TU จัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 15 ก.พ.นี้ หวังผ่อนผันไม่นับขาดทุน Red Lobster
บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) จัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 15 ก.พ.นี้ หวังขอผ่อนผันไม่นับรวมผลขาดทุนที่เกิดจากการบันทึกด้อยค่าทางบัญชี Red Lobster เชนร้านอาหารชื่อดังในสหรัฐ หลังขาดทุนต่อเนื่องจึงประกาศถอนการลงทุน ซึ่งส่งผลต่อความสามารถชำระดอกเบี้ย
Key Points:
- TU ประกาศถอนการลงทุนใน Red Lobster เชนร้านอาหารชื่อดังในสหรัฐ หลังขาดทุนต่อเนื่อง ส่งผลต้องบันทึกด้อยค่าทางบัญชีราว 1.85 หมื่นล้านบาท ในไตรมาส 4 ปี 2566
- สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลต่อความสามารถชำระดอกเบี้ย และเป็นข้อจำกัดต่อการจ่ายเงินปันผล ซึ่งเป็นข้อกำหนดภายใต้หุ้นกู้บางชุด
- ล่าสุด TU เตรียมจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 15 ก.พ.นี้ หวังขอผ่อนผันไม่นับรวมผลขาดทุนที่เกิดจากการบันทึกด้อยค่าทางบัญชี หลังจากธุรกิจ Red Lobster
- ด้าน ทริสเรทติ้ง ยังคงอันดับเครดิตที่ A+ เหตุมั่นใจนับจากนี้ผลดำเนินงานของ TU จะดีขึ้น
หลังจากที่ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ยอมยกธงถอนการลงทุนออกจาก Red Lobster เชนร้านอาหารชื่อดังในสหรัฐ ที่เผชิญกับภาวะการขาดทุนต่อเนื่องจากพิษโควิด
พร้อมทั้งยังเตรียมบันทึกรายการด้อยค่าที่ไม่ใช่เงินสดในครั้งเดียวราว 18,500 ล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 2566 ซึ่งจะมีผลต่อความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและข้อจำกัดการจ่ายเงินปันผลที่เป็นข้อกำหนดภายใต้หุ้นกู้บางชุดที่ออกโดยบริษัทในช่วงก่อนหน้านี้
ล่าสุด TU แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อขอผ่อนผันเงื่อนไขข้อกำหนดหุ้นกู้ก่อนการประกาศผลดำเนินงานปี 2566
โดยการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ดังกล่าวจะจัดขึ้นสำหรับผู้ถือหุ้นกู้จำนวน 5 ชุด ซึ่งจะแยกนับองค์ประชุมและการลงมติสำหรับหุ้นกู้แต่ละชุด โดยกำหนดการปิดสมุดทะเบียนพักการโอนกรรมสิทธิ์ วันที่ 1 ก.พ.2567 และจัดประชุมในวันที่ 15 ก.พ.2567 ส่วนวาระการประชุมสรุปได้ดังนี้
- พิจารณาอนุมัติการผ่อนผันหลักเกณฑ์ในการคำนวณ “อัตราส่วนของความสามารถในการชำระดอกเบี้ย”
- พิจารณาอนุมัติการผ่อนผันหลักเกณฑ์ในการคำนวณเงินปันผลที่สามารถจ่ายได้ตามเงื่อนไขการจ่ายเงินปันผล
โดยในการประชุมผู้ถือหุ้นกู้นี้ บริษัทจะขอผ่อนผันเป็นการเฉพาะคราว เพื่อไม่นับรวมรายการผลขาดทุนจากการด้อยค่าตามหลักการทางบัญชี เพื่อการคำนวณอัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ย และการคำนวณเงินปันผลที่สามารถจ่ายได้ตามเงื่อนไขการจ่ายเงินปันผล จากงบการเงินรวมปี 2566
ทั้งนี้เมื่อหักรายการผลขาดทุนจากการด้อยค่าตามหลักการทางบัญชีซึ่งไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทดังกล่าว ผลประกอบการของบริษัทยังคงแข็งแกร่ง
สำหรับหุ้นกู้ของ TU ทั้ง 5 ชุด ได้แก่
- TU24OA ครบกำหนดไถ่ถอน 9 ต.ค.2567 มูลค่า 3,500 ล้านบาท
- TU264A ครบกำหนดไถ่ถอน 11 เม.ย.2569 มูลค่า 75 ล้านบาท
- TU26NA ครบกำหนดไถ่ถอน 6 พ.ย.2569 มูลค่า 2,000 ล้านบาท
- TU271A ครบกำหนดไถ่ถอน 19 ม.ค.2570 มูลค่า 4,000 ล้านบาท
- TU29NA ครบกำหนดไถ่ถอน 6 พ.ย.2572 มูลค่า 4,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทขอเรียนว่าในกรณีที่บริษัทไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับผู้ถือหุ้นกู้ได้ บริษัทยังมีสภาพคล่องทางการเงินตลอดจนวงเงินสินเชื่อที่รองรับเพียงพอที่จะทำการไถ่ถอนบางส่วนหรือทั้งหมดของหุ้นกู้ที่ไม่ได้รับความยินยอมได้
ขณะเดียวกัน TU ยังแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ถึงความเห็นของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ที่มีต่อหุ้นกู้ของบริษัทด้วยว่า ทริสเรทติ้ง ได้ให้ความเห็นว่า แม้รายการด้อยค่าที่ไม่ใช่เงินสดครั้งเดียวจากการลงทุนใน Red Lobster จะส่งผลอย่างมากต่อผลประกอบการปี 2566 ของบริษัท แต่ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่า กำไรสุทธิของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปี 2567 เนื่องจากจะไม่มีผลขาดทุนจากกิจการ Red Lobster อีกต่อไป ดังนั้นทริสเรทติ้งจึงมีมุมมองว่ารายการด้อยค่านี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทที่อยู่ในระดับ A+
ก่อนหน้านี้ TU แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทได้พิจารณาอย่างรอบคอบและตัดสินใจถอนการลงทุนจาก Red Lobster เนื่องจากเห็นว่า ธุรกิจ Red Lobster มีความต้องการใช้เงินสูง ไม่สอดคล้องกับแผนการจัดสรรเงินลงทุนของบริษัท และเห็นควรถอนการลงทุน ซึ่งในระหว่างนี้บริษัทศึกษาช่องทางที่เป็นไปได้ในการถอนการลงทุน ทางบริษัทจะบันทึกรายการด้อยค่าที่ไม่ใช้เงินสดครั้งเดียวจำนวน 530 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 18,500 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 4 ปี 2566
คณะกรรมการบริษัทมีความเห็นว่า บริษัทมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและการบันทึกรายการด้อยค่าที่ไม่ใช่เงินสดครั้งเดียวนี้ จะไม่มีผลกระทบทางลบอย่างมีนัยสาระสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ ทรัพย์สิน หรือสภาวะทางการเงินของบริษัท
อย่างไรก็ตาม รายการดังกล่าวส่งผลกระทบต่ออัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและข้อจำกัดการจ่ายเงินปันผลซึ่งเป็นข้อกำหนดภายใต้หุ้นกู้บางชุดที่ออกโดยบริษัทก่อนหน้านี้ ซึ่งบริษัทจะดำเนินการเพื่อผ่อนผันเงื่อนไขดังกล่าวกับผู้ถือหุ้นกู้ก่อนการประกาศผลประกอบการในเดือนก.พ.นี้
สำหรับ Red Lobster นั้น ทาง TU ได้เข้าซื้อหุ้นดังกล่าวตั้งแต่ปี 2559 มูลค่าราว 575 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 19,000 ล้านบาท โดยถือหุ้นสัดส่วน 49% และกลายเป็นประเด็นที่กดดันราคาหุ้น TU มาโดยตลอด เนื่องจากมีผลขาดทุนต่อเนื่อง กระทั่งล่าสุด TU ได้ตัดสินใจถอนการลงทุนออกมา