษฐกิจโดยเฉพาะภายในประเทศ
ส่วนผลที่อาจเกิดขึ้นหากบริษัทไม่ได้รับอนุมัติให้เข้าแผนฟื้นฟูกิจการ
1.ด้วยปริมาณหุ้นกู้ทั้งหมด หากเจ้าหนี้ทุกรายเรียกร้องบริษัทให้ชำระหนี้คืน บริษัทจะไม่มีเงินสดเพียงพอในการดำเนินธุรกิจแน่นอนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคู่ค้าและบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
2.บริษัทอาจจะต้องปิดกิจการหรือถูกฟ้องร้องจนไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อไป และล้มละลายอันจะทำให้ทุกฝ่ายเสียหายอย่างมาก
3.หุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์จะไม่มีมูลค่า ทำให้นักลงทุนและผู้ถือหุ้นได้รับผลกระทบรวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์
4.หากบริษัทต้องปิดดำเนินกิจการหรือไม่สามารถดำเนินการต่อได้ จะส่งผลกระทบต่อพนักงานของบริษัททุกคน
ผลจากการยื่นคำร้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ
1.บริษัทยืนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 8 พ.ย.2566 และศาลฯ ได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 9 พ.ย.2566 ทั้งนี้ศาลได้นัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 29 ม.ค.2567
2.บริษัทได้รับการคุ้มครองจากการเรียกร้องและฟ้องร้อง(Automatic Stay) จนถึงวันที่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นทำให้บริษัทสามารถเตรียมแนวทางต่างๆ เพื่อวางแผนชำระหนี้ได้
3.บริษัทจะมีเวลาเพิ่มขึ้นในการเจรจากับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้และผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้
4.เจ้าหนี้ทุกรายได้รับชำระหนี้อย่างเป็นธรรมทุกฝ่าย และบริษัทยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ซึ่งทำให้บริษัทยังรักษาคนและธุรกิจ อีกทั้งยังมีเวลาในการปรับตัวและพูดคุยกับคู่ค้าและเจ้าหนี้การค้าเพื่อทำธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ บริษัทได้เสนอให้ บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป เป็นผู้ทำแผนโดยอำนาจหน้าที่และสิทธิของผู้ทำแผนตามกฎหมายฟื้นฟูกิจการซึ่งจะตกแก่ผู้ทำแผนนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผนดังนี้
อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัท
บรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของบริษัท (ยกเว้นสิทธิที่จะได้รับเงินปันผล)
อำนาจในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท
นายจักรพงษ์ ระบุด้วยว่า การทําธุรกิจคอนเทนต์มีความเฉพาะเจาะจงและต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งบริษัทได้ดําเนินธุรกิจนี้มีผลกําไรมาโดยตลอด โดยเฉพาะการบริหารทรัพย์สินไม่มีตัวตน ทั้งการขายในประเทศและต่างประเทศ
บริษัทจึงมีความพร้อมทั้งความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการทําธุรกิจ
บริษัทขอยืนยันว่ามีเจตนาที่ดีในการชําระหนี้สินให้แก่เจ้าหนี้ทุกฝ่าย โดยการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทจะช่วยให้บริษัทแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีกฎหมายรองรับและให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม อีกทั้ง บริษัทฯ ยังสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ในระหว่างที่อยู่
ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อการแก้ไขปัญหาของบริษัทฯ และเพื่อสร้างผลกําไรจากการดําเนินกิจการต่อไปในอนาคตได้
อย่างมั่นคง