สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด

ธนาคารกลางทั่วโลกปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยการนำของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้นำในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งสัญญาณว่าดอกเบี้ยนโยบายใกล้เคียง หรืออาจจะอยู่ใกล้ระดับสูงสุดแล้ว

ปีมังกรเป็นปีที่นักลงทุนคาดหวังว่าจะเห็นธนาคารกลางทั่วโลกปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยการนำของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้นำในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งสัญญาณว่าดอกเบี้ยนโยบายใกล้เคียง หรืออาจจะอยู่ใกล้ระดับสูงสุดแล้ว ประกอบกับการคาดการณ์ที่ว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลง ในขณะที่ดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวในปี 2567 นี้ ทำให้นักลงทุนในตลาดการเงิน คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจำนวน 6 ครั้งๆ ละ 0.25% รวมเป็น 1.50% เป็นการคาดการณ์ที่มากกว่าการประมาณการการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ

โดยการสำรวจความเห็นจากคณะกรรมการบริหารและผู้แทนจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ใน 12 สาขา ซึ่งข้อมูลล่าสุดในเดือนธันวาคม 2566 คาดว่าดอกเบี้ยจะลดลง 3 ครั้ง รวมเป็น 0.75% แต่ไม่ได้ระบุช่วงเวลา เมื่อสิ่งที่นักลงทุนคาดหวังและสิ่งที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาญไปนั้นมีความแตกต่างกันเช่นนี้ แล้วจะมีสถานการณ์ใดบ้างที่จะเป็นการกำหนดโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 

อ้างอิงจาก The New York Times เรื่อง What’s Next for Interest Rates? An Era of Peak Uncertainty (https://www.nytimes.com/2023/12/11/business/economy/federal-reserve-rates-options.html) ได้ระบุถึงสถานการณ์ที่เป็นไปได้ และมีผลต่อการกำหนดนโยบายการเงิน แบ่งออกเป็น 3 สถานการณ์ ดังนี้ 

สถานการณ์ที่ 1. เศรษฐกิจชะลอตัวลงแรง อัตราดอกเบี้ยลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่ออัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นกระทบต่อการบริโภคภาคครัวเรือน การลงทุนภาคธุรกิจ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ ให้ลดลงแรง จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างรวดเร็ว เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยและอัตราการว่างงานที่จะสูงขึ้นอย่างมาก หากเกิดสถานการณ์นี้ขึ้นจะเป็นเรื่องง่ายต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ แต่สถานการณ์นี้ไม่ใช่สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดไว้ เพราะโดยส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2567 จะชะลอตัวลงอย่างนุ่มนวล (Soft Landing) ซึ่งน่าจะใกล้เคียงกับสถานการณ์ที่ 2 

สถานการณ์ที่ 2. อัตราเงินเฟ้อชะลอลง แรงส่งทางเศรษฐกิจยังมีต่อเนื่อง เป็นสถานการณ์ที่นักเศรษฐศาตร์โดยส่วนใหญ่ให้น้ำหนักถึงโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้มากที่สุด หรือเป็นกรณีฐานนั่นเอง เนื่องจากประมาณการทางเศรษฐกิจทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ และเอกชน คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องในอัตราชะลอลง ซึ่งจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงได้เช่นกัน หากสถานการณ์นี้เกิดขึ้นจริง อาจจะไม่ใช่โจทย์ที่ง่ายสำหรับธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะตัดสินใจลดดอกเบี้ย ด้วยเหตุผลเพียงแค่อัตราเงินเฟ้อกำลังลดลง เพราะการลดลงของเงินเฟ้อไม่ได้เป็นการรับประกันว่าจะกลับสู่กรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน ในขณะที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง อาจจะกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีขึ้น และนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อในที่สุด 

สถานการณ์ที่ 3. หลังจากอัตราเงินเฟ้อชะลอลง แต่ไม่กลับสู่เป้าหมายและทรงตัวสูงต่อเนื่อง ในขณะที่เศรษฐกิจสามารถขยายตัวแข็งแกร่ง หากสถานการณ์นี้เกิดขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ จำเป็นต้องหันกลับมาดำเนินนโยบายการที่เข้มงวดมากขึ้น โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและไม่สามารถที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลงได้เร็ว ซึ่งโอกาสที่จะเกิดสถานการณ์นี้มีน้อยกว่าสถานการณ์ที่ 2 และเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้ให้น้ำหนักมาก อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่สูงย่อมส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ 

จาก 3 สถานการณ์ข้างต้นที่ New York Times ได้รวบรวมไว้ เป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น แต่ในโลกของความเป็นจริงนั้นยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งจะทำให้เกิดสถานการณ์อื่นที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น อัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง ทำให้กำลังซื้อของประชาชนดีขึ้น นำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ก็อาจจะเป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาเร่งสูงขึ้นได้จากฝั่งอุปสงค์ หรือสถานการณ์ที่ยากจะคาดคะเนถึงผลลัพธ์ คือ ความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์

ในปัจจุบันสถานการณ์ความไม่สงบในแต่ละภูมิภาค โดยเฉพาะในตะวันออกกลางที่เป็นผลมาจากการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในช่วง 20 วันทำการแรกของปี 2567 ปรับตัวเพิ่มขึ้น +3.17% (นับตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2566-22 มกราคม 2566) และปัญหาการขนส่งที่เกิดในทะเลแดงจากกลุ่มกบฎฮูตีทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้นและเกิดปัญหาคอขวดด้านอุปทานขึ้น สร้างแรงกดดันต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์นำไปสู่อัตราเงินเฟ้อที่มาจากฝั่งอุปทาน ในกรณีเช่นนี้ก็ไม่ง่ายที่จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายได้อย่างที่นักลงทุนคาดหวัง ดังนั้น นักลงทุนจึงควรติดตามข้อมูลทางเศรษฐกิจ และการส่งสัญญาณแนวทางการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและการเงินของหน่วยงานรัฐบาลและธนาคารกลาง อีกทั้งข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะได้ปรับการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อช่วยลดความผันผวนที่จะเกิดขึ้นกับพอร์ตการลงทุน