‘ไพบูลย์’ หนุนแยก ‘โปรแกรมเทรดหุ้น’ ชี้ลงดาบเฉพาะทำตลาดป่วน
ไพบูลย์ นายกสมาคมนักวิเคราะห์ฯ แนะแยกประเภท “โปรแกรมเทรดดิ้ง” ให้ชัดเจน เห็นด้วยหากภาครัฐ ตรวจสอบ-คุมเข้ม สั่งเบนหรือยกเลิก เฉพาะโปรแกรมเทรดหุ้นสร้างผลกระทบต่อตลาด หนุนตลาดทุนไทย 4.0 เดินหน้าต่อได้ ควบคู่ฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน
จากกรณีที่ “นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง” ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้แสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก ว่า "เลิก Program Trading… จะดี"
และวานนี้ (14 ธ.ค.) “นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าวว่า ได้หารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)แล้ว พร้อมได้สั่งการให้ ก.ล.ต.ไปพิจารณา เนื่องจากเป็นอำนาจของ ก.ล.ต.ว่า “การใช้ โปรแกรมเทรดดิ้ง มีผลกระทบหรือไม่อย่างไร ถ้าหากตรวจสอบแล้ว พบว่า มีผลกระทบและไม่ควรมีการใช้โปรแกรมเทรดดิ้ง ก็ต้องมีมาตรการหรือประกาศยกเลิกต่อไป”
ต่อประเด็นดังกล่าว นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด และในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ให้มุมมมองและเห็นด้วยว่า หากภาครัฐและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทย จะร่วมกันหารือ เพื่อพิจารณาแยกประเภทของการใช้โปรแกรม เทรดดิ้ง ให้มีความชัดเจนมากขึ้นว่า การใช้โปรแกรมเทรดดิ้ง ประเภทไหนที่มีผลกระทบต่อตลาด ไม่ควรใช้ ควรมีมาตรการควบคุมหรือยกเลิก
เนื่องจากปัจจุบันกลยุทธ์การลงทุนซื้อขายหุ้น ด้วยการใช้“โปรแกรม เทรดดิ้ง” เข้ามามีบทบาทอย่างมาก มีสัดส่วนถึง 40% ของมูลค่าการซื้อขายหุ้น ซึ่งเป็นการใช้ โปรแกรม เทรดดิ้ง ทำกลยุทธ์หลากหลาย
โดยเท่าที่พบเห็นในประเทศไทย ส่วนใหญ่สัดส่วน 80-90% ของโปรแกรม เทรดดิ้ง เป็นการใช้ทำกลยุทธ์ซื้อขายหุ้น ทั้งแบบ Execution เพื่อให้ราคาที่ซื้อขายได้จริงใกล้เคียงหรือไม่เกินราคาเฉลี่ยของวันนั้น และแบบ market making ของมาร์เก็ตเมคเกอร์ จะกำไรจากสเปรด ยังช่วยให้ตลาดมีสภาพคล่องมากขึ้ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ปกติอยู่แล้ว ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อตลาด
ขณะที่สัดส่วนที่เหลืออีก 10% ของโปรแกรมเทรดดิ้ง ก็ยังต้องแยกอีกว่า เป็นประเภทไหน เพราะจะพบว่ายังมีส่วนน้อยที่เป็นกลยุทธ์การเทรดแบบอาร์บิทราจ ซึ่งก็เป็นกลไกการซื้อขายหุ้นตามปกติ ไม่ได้ทำให้ใครได้หรือเสียประโยชน์
นายไพบูลย์ แนะว่า ในสัดส่วนน้อยดังกล่าว จริงๆ แล้ว ก็คงต้องตรวจสอบ และแยกประเภทออกมาให้ชัดเจนว่า การใช้โปรแกรม เทรดดิ้งประเภทไหน ที่ไม่พึ่งประสงค์ ในลักษณะนำมาสร้างมูลค่าการซื้อขายเทียม เอาเปรียบหรือสร้างความเสียหายต่อตลาด
ซึ่งในกลุ่มนี้ที่สร้างความเสียหาย อาจตรวจสอบต่อว่า มีมากน้อย หรือไม่มี อย่างไรบ้าง หากมีผลกระทบต่อตลาด ก็อาจมีมาตรการเข้ามาควบคุมในตรงนี้ต่อไป
“ส่วนตัวเห็นด้วยกับทางภาครัฐให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพื่ออธิบายถึงการใช้โปรแกรม เทรดดิ้ง ที่เข้าใจตรงกัน และแยกประเภทโปรแกรม เทรดดิ้ง ให้ชัดเจน ว่าแบบไหนคือ ดีหรือไม่ดี คือ เป็นของจริงหรือของเทียม หากมีที่ไม่ดี เป็นของเทียม เป็นอันตรายต่อตลาด ต้องสั่งควบคุมหรือสั่งเบน ซึ่งปัจจุบัน ตลท. ก็ไม่ได้ให้มีอยู่แล้ว คงต้องมีการตรวจสอบ และพูดคุยกันร่วมกัน"