ทำไมตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย จึงน่าสนใจเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบ ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว
ตลาดหุ้นเกิดใหม่ ในเอเชีย (EM Asia) มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นได้ดี เมื่อเทียบกับ ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว (DM) ในช่วงที่เหลือของปีนี้ การกระจุกตัวของผลตอบแทนของหุ้นขนาดใหญ่ที่ปรับเพิ่มขึ้นของ EM Asia น้อยกว่า DM
SCB CIO มีมุมมองว่า ตลาดหุ้นเกิดใหม่ ในเอเชีย (EM Asia) มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นได้ดี เมื่อเทียบกับ ตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว (DM) ในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยมีเหตุผลประกอบ ดังนี้
1) การกระจุกตัวของผลตอบแทนของหุ้นขนาดใหญ่ที่ปรับเพิ่มขึ้นของ EM Asia น้อยกว่า DM โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งจะเห็นว่า ตลาดให้น้ำหนักต่อผลการดําเนินงานของหุ้นขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ เช่น หุ้นกลุ่ม Magnificent 7 ค่อนข้างมาก โดยผลตอบแทนของหุ้นกลุ่มดังกล่าว ปรับเพิ่มขึ้นถึง 95.1% นับตั้งแต่ต้นปี 2023 ขณะที่ ดัชนี S&P500 และดัชนี S&P500 ที่ไม่รวมหุ้นกลุ่มดังกล่าว เพิ่มขึ้นเพียง 33.6% และ 19.3% ตามลำดับ ในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม หุ้นขนาดใหญ่ (Mega Cap) ใน EM Asia มีผลตอบแทนดีกว่าหุ้นที่เหลือไม่มาก ทำให้ภาพรวมหุ้นขนาดใหญ่ใน EM Asia ยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นได้อยู่
2) Valuation ของตลาดหุ้น EM Asia ถูกมากกว่าตลาดหุ้น DM โดยจะเห็นว่า Forward P/E ของตลาดหุ้นใน EM Asia อยู่ที่ 12.6 เท่า ซื้อขายอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี (-0.5 s.d.) โดยตลาดหุ้นจีน ไทย และ อินโดนีเซีย ยังมี Forward P/E ซื้อขายอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี และไม่แพงเมื่อเทียบกับ MSCI World และ S&P500 ซึ่งมี Forward P/E ซื้อขายอยู่ที่ 18.7 เท่า (+0.5 s.d.) และ 20.9 เท่า (+1.0 s.d.) ตามลำดับ ทั้งนี้ ยกเว้นตลาดหุ้นอินเดีย ที่ Forward P/E แพงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต และเมื่อเทียบกับ MSCI World
3) คาดการณ์การเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS) ในปี 2024 ของตลาดหุ้น EM Asia มีแนวโน้มสูงกว่า MSCI World โดยประเทศที่บรรดานักวิเคราะห์ (Consensus) คาด EPS จะเติบโตโดดเด่น ได้แก่ อินเดีย จีน และอินโดนีเซีย ซึ่ง EPS ขยายตัวมากกว่า 2 หลัก ในขณะที่ คาดการณ์ EPS ของดัชนี MSCI World ในปี 2024 จะขยายตัว 7.6% นอกจากนี้ Consensus ทยอยปรับประมาณการ EPS ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ของตลาดหุ้นใน EM Asia ส่วนใหญ่ ดีขึ้น ทั้งนี้ เราจึงมองว่า แนวโน้มผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของผลการดำเนินงานของแต่ละตลาดหุ้นใน EM Asia ต่อไป
4) ทิศทาง Fund Flows มีแนวโน้มกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น EM Asia ที่ไม่รวมจีน เนื่องจาก นับตั้งแต่ต้นปี 2020 นักลงทุนต่างชาติได้ขายหุ้น EM Asia ที่ไม่รวมจีน ไปค่อนข้างมาก และเพิ่งกลับมาซื้อสุทธิเพียง 1 ใน 3 นับตั้งแต่ปี 2023 จนถึงปัจจุบัน จึงทำให้มีแนวโน้มที่ Fund Flows นักลงทุนต่างชาติ จะกลับเข้ามาลงทุนได้อีก
สำหรับตลาดหุ้น EM Asia ที่เรามีมุมมองเป็นบวก และแนะนำให้ทยอยเข้าลงทุน ได้แก่
ตลาดหุ้นอินเดีย ที่มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจาก ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศ และการลงทุนภาคเอกชน โดยนโยบายของภาครัฐ ที่อำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ เช่น การลดภาษี และ การให้เงินสนับสนุนโครงการลงทุน ซึ่งจะเป็นตัวเร่งการลงทุนภาคเอกชน นอกจากนี้ อินเดียถือเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากการที่ประเทศต่างๆ ใช้นโยบาย “China + 1” ซึ่งเป็นการกระจายความเสี่ยงออกจากจีน ขณะที่ กำไรของบจ.ในดัชนี Nifty 50 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2023 ขยายตัว 11.9%YoY และ Consensus คาดการณ์ว่า กำไรในปี 2024 จะขยายตัว 15.1%YoY ในด้านของ fund flow พบว่า นักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซื้อสะสมสุทธิหุ้นอินเดียตั้งแต่ปี 2014 และนับตั้งแต่ต้นปี 2024 นักลงทุนสถาบันภายในประเทศยังคงเข้าซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่อง
ตลาดหุ้นไทย เรามองว่าการส่งออกและจำนวนนักท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว มีแนวโน้มจะส่งผลบวกต่อการบริโภคในประเทศ และ คาดว่าหน่วยงานภาครัฐจะสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุน หลังจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2024 ได้เร็วขึ้นกว่ากำหนดการเดิม เป็นช่วงต้นเดือน เม.ย.นี้ และ คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้ง ครั้งละ 25 bps. ในเดือน เม.ย. และ มิ.ย.2024 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจ และดัชนีฯ ทั้งนี้ เราเริ่มเห็นการกลับเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ ในเดือน ก.พ. 2024 ที่ 0.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ขณะที่ valuation ยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดย Forward P/E ของดัชนี SET อยู่ที่ 14.0 เท่า (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ราว -1.3 s.d.)
สำหรับตลาดหุ้นชายขอบ (Frontier Market) ที่เราแนะนำให้เข้าลงทุน ได้แก่ ตลาดหุ้นเวียดนาม ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นได้ดี เมื่อเทียบกับ ตลาดหุ้น DM ในช่วงที่เหลือของปีนี้เช่นกัน เนื่องจาก เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวด้วยแรงหนุนจาก การส่งออกที่คาดว่าจะฟื้นตัว การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการบริโภคในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางมาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการคลัง ขณะที่ ภาคอสังหาริมทรัพย์ มีแนวโน้มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ภายหลังภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ รวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการผ่อนผันการนัดชำระหนี้หุ้นกู้ภาคอสังหาฯ ออกไป ทำให้เรามองว่า กิจกรรมบนภาคอสังหาฯ มีแนวโน้มผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ส่วนกลุ่มธนาคารมีแนวโน้มได้อานิสงส์จากเศรษฐกิจที่กลับสู่ขาขึ้น ขณะที่ Valuation ตลาดหุ้นเวียดนามอยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยดัชนี VN-Index มี Forward P/E ซื้อขายอยู่ที่ 11.1 เท่า (-0.5 s.d.) นอกจากนี้ คาดการณ์ EPS ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ เราแนะนำให้เน้นการลงทุนด้วยกลยุทธ์แบบ Bottom-Up ตามสัดส่วนความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เนื่องจาก ยังคงระมัดระวังต่อประเด็นความเสี่ยงบนการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ของภาคอสังหาฯ ที่มีอยู่