‘วอลล์สตรีท’ ยกกองทุน ‘S&P 500’ แกร่งสุดปีนี้ ให้ผลตอบแทน 24% ตั้งแต่ต้นปี
นักลงทุนวอลล์สตรีทค้นพบว่า ไม่ต้องใช้ท่ายากก็ได้ผลตอบแทนสองหลัก เพียงลงทุนในดัชนี S&P 500 ซึ่งให้ผลตอบแทนราว 24% นับตั้งแต่ต้นปีนี้ ส่วนตลาดหุ้นจีนทำผลงานยอดแย่ขาดทุน 3 ปีติด และคาดว่าหุ้น EV จะเป็นตัวแบกตลาดหุ้นจีนในปีหน้า
Key Points
- กองทุนดัชนีหุ้นสหรัฐ S&P 500 ให้ผลตอบแทนราว 24% นับตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงปัจจุบัน
- ขณะนี้ ดัชนีหุ้น S&P 500 เหลืออีกไม่ถึง 1% จะแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์รอบใหม่ (New All Time High) จากระดับสูงสุดที่ 4,796.56 จุดในเดือน ม.ค. 2565
- ดัชนีหุ้นจีน CSI 300 ปรับตัวลงในแดนลบราว 14% ในปีนี้นับตั้งแต่ต้นปี ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันมา 3 ปีแล้ว
ใครจะไปรู้ว่า ในปีนี้ที่ตลาดหุ้นขึ้นลงดั่งรถไฟเหาะ การเล่นหุ้น “ท่าง่าย” อย่างการถือกองทุนดัชนีหุ้นสหรัฐ S&P 500 ที่ให้ผลตอบแทนราว 24% นับตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงปัจจุบัน กลับให้ผลตอบแทน “ดีกว่า” การเล่นท่ายากอย่าง การเลือกหุ้นตามอุตสาหกรรม การเล่นออปชันตามแนวโน้มตลาด และการลงทุนในหุ้นกลุ่มปันผล ท่าตีลังกาหงายท้องเหล่านี้ยังไม่สามารถสู้การถือเพียง S&P 500
อันที่จริงแล้ว สำหรับดัชนีหุ้น S&P 500 ซึ่งรวบรวมบริษัทใหญ่ที่สุด 500 แห่งทั้งที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก (NYSE) และตลาดหุ้น NASDAQ ไว้ด้วยกัน วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนระดับตำนานของสหรัฐ เคยให้คำแนะนำอย่างเรียบง่ายกับนักลงทุนที่ไม่ค่อยมีเวลาคัดหุ้นรายตัวว่า ให้ลงทุนในดัชนีนี้แทน เพื่อผลตอบแทนที่เป็นบวกในระยะยาว เพราะบัฟเฟตต์เชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโตสูงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยนวัตกรรมและเศรษฐกิจที่เปิดกว้างในประเทศ
สิ่งที่เขาเชื่อนั้นยังคงถูกต้องอย่างน่าอัศจรรย์จนถึงปัจจุบัน เพราะขณะนี้ ดัชนีหุ้น S&P 500 เหลืออีกไม่ถึง 1% จะแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์รอบใหม่ (New All Time High) จากระดับสูงสุดที่ 4,796.56 จุดในเดือน ม.ค. 2565 เรียกได้ว่า ต่อให้ซื้อที่ราคาไหนของดัชนีก็ได้กำไรทุกคน ถ้าไม่ได้ขายขาดทุนก่อน ซึ่งน่าลุ้นว่าจะทำสถิติใหม่ก่อนสิ้นปีนี้ได้หรือไม่ เพื่อต้อนรับวันปีใหม่จะถึงนี้
“เป็นที่ชัดเจนว่า วิธีกระจายความเสี่ยงที่ดีที่สุด คือ การลงทุนในดัชนี S&P 500 เพราะเป็นดัชนีที่รวม 500 บริษัทใหญ่ที่สุดของสหรัฐไว้ด้วยกัน” อาร์ท โฮแกน (Art Hogan) หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ของบริษัทจัดการลงทุน B. Riley Wealth กล่าว
- ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐ S&P 500 -
Goldman Sachs สารภาพบทเรียน 2 เรื่อง
ใกล้สิ้นปีเก่า ต้อนรับปีใหม่แล้ว แต่ดัชนีตลาดหุ้นจีน CSI300 ยังคงปรับตัวลง 14.48% นับตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงปัจจุบัน กลายเป็นการติดลบปีที่ 3 ติดต่อกันของตลาดหุ้นจีน โดยก่อนสิ้นปี Goldman Sachs ธนาคารเพื่อการลงทุนและกลุ่มหลักทรัพย์ที่ใหญ่ระดับโลกเผย “2 บทเรียน” ที่ได้เรียนรู้จากตลาดหุ้นทั่วโลก ดังนี้
- ดัชนีตลาดหุ้นจีน CSI300 -
- บทเรียนที่ 1 หุ้นจีน แย่กว่าที่คิด
ช่วงต้นปี 2566 Goldman Sachs เป็นหนึ่งในสถาบันการเงินระดับโลกที่สนับสนุนให้ซื้อหุ้นจีน และมีมุมมองว่า หลังจากจีนเปิดเมืองแล้ว อนาคตเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวและสดใส โดย คิงเกอร์ เลา (Kinger Lau) นักยุทธศาสตร์ด้านการลงทุนของ Goldman Sachs คาดการณ์ว่า หุ้นจีนจะพุ่งขึ้น 15% และกลายเป็น “คลื่นใหญ่” ที่พาราคาหุ้นของเหล่าประเทศกำลังพัฒนาให้ขึ้นตามด้วย
ในความเป็นจริงแล้ว หุ้นจีนกลับร่วงมากกว่า 15% แทน ในขณะที่หุ้นของเหล่าตลาดประเทศกำลังพัฒนากลับทำผลงานได้ดี คามัคชยา ตรีเวดี (Kamakshya Trivedi) นักวางแผนกลยุทธ์ของ Goldman Sachs กล่าวว่า บทเรียนที่ได้เรียนรู้คือ การเคลื่อนไหวของ “หุ้นจีน” กับ “หุ้นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา” ซึ่งมักอยู่ในเอเชีย “ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน” ในบางครั้ง
- บทเรียนที่ 2 หุ้นประเทศกำลังพัฒนา ผลงานดีกว่าคาด
สำหรับบทเรียนนี้ ตรีเวดี เผยว่า เดิมทีมองภาพตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะไปในทางลบ เพราะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นระดับดอกเบี้ยนโยบายสูงสุดในรอบ 22 ปี เพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่เคยขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ดอลลาร์แข็งค่ามากจนดึงเงินทุนจากบรรดาประเทศกำลังพัฒนาออกไป รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่เป็นเสาหลักของเอเชียก็ยังชะลอตัวด้วย แต่ปรากฏว่า ผลตอบแทนของหุ้นกลุ่มประเทศเหล่านี้กลับฟื้นตัวได้ดี
ถ้าดูผลตอบแทนของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เมื่อตัดจีนออกไป จะพบว่า มีผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 16% ในปีนี้ เทียบกับดัชนี MSCI ที่มีกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและรวมถึงจีนซึ่งมีน้ำหนักเกือบ 30% ของดัชนีรวมเข้าไปด้วย ให้ผลตอบแทนเพียง 4.4%
ส่วนเหตุผลที่ตลาดประเทศกำลังพัฒนา เมื่อไม่รวมจีน ฟื้นตัวได้ดีนั้น ตรีเวดีให้เหตุผลว่า เป็นเพราะธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการจัดการเงินเฟ้อได้อย่างทันท่วงที และเชิงรุก จึงช่วยให้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นฟื้นตัวอย่างดี
- หุ้นจีนให้ผลตอบแทนขาดทุน 3 ปีติด
ดัชนีหุ้นจีน CSI 300 ปรับตัวลงในแดนลบราว 14% ในปีนี้นับตั้งแต่ต้นปี ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันมา 3 ปีแล้ว
ปัจจัยกดดันหุ้นจีนก็มีตั้งแต่ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์จีนที่ใช้เงินกู้ในการขยายการเติบโต แต่เมื่อประเทศเผชิญโรคระบาดโควิด-19 และการปิดเมืองที่ยาวนาน จึงทำให้ “วงจรกู้เพื่อขยาย” นี้สะดุดลง และทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซบเซาลงจนถึงปัจจุบัน ยังไม่นับรวมช่วงที่รัฐบาลจัดระเบียบธุรกิจกลุ่มนี้ด้วยการประกาศว่า “อสังหาริมทรัพย์มีไว้เพื่อการอยู่อาศัย ไม่ใช่เพื่อการเก็งกำไร” พร้อมจำกัดจำนวนเงินปล่อยกู้ จนเป็นตัวกดดันมูลค่าตลาดนี้อีกตัวหนึ่ง
นอกจากนั้น มีปัจจัยอื่น ๆ อาทิ การจัดระเบียบกลุ่มบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba ด้วยการปรับเป็นจำนวนเงินสูงถึง 18,000 ล้านหยวนหรือราว 89,500 ล้านบาท ในโทษฐานผูกขาดตลาดมากเกินไป ลามมาถึงธุรกิจกวดวิชาที่รัฐบาลต้องการให้เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร และล่าสุด ธุรกิจเกม จีนต้องการควบคุมบริษัทไม่ให้ใช้โบนัสที่อาจทำให้เยาวชนใช้เวลากับเกมมากเกินไป
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า สิ่งที่รัฐบาลจีนพยายามทำ คือ การจัดระเบียบให้กลุ่มทุนใหญ่ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้มีขนาดเล็กลง ลดการผูกขาด และเอื้อประโยชน์ต่อสาธารณะมากขึ้นตามแนวคิดสังคมนิยม จนทำให้เหล่าธุรกิจที่ถูกจัดระเบียบได้รับผลกระทบด้านรายได้และกำไร
เมื่อผลประกอบการลดลงแล้ว ราคาหุ้นจึงปรับตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งบริษัทที่ถูกจัดระเบียบมีมูลค่าตลาดใหญ่ ก็ยิ่งเพิ่มแรงฉุดตลาดหุ้นจีนโดยรวมให้ยิ่งลงหนักขึ้น
ถ้าถามว่า ตลาดหุ้นจีนจะกลับมาได้หรือไม่ คงอาจเป็นโจทย์ที่ท้าทายว่า การจัดระเบียบอุตสาหกรรมของรัฐบาลจะสิ้นสุดลงเมื่อไร เพราะด้วยระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม การจะปล่อยให้ธุรกิจแสวงหากำไรได้อย่างเสรี โดยรัฐแทรกแซงให้น้อยที่สุด น่าจะเกิดขึ้นได้ยากสำหรับจีน เพราะจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา หากบริษัทนั้นใหญ่จนอาจผูกขาดตลาดได้ มีการแสวงหากำไรที่มากเกินควร และขัดต่อความสงบเรียบร้อยในสังคม ทางรัฐบาลก็จะเข้าไปจัดระเบียบบริษัทนั้น
สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นจีนในปีหน้า นักลงทุนหลายคนมองว่า อุตสาหกรรมพลังงานสะอาดและรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่รัฐบาลสนับสนุนน่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนตลาดหุ้นจีนในปีหน้า ซึ่งก็น่าจับตาต่อว่า ทางภาครัฐจะมีมาตรการชุดใหม่ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและตลาดหุ้นที่ซบเซาให้กลับขึ้นมาหรือไม่
เหนือสิ่งอื่นใด ในโลกการลงทุน ไม่ว่ากับสินทรัพย์ไหนหรือรูปแบบใดก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือ นักลงทุนจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วนก่อนการลงทุน เพื่อปกป้องเงินต้นและรับมือกับความผันผวนในตลาด
อ้างอิง: bloomberg, bloomberg(2), wsj, forbes