‘หุ้นกู้‘ ระทึกรัฐจ่อตั้งกองทุนพยุง จับตา ‘ไฮยีลด์‘ ครบดีลอื้อ

‘หุ้นกู้‘ ระทึกรัฐจ่อตั้งกองทุนพยุง จับตา ‘ไฮยีลด์‘ ครบดีลอื้อ

“ตลาดหุ้นกู้” ยังระส่ำไตรมาสแรกครบดีลเกือบ 1.9 แสนล้าน เผยเป็น “ไฮยีลด์บอนด์” ถึง 3.8 หมื่นล้าน วงการแนะจับตากลางม.ค.นี้ กลุ่มอสังหาฯ ครบดีลอื้อ ขณะโลกโซเชียลสะพัด ITD ส่อขอผ่อนจ่ายเงินต้น 2 ปี ด้าน “ไทยบีเอ็มเอ” ย้ำต้องหารือเจ้าหนี้ก่อน

Key Points :

  • “หุ้นกู้ครบกำหนด” ซึ่งปีนี้จะมีสูงถึง 1 ล้านล้าน อาจมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะใน “กลุ่มไฮยีลด์” ที่จะครบกำหนดราว 5 หมื่นล้าน
  • ในไตรมาสแรกของปี 67 จะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดรวมเกือบ 1.9 แสนล้าน ในจำนวนนี้เป็นหุ้นกู้ระดับที่ลงทุนได้หรือ Investment Grade ราว 148,824 ล้าน
  • ระดับ Non-Investment Grade อีกประมาณ 20,404 ล้าน และหุ้นกู้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับเรทติ้ง หรือ Non-Rated อีกประมาณ 17,662 ล้าน
  • ปัญหาหุ้นกู้เป็นเรื่องที่รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญค่อนข้างมาก ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาจัดตั้งกองทุนรับซื้อหุ้นกู้ที่มีปัญหา จะมีลักษณะคล้ายกองทุน BSF ทำหน้าที่รักษาสภาพคล่องของระดับทุนตลาดตราสารหนี้

 

 

หลังจาก “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แสดงความเป็นห่วงในประเด็น “หุ้นกู้ครบกำหนด” ซึ่งปีนี้จะมีสูงถึง 1 ล้านล้านบาท อาจมีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะใน “กลุ่มไฮยีลด์” ที่จะครบกำหนดราว 5 หมื่นล้านบาท 

เนื่องจากธุรกิจที่มีการออกหุ้นกู้ไฮยีลด์ มีความสามารถในการชำระหนี้หุ้นกู้ครบกำหนดลดลงตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้หุ้นกู้ครบกำหนดได้ และความเสี่ยงต่ออายุหุ้นกู้ (Roll-over risk) เพิ่มขึ้น จนนำไปสู่การผิดนัดชำระหุ้นกู้เพิ่มขึ้น 

จากการรวบรวมข้อมูลของทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจ พบว่า ในไตรมาสแรกของปี 2567 จะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดรวมเกือบ 1.9 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหุ้นกู้ระดับที่ลงทุนได้หรือ Investment Grade ราว 148,824 ล้านบาท ระดับ Non-Investment Grade อีกประมาณ 20,404 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับเรทติ้ง หรือ Non-Rated อีกประมาณ 17,662 ล้านบาท 

เท่ากับว่าในไตรมาสแรกปี 2567 มีหุ้นกู้ “ไฮยีลด์ บอนด์” (High Yield) ซึ่งก็คือกลุ่ม Non-Investment Grade กับ Non-Rated รวมกันประมาณ 38,066 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ในกลุ่มของภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก

ทั้งนี้ ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวเกิดขึ้นมากมายบนโลกโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับหุ้นกู้ของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD โดยระบุว่า ITD เตรียมจะขอพักจ่ายเงินต้นหุ้นกู้ ITD ทุกรุ่นไปอีก 2 ปี โดยที่ระหว่างทางจะยังจ่ายดอกเบี้ยอยู่ ซึ่งหุ้นกู้ ITD มีทั้งหมด 5 รุ่น รวมมูลค่า 14,455 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปีนี้ 3 รุ่น ได้แก่ 

* รุ่น ITD242A ครบกำหมด 15 ก.พ.2567 มูลค่า 2,000 ล้านบาท

* รุ่น ITD242DA ครบกำหนด 4 ธ.ค.2567 มูลค่า 2,455 ล้านบาท

* รุ่น ITD24DB ครบกำหนด 4 ธ.ค.2567 มูลค่า 1,215 ล้านบาท

ส่วนที่เหลืออีก 2 รุ่น ครบกำหนดในปี 2568 และ 2569 ตามลำดับ ได้แก่ รุ่น ITD254A ครบกำหนด 29 เม.ย.2568 มูลค่า 6,000 ล้านบาท และ รุ่น ITD266A ครบกำหนด 2 มิ.ย.2568 มูลค่า 2,785 ล้านบาท

แหล่งข่าวสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า จากกระแสข่าว ITD ขอพักจ่าย หุ้นกู้ ทุกรุ่น 2 ปี เป็นการพักจ่ายเงินต้นแต่ยังคงจ่ายดอกเบี้ยนั้น ถือเป็นเงื่อนไขที่ไม่ปกติ ซึ่งทาง ITD จำเป็นต้องเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ขออนุมัติเงื่อนไขดังกล่าวก่อน โดยผู้ถือหุ้นกู้ ITD ต้องพิจารณาว่าจะให้ยืดอายุ หรือจะ call default แบบไหนดีกว่ากัน

       ขณะเดียวกันรายงานข่าวจากบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า จะมีการส่งหนังสือแจ้งรายละเอียดการเลื่อนชำระให้กับผู้ถือหุ้นกู้ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2567 เป็นต้นไป ซึ่งผู้ถือหุ้นกู้จะรับทราบรายละเอียด โดยเฉพาะรุ่นที่กำลังจะครบกำหนดในวันที่ 15 ก.พ.2567

***ห่วงกลุ่มอสังหาฯ จับตากลางม.ค. นี้

ด้านแหล่งข่าววงการตลาดทุน กล่าวว่ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์เป็นกลุ่มที่ออกหุ้นกู้จำนวนมาก มีอสังหาริมทรัพย์บางรายที่ต้นสัปดาห์หน้าจะครบกำหนดจ่ายเงินต้นหุ้นกู้ล๊อตใหญ่หลักพันล้านบาท ซึ่งบางบริษัทได้เตรียมเงินรองรับการไถ่ถอนไว้เรียบร้อยแล้ว แต่บางบริษัทยังต้องดูว่าจะหาเงินมาสำรองจ่ายได้ทันหรือไม่ เพราะแม้สินทรัพย์หมุนเวียนจะสูงกว่าหนี้สินหมุนเวียน แต่ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของสินค้าคงเหลือที่ระบุว่าเป็นต้นทุนจึงเป็นเรื่องค่อนข้างยากที่จะแปลงกลับมาเป็นเงินสด ช่วงกลางเดือนม.ค.เป็นอีกช่วงเวลาอันตรายของตลาดหุ้นกู้

แหล่งข่าวยังกล่าวด้วยว่า ปัญหาหุ้นกู้เป็นเรื่องที่รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญค่อนข้างมาก ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาจัดตั้งกองทุนรับซื้อหุ้นกู้ที่มีปัญหา จะมีลักษณะคล้ายกับกองทุน BSF ทำหน้าที่รักษาสภาพคล่องของการระดับทุนในตลาดตราสารหนี้ โดยถูกจัดตั้งขึ้นในช่วงวิกฤติโควิด กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดเรื่องดังกล่าว

**ก.ล.ต. ย้ำไม่ใช่ทุกตัวเสี่ยงเบี้ยวหนี้

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า หุ้นกู้ที่ครบกำหนดในปี 2567 ไม่ใช่ทุกตัวที่จะสุ่มเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด แต่ถือว่าเป็นหนึ่งในประเด็นความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นกู้ไฮยีลด์เพราะอาจยังมีบางกลุ่มธุรกิจที่ยังมีความเปราะบางได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจภาพรวมชะลอตัวในปีนี้ และดอกเบี้ยยังอยู่ระดับสูงนาน ทำให้ความสามารถชำระคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดอ่อนแอลงไปบ้าง

อย่างไรก็ดี ยังเชื่อว่าหากในปีนี้ภาวะเศรษฐกิจภาพรวม มีการฟื้นตัวดีขึ้น ความเสี่ยงเหล่านี้จะค่อยๆ คลี่คลายลงตามลำดับ และบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นกู้ของนักลงทุนจะดีขึ้นด้วย แต่ต้องไม่มีประเด็นการทุจริตของบริษัทเกิดขึ้นมาอีกเหมือนกับปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน ก.ล.ต. และสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยติดตามสถานการณ์ในตลาดหุ้นกู้อย่างใกล้ชิดยังไม่พบสัญญาณความเสี่ยงดัง

ส่วนการปรับเพิ่มหลักเกณฑ์กำกับดูและออกหุ้นกู้ไฮยีลด์ให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อคุ้มครองนักลงทุนยังอยู่ระหว่างการรอนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ก.ล.ต. พิจารณาจากนั้นจะเปิดรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในปีนี้ 

“ตอนนี้เรามีการติดตามสถานการณ์เข้มงวดมากขึ้น ประสานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับในตลาดหุ้นกู้ อย่างความร่วมมือกับไทยบีเอ็มเอในการให้ข้อมูลธุรกิจ งบการเงิน โดยมีระบบการตรวจสอบความอ่อนแอทางด้านการเงิน เพื่อนำข้อมูลมาเปิดเผย ให้กับนักลงทุนมากขึ้น รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าไปติดตามดูแลว่า ธุรกิจดังกล่าวมีการเตรียมความพร้อมทางการเงินไว้รองรับอย่างไรบ้าง และหุ้นกู้ไฮยีลด์ จะเพิ่มมาตรฐานที่ให้คุ้มครองนักลงทุนมากขึ้น” 

อย่างไรก็ตามในปีนี้มีหุ้นกู้ครบกำหนดจำนวนมากถึง 1 ล้านล้านบาท และอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง มีโอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้เพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่ นอกเหนือจากความเสี่ยงของการต่ออายุหุ้นกู้ (Roll-over risk) ที่จะมีเพิ่มขึ้นในครึ่งปีแรกของปี 2567 และเซนต์

ทริเมนต์นักลงทุนที่แย่ลง ทางออกของปัญหาเหล่านี้ จะพบว่าธุรกิจที่ระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ได้ไม่ครบตามเป้ามีแนวโน้มหันมาพึ่งพาเงินกู้จากสถาบันการเงินแทน  

‘หุ้นกู้‘ ระทึกรัฐจ่อตั้งกองทุนพยุง จับตา ‘ไฮยีลด์‘ ครบดีลอื้อ **หุ้นกู้ครบดีลกระจุกตัวครึ่งปีแรก

จากการวิเคราะห์โดย SCB  EIC ระบุว่า หุ้นกู้ครบกำหนดปี 2567  มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.07 ล้านล้านบาท (รวมทั้งหุ้นกู้ระยะสั้นและหุ้นกู้ระยะยาว) แบ่งตามเครดิตเรตติ้ง ในกลุ่ม Investment Grade  มีมูลค่าหุ้นกู้ครบกำหนด 900,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน  85% และกลุ่ม Non-Investment Grade มีมูลค่าหุ้นกู้ครบกำหนด 160,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15%   

ทั้งนี้ มูลค่หุ้นกู้ที่ครบกำหนดใน 2567 จะกระจุกตัวอยู่ในไตรมาส 1 และ ไตรมาส   2 ปี 2567 ระดับ 300,000 ล้านบาทต่อไตรมาส หรือรวม 2 ไตรมาสแล้ว มีมูลค่าหุ้นกู้ที่ครบกำหนดราว 620,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นกลุ่ม Non-Investment Grade ราว 83,000 ล้านบาท  

หุ้นกู้กลุ่มธุรกิจที่จะครบกำหนดปี 2567 ใน 3 อันดับแรกนำทีมโดย ธุรกิจไฟแนนซ์ (นอนแบงก์) อยู่ที่ 196,588 ล้านบาท รองลงมาเป็น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ อยู่ที่ 180,833 ล้านบาท และ กลุ่มพลังงาน อยู่ที่ 130,248 ล้านบาท โดยหากแยกเฉพาะกลุ่ม Non-Investment Grade ใน 3 อันดับแรก นำโดยกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 61,221 ล้านบาท สัดส่วน 33.9% รองลงมาเป็นนอนแบงก์ 50,928 ล้านบาท สัดส่วน 25.9% และพลังงาน 3,450 ล้านบาท สัดส่วน 2.6% และกลุ่มอื่นๆ อยู่ที่ 44,049 ล้านบาท สัดส่วน 7.8% 

ทั้งนี้ จากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า นักลงทุนเลี่ยงหุ้นกู้กลุ่ม BBB และ High yield ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และนอนแบงก์   

**กลุ่มอสังหาฯ ความสามารถชำระน้อยลง

นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า การผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ เป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามในปีนี้  เนื่องจากจะมีหุ้นกู้ครบกำหนดจำนวนมากเกือบ 1 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่กระจุกตัวค่อนข้างมากในช่วงครึ่งแรกของปี และส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ Non-Investment Grade ราว 50% ของหุ้นกู้ที่ครบกำหนดทั้งหมด 

ทั้งนี้ ในภาวะดอกเบี้ยยังอยู่ระดับสูงในปีนี้ ทำให้มีความเสี่ยงที่ธุรกิจไม่สามารถต่ออายุหุ้นกู้ได้ง่าย โดยเฉพาะธุรกิจที่ยังสุ่มเสี่ยงได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ และไฟแนนซ์ ซึ่งอาจมีความสามารถในการชำระหนี้หุ้นกู้ลดลง หากภาวะเศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้าและยังมีการตั้งสำรองหนี้เสียค่อนข้างสูง 

นางสาวอริยา ติรณประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า การที่ทุกฝ่ายมีความกังวลปี 2567 ภาคธุรกิจความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้เพิ่มขึ้นตามมูลค่าหุ้นกู้ครบกำหนดสูงขึ้นกว่าปีนี้ใกล้ระดับ 1 ล้านล้านบาท หรือตัวเลขของสมาคมฯ อยู่ที่ระดับ 8.9 แสนล้านบาทนั้น ถือว่าความกังวลดังกล่าวเป็นไปภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ดี ทำให้โอกาสเกิดผิดนัดชำระหุ้นกู้สูงกว่าในภาวะเศรษฐกิจปกติ หรือปรับตัวดี ดังนั้น คงต้องติดตามความเสี่ยงดังกล่าวต่อไปในปีนี้ 

ขณะนี้เริ่มเห็นหลายบริษัทที่จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดในปี 67 พยายามหาแหล่งเงินสำรองจากที่อื่นๆ มาเสริมสภาพคล่องและเพื่อให้ทันรอบการจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ได้ตามที่กำหนด เพราะไม่ต้องการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ทำให้เสียประวัติ หรือเรียกเปิดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อขอมติยืดระยะเวลาชำระหนี้ครบกำหนดออกไป ปรับโครงสร้างดอกเบี้ยและเงื่อนไขต่างๆ จ่ายหนี้ดอกเบี้ยหุ้นกู้ที่ครบกำหนดให้ได้ 

ดังนั้น ความเสี่ยงการโรลโอเวอร์หุ้นกู้ดังกล่าวจะเหมารวมตลาดหุ้นกู้ทั้งระบบ หรือ แม้แต่หุ้นกู้ไฮยีลด์ทุกตัวเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ไปทั้งหมดคงไม่ได้ ต้องพิจารณาและวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาหุ้นกู้เป็นรายตัว โดยนักลงทุนต้องศึกษาข้อมูลต่างๆ และคัดเลือกลงทุนหุ้นกู้คุณภาพระดับ Investment Grade ก็จะปลอดภัย