แสวงหาขุมทรัพย์ลงทุนชิ้นใหม่นอกเหนือจากหุ้นจีน
หุ้นจีนยังเผชิญความผันผวนจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นภาพรวมเศรษฐกิจที่จะชะลอลง คาด GDP เติบโต +4.5% น้อยกว่าปี 2023 ที่ +5.2% โดยภาคอสังหาฯ จะยังคงเป็นแรงกดดันต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หุ้นจีนถือเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ยอดนิยมสำหรับนักลงทุนไทย ด้วยศักยภาพในการเติบโตระยะยาวที่โดดเด่น เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยผู้บริโภคจำนวนมหาศาล และยังมีเม็ดเงินลงทุนภาคอุตสาหกรรม ที่จีนเป็นโรงงานแห่งใหญ่ของโลก อีกทั้งยังมีธุรกิจใหม่ๆ ในกลุ่มอินเตอร์เน็ตที่ผลประกอบการเติบโตต่อเนื่อง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหุ้นจีนถือเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ทำให้นักลงทุนผิดหวังมากที่สุดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยหุ้นจีนปรับตัวลงแรง 3 ปีติดต่อกัน ในปี 2021-2023 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบ 20 ปี และตั้งแต่ต้นปี 2024 หุ้นจีนก็ยังคงปรับลงต่ออีกราว 7% (อ้างอิงดัชนี HSCEI)
สาเหตุหลักที่ทำให้หุ้นจีนดิ่งลงต่อเนื่อง ช่วงแรกๆ นั้นก็มาจากการดำเนินนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเข้มงวด และตามด้วยการที่ทางการจีนได้พยายามปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม แบ่งเป็น 3 ด้านหลักๆ คือ (1) ป้องกันการผูกขาดทางการค้า กระทบต่อหุ้นหลายกลุ่มอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะธุรกิจ E-Commerce ยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba (2) จัดการเรื่องฟองสบู่ในภาคอสังหาฯ ผ่านการควบคุมการก่อหนี้ของบริษัทผู้พัฒนาอสังหาฯ ทำให้ตลาดบ้านชะลอลงอย่างมาก และสร้างวิกฤตสภาพคล่องแก่บางบริษัทจนล้มละลาย (3) แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม กระทบต่อธุรกิจการศึกษาทั้งโรงเรียนกวดวิชาและธุรกิจ Educational Technology หรือ Edtech
นอกจากข้อบังคับที่เข้มงวดแล้ว มาตรการที่รัฐบาลจีนออกมาเพื่อพยุงเศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ ยังมีขนาดเล็ก ไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นอุปสงค์จากผู้บริโภคและภาคธุรกิจได้ จึงทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นจีน
สำหรับปี 2024 นี้ มองว่าหุ้นจีนจะยังเผชิญความผันผวนจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นภาพรวมเศรษฐกิจที่จะชะลอลง โดยนักวิเคราะห์คาด GDP เติบโต +4.5% น้อยกว่าปี 2023 ที่ +5.2% โดยภาคอสังหาฯ จะยังคงเป็นแรงกดดันต่อกิจกรรมเศรษฐกิจโดยรวมทั้งด้านการลงทุนและความเชื่อมั่นผู้บริโภค นอกจากนั้นยังเผชิญกับความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะกับสหรัฐฯ ที่จะมีการเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2024 ประเด็นกีดกันทางการค้าจากจีนจะถูกนำมาใช้ในการหาเสียงอีกครั้ง ด้านยุโรปเองก็ได้เปิดฉากสงครามการค้ากับจีนเช่นกัน
โดยเจาะจงไปที่รถยนต์ไฟฟ้า ส่วนปัจจัยบวกในปี 2024 ก็คงมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและนโยบายพยุงตลาดหุ้นจากทางการจีน ซึ่งจะช่วยหนุนให้หุ้นจีนปรับเพิ่มขึ้นได้ในระยะสั้น แต่การปรับขึ้นอย่างยั่งยืนนั้นคงต้องอาศัยความเชื่อมั่นจากนักลงทุนให้กลับมาอีกครั้ง
ด้วยปัจจัยกดดันที่มีมากกว่าปัจจัยบวก และเมื่อเทียบกับภาพรวมสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลงเล็กน้อย (Soft landing) และธนาคารกลางทั่วโลกจะลดดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ประเมินว่าการลงทุนในหุ้นประเทศอื่นมีศักยภาพสร้างผลตอบแทนที่น่าดึงดูดกว่า โดยแนะนำกระจายลงทุนไปในหุ้นเวียดนามและอินเดีย เนื่องจาก
1. ภาพรวมตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) มีโอกาสได้รับแรงหนุนจากดอลลาร์สหรัฐ ที่มีแนวโน้มอ่อนค่า หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ย
2. เศรษฐกิจมีศักยภาพเติบโตดีในระยะยาว ขับเคลื่อนด้วยการบริโภคในประเทศ จากโครงสร้างประชากรที่อายุน้อยกว่า และมีสัดส่วนวัยแรงงานจำนวนมาก
3. เม็ดเงินลงทุน (FDI) จากต่างชาติที่ย้ายฐานการผลิตออกจากจีน หลังสหรัฐฯ และยุโรป ได้เปิดฉากสงคามการค้ากับจีน
4. ด้านอินเดีย มีปัจจัยหนุนระยะสั้นจากการเลือกตั้งในไตรมาส 2 ที่คาดว่านายโมดิ จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ซึ่งจะทำให้การดำเนินนโยบายเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเป็นมิตรต่อธุรกิจ
5. หุ้นเวียดนามยังซื้อขายในระดับ Valuation ที่ถูกกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต
แม้การลงทุนในหุ้นเวียดนามและอินเดียจะมีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่น แต่ก็ยังมีความเสี่ยงบางประการ โดยเวียดนามยังมีความเสี่ยงด้านค่าเงินที่ผันผวน และตลาดหุ้นที่เป็น Frontier Market จึงมีความผันผวนค่อนข้างสูง ส่วนหุ้นอินเดีย มีระดับ Valuation ที่ค่อนข้างแพง หลังตลาดหุ้นปรับเพิ่มขึ้นในปี 2023 จึงแนะนำลงทุนในหุ้นตลาดเกิดใหม่ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่รับได้ เพื่อที่จะได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจในระยะยาว พร้อมทั้งมีความเสี่ยงในระดับเหมาะสมด้วย