กำลังเกิดอะไรกับ ‘หุ้น KEX’ อนาคตยังพอมีความหวัง ‘ฟื้นตัว’ ไหม ?
กำลังเกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจขนส่งอย่าง “หุ้น KEX” ที่ครั้งหนึ่งเคยมี “มนต์ขลัง” ดึงดูดนักลงทุนทั้ง “ราคาหุ้น & กำไร” สะท้อนราคาหุ้นพุ่งสูงสุดแตะ 73 บาท แต่วันนี้ ! คลายมนต์เสน่ห์หลังหุ้นดิ่ง 92.60% จากราคาสูงสุด ผลประกอบการ “หดตัว” ล่าสุดปี 2566 “ขาดทุน” กว่า 3.8 พันล้าน !!
Key Points :
- อดีตหุ้น KEX นักลงทุนอยากเป็นเจ้าของ แต่วันนี้กลายเป็นหนังคนละม้วน หลังราคาหุ้นดิ่ง 92.60% จากราคาสูงสุด 73 บาท
- ผลประกอบการ KEX เริ่มส่งสัญญาณไม่ดี ก่อนพลิกขาดทุนหนัก และล่าสุดปี 2566 พลิกขาดทุน 3.8 พันล้าน หนักสุดตั้งแต่เข้าตลาดหุ้นไทย
- จับตา “เอสเอฟฯ” ตั้งโต๊ะเทนเดอร์ซื้อหุ้น KEX หาก VGI และ BTS ตัดขายหุ้นทั้งหมดที่ถือ ตัดปัญหาการตั้งสำรองการด้วยค่าเงินลงทุน
หรืออาจจะใกล้หมดเวลา “ฮันนีมูน” (Honeymoon) ของ “หุ้น KEX” หรือ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่แท้จริง ! หากลองย้อนความหลังกับหุ้น KEX จะพบว่าปัจจุบันสถานการณ์ “หุ้น KEX” กำลังกลายเป็นหนังคนละม้วนกับช่วงเข้าตลาดหุ้นไปแล้ว !
จากวันแรกที่หุ้น KEX เดินเข้า “ตลาดหุ้นไทย” เมื่อ 24 ธ.ค. 2563 ถือเป็นหนึ่งในหุ้นไอพีโอที่ “ทรงพลัง” เพราะนักลงทุนต่างอยากเป็นเจ้าของ แม้ในสภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็พร้อมลงทุนเพราะเชื่อมั่นในธุรกิจ !! ด้วยเป็น “หุ้นขนส่ง” ที่นักลงทุนมองว่าธุรกิจได้รับอานิสงส์จากตลาดอี-คอมเมิร์ซเติบโตสูง หลังการรพบาดของโควิด-19 ทำพฤติกรรมคนทั่วโลกเปลี่ยนไปซื้อของออนไลน์เป็นหลัก...
การเข้าตลาดหุ้นวันนั้น ! ก็ไม่ทำให้นักลงทุนผิดหวัง จากราคาไอพีโอหุ้นละ 28 บาท เปิดที่ 63 บาท ก่อนถูกลากขึ้นไป “สูงสุด” (New High) ที่ 73 บาท ทะยาน 160% ประกอบกับ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และ “คีรี กาญจนพาสน์” ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ BTS เข้าซื้อ KEX เพิ่มรวมกันทั้งหมด 1.9873% ทำให้สัดส่วนการถือรวมแตะ 21.0218% เป็นอีกปัจจัยที่หนุนแรงเก็งกำไรของนักลงทุน
แต่ ณ ปัจจุบันราคาหุ้น KEX ไหลรูดลงไป “ต่ำสุด” อยู่ที่ 5.40 บาท โดยนับตั้งแต่จุดสูงสุดในวัน IPO ถึง ปัจจุบัน KEX ปรับตัวลดลงมาถึง -92.60% เรียกว่าหลุดราคาจองซื้อหุ้นไปมากแล้ว ซึ่ง ณ ปัจจุบันยังคงหลอกหลอนนักลงทุนหลายคนต่อเนื่อง
เมื่อสัญญาณของผลดำเนินงานของ KEX เริ่มไม่ดี ! นับตั้งแต่ผลประกอบการปี 2563 จาก “รายได้” ปรับตัวลดลง 4.4% แตะ 18,917 ล้านบาท หลังปรับกลยุทธ์ลดค่าส่งสินค้าเพื่อตีตลาดขนส่งแบบราคาประหยัดเพราะการแข่งขันในอุตสาหกรรมขนส่งที่รุนแรง กดความน่าสนใจน้อยลง
ถัดมาโชว์ที่ “กำไรสุทธิ” ไตรมาส 1 ปี 2564 เริ่ม “หดตัว” เหลือ 302 ล้านบาท หดตัว -18.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลมาจากการปรับกลยุทธ์เจาะกลุ่มลูกค้าราคาประหยัด ส่งนักลงทุนเกิดความกังวล รับแนวโน้มกำไร KEX หดตัว
และมาสะท้อนผลที่ชัดเจนในตัวเลขไตรมาส 3 ปี 2564 หลัง KEX มีการลดราคาค่าขนส่งในช่วงที่ผ่านมา แม้ปริมาณการจัดส่งสินค้าเพิ่มขึ้น 46% ทำรายได้เพิ่มขึ้น 18.8% แต่กลับ “กำไร” ดิ่งหนัก -95.61% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เหลือเพียง 12.84 ล้านบาท รับการแข่งขันในอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าที่รุนแรงจากการหั่นราคาขนส่ง ประกอบราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19
สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ เมื่อตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2564 KEX ประกาศ “ขาดทุน” 604 ล้านบาท ในรายไตรมาสเป็นครั้งแรก !! แม้ไตรมาส 4 ปี 2564 รายได้เพิ่มขึ้น 11% แต่ต้นทุนที่เพิ่มแตะ 42%
อย่างไรก็ตาม ปี 2565 ธุรกิจ KEX ฟื้นตัว สะท้อนภาพจาก KEX ขาดทุนไตรมาส 1 ปี 2565 “ลดลง” เหลือ 491 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาส 4 ปี 2564 ที่ขาดทุน 604 ล้านบาท สร้างความหวังให้นักลงทุนว่า KEX มีโอกาสฟื้นตัวได้
ท้ายสุด KEX อาจไม่ใช่หุ้นดาวรุ่งพุ่งแรงอย่างเสมอต้นเสมอปลายอย่างที่คิดอีกแล้ว เพราะแม้จะเป็นธุรกิจดาวรุ่ง แต่ผลประกอบการกลับไม่ได้เติบโตต่อเนื่องอย่างที่คิดไว้ก็ได้ !
แต่แล้ว !! ผู้บริหารของ KEX กลับมาประกาศเตรียม “ปรับลดราคาส่งสินค้า” เริ่มต้นเหลือ 15 บาท เดิม 19 บาท เพื่อดันยอดส่งสินค้าให้เพิ่มสูงขึ้น ประเด็นดังกล่าวกลับมาสร้างความกังวลใจให้นักลงทุนว่า KEX อาจขาดทุนมากขึ้นอีก
แล้วตัวเลขแท้จริงของกลยุทธ์ลดราคาขนส่งสินค้าก็ปรากฏ ! เมื่อผลประกอบการปี 2565 KEX พลิกขาดทุนหนักแตะ 2,829 ล้านบาท จากปี 2564 ที่กำไร 46 ล้านบาท รับการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่รุนแรงและการปรับลดราคาค่าส่งสินค้า รวมทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องรับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดันราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนของ KEX เพิ่มสูงขึ้น
และล่าสุด KEX ประกาศผลประกอบการปี 2566 ขาดทุนหนักสุดตั้งแต่เข้าระดมทุนในตลาดหุ้น “ขาดทุน 3.8 พันล้าน” ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 37.1% หลังยอดส่งสินค้า “ดิ่งหนัก” เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนอีกรอบ จากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย และเปิดประเทศ ส่งผลให้ผู้บริโภคหันกลับไปซื้อสินค้าตามหน้าร้านตามเดิม...
อย่างไรก็ตาม ผลขาดทุนรุนแรงและต่อเนื่องของ KEX ย่อมถูก “จับตามอง” จากนักลงทุนถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายใน KEX อย่างแน่นอน โดยเฉพาะหลังเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท เอสเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (SFTH) กำลังทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์หลังจากธุรกรรมการจ่ายปันผลพิเศษแบบมีเงื่อนไขบรรลุผลทั้งหมดของ KEX นอกเหนือจากส่วนที่ SFTH ถืออยู่แล้วปัจจุบันสัดส่วน 52.06% โดยจะทำคำเสนอซื้อในส่วนที่เหลือในราคาหุ้นละ 5.50 บาท
ทั้งนี้ “เอสเอฟฯ” ตั้งโต๊ะเทนเดอร์ฯ ซื้อหุ้น KEX นั้น อาจทำให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่าง บมจ. วี จี ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ที่ถือหุ้นจำนวน 269,230,900 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 15.45% และบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ที่ถือหุ้น จำนวน 88,100,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 5.06% อาจต้องขบคิดว่าจะยอมตัดขายหุ้นออกหรือไม่ เพื่อลดปัญหาการตั้งสำรองการด้วยค่าเงินลงทุนใน KEX ต่อไป
“ความหวังของ KEX”
บริษัทเชื่อว่า KEX ได้ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดได้ผ่านพ้นไปแล้ว บริษัทยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนำกลยุทธ์ของบริษัทให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดในแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และให้ความสำคัญกับการดำเนิน “กลยุทธ์สร้างความแตกต่าง” เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าที่มีรายได้ต่อพัสดุสูง ให้บริการการขนส่งที่รวดเร็ว เพิ่มการสร้างประสบการณ์ผู้ใช้งานให้ดียิ่งขึ้นตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางให้บริการที่ครบวงจร
รวมถึงการให้บริการส่งสินค้าข้ามประเทศในรูปแบบที่คู่แข่งในตลาดไม่สามารถเทียบเคียงได้ด้วยการเพิ่มจุดให้บริการในเครือข่ายเพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้ำที่มีรายได้ต่อพัสดุสูง มอบบริการที่มีความแตกต่างจากคู่แข่ง และสร้างกระแสรายได้ใหม่ (เช่น สินค้ำและอาหารพื้นเมือง รวมถึงสินค้ำจากต่างประเทศ)
จะช่วยสร้างการเติบโตของรายได้ให้มีความยั่งยืน ในไตรมาสแรกของปี 2567 บริษัทจะยังเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในการปรับปรุงต้นทุนของบริษัทที่บริษัทได้เริ่มตั้งแต่ปี 2566 เพื่อเตรียมความพร้อมในการฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ในระยะยาว