MORE หวัง MM จัดคอนเสิร์ต Rolling Loud คืนหนี้คงค้างไหว
"มอร์ รีเทิร์น" ชี้แจง ตลท. กรณีงบ 66 มีหนี้เครดิตที่ทำให้ต้องตั้งค่าเผื่อขาดทุนรวม 232 ล้านบาท เผยมีแผนแก้ไขแล้ว ส่วนกรณี HEALTH ยังไม่มีแผนส่งตัวแทนเข้าเป็นกรรมการ ด้านเส้นตายชำระหนี้จาก เมย์พลัส 2005 เป็นไพโรลูไซต์ เลื่อนเป็น 23 เมษาฯ เหตุเพราะที่ผ่านมาติดวันหยุด
"มอร์ รีเทิร์น" ชี้แจง ตลท. กรณีงบ 66 มีหนี้คงค้างก้อนโต ระบุยังหวัง "มอร์มันนี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์" ที่กู้ไป 149 ล้านบาท จัดหามาคืนได้ และยังมีหนี้เครดิตที่ทำให้ต้องตั้งค่าเผื่อขาดทุนรวม 232 ล้านบาท เผยมีแผนแก้ไขแล้ว ส่วนการปรับลดมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนใน HEALTH จำนวน 852 ล้านบาท คิดเป็น 77% นั้น ทาง MORE ยังไม่มีแผนส่งตัวแทนเข้าเป็นกรรมการแต่อยู่ระหว่างคุยเพื่อหาจำนวนและราคาขายออกที่เหมาะสม ขณะที่กำหนดชำระหนี้จาก "เมย์พลัส 2005" เป็นแร่ไพโรลูไซต์ จำต้องเลื่อนเป็น 23 เมษายน 2567 เหตุเพราะที่ผ่านมาติดวันหยุด
นางสาวกนกวรรณ บุญประกอบ เลขานุการบริษัท บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า สืบเนื่องจาก บริษัทได้นำส่งงบการเงินประจำปี 2566 ขาดทุน 138 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิต 232 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการปรับลดมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในบริษัท เฮลท์ เอ็มไพร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ HEALTH จำนวน 852 ล้านบาท คิดเป็น 77% ของราคาทุน ดังนั้น เพื่อให้ผู้ลงทุนได้ทราบข้อมูลที่สำคัญเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัท ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้บริษัท ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมและเผยแพร่ผ่านระบบตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 18 เมษายน 2567 ดังนี้
1. การตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตรวม 232 ล้านบาท ซึ่งมีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงาน
ตามหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 5.3 และหนังสือของบริษัทที่อ้างถึง 1 ในเดือนกรกฎาคม 2565 บริษัทได้จ่ายเงินมัดจำค่าสิทธิจัดคอนเสิร์ต Rolling Loud ซึ่งจัดโดยบริษัท มอร์ มันนี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (MORE MONEY – บริษัทร่วม) 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (56 ล้านบาท) รวมทั้งในงวด 6 เดือน ปี 2566 บริษัทให้เงินกู้ยืมแก่ MORE MONEY จำนวน 149 ล้านบาท ซึ่งเป็นการให้เงินกู้ยืมไม่เกินสัดส่วนการถือหุ้น
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 4 ปี 2566 บริษัทมีการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตเงินมัดจำค่าสิทธิจัดคอนเสิร์ตและเงินให้กู้ยืมดังกล่าวทั้งจำนวน นอกจากนี้ บริษัทยังมีการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตอีก 27 ล้านบาท รวมเป็นค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตรวม 232 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ปี 2566 มีผลขาดทุนสุทธิ 138 ล้านบาท
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม ดังนี้
1.1 การดำเนินการของคณะกรรมการบริษัทในการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจของ MORE MONEY ซึ่งปัจจุบันมีผลประกอบการขาดทุน ไม่มีกระแสเงินสดเพียงพอต่อการชำระเงินให้กู้ยืมคงค้าง
1.2 ตามที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมายให้ฝ่ายบริหารติดตาม และชี้แจงความคืบหน้าในเรื่องการชำระหนี้ของ MORE MONEY ในการประชุมทุกไตรมาสนั้น ขอทราบความเห็นของคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้แผนการชำระหนี้ และการดำเนินการของบริษัทเพื่อให้ได้รับชำระหนี้คืน
บริษัทขอชี้แจงดังนี้
บริษัท มอร์มันนี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด หรือ MM เป็นบริษัทร่วมทางอ้อม 25% ของ MORE ซึ่งบริษัท ได้จัดหาเงินเพื่อเข้าร่วมลงทุนดังกล่าว โดยทำรายการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อบุคคลในวงจำกัด (เพิ่มทุน PP) ให้กับนายอมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ ผู้ถือหุ้นใหญ่ และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ณ เวลานั้น เพื่อนำเงินที่ได้รับจากการเพิ่มทุนทั้งจำนวนมาดำเนินกิจกรรมคอนเสิร์ต Rolling Lound ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในเดือนเมษายน 2566 ท่ามกลางกระแสข่าวที่แรงในด้านลบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของบริษัท โดยตรง และกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ร่วมทุนอื่น ทำให้แผนการดำเนินงานที่ได้วางไว้รวมถึงอำนาจในบริหารจัดการโครงการดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม จากการที่บริษัทเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์และจัดงาน Rolling Loud ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2023 ถึงปี 2028 พร้อมสิทธิขาดในการจัดงานในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นที่แรกในทวีปเอเชีย คณะกรรมการบริษัทยังคงมีความเชื่อมั่นว่าการขยายธุรกิจสู่ตลาดเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จะเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างรายได้ และสร้างชื่อเสียงให้กับบริษัท โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นสำคัญ
อีกทั้ง ยังสามารถช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็น “World Music Destination” จนกลายเป็น Asia Soft Power ในอนาคตต่อไปได้อีกด้วย จึงได้มีการวางแผนการจัดคอนเสิร์ต Rolling Loud Thailand 2024 ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ในวันที่ 22-24 พฤศจิกายน 2567
โดยแผนการจัดงานคอนเสิร์ตในปี 2567 ทางคณะกรรมการจะกำกับดูแลโดยพิจารณาจากปัญหาและอุปสรรคจากการจัดคอนเสิร์ตปีก่อนมาติดตามความคืบหน้าของโครงการ อาทิ กระบวนการจัดหาสปอนเซอร์, การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายในต่างประเทศ, แผนการตลาดและการประชาสัมพันธ์ทั้งในและต่างประเทศ, แผนการลดต้นทุนของ production และ operation รวมถึงการจัดหา outsource ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อลดขั้นตอนในการทำงานและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเกินความจำเป็น
ปัจจุบันจากแผนจัดงานคอนเสิร์ต Rolling Loud Thailand 2024 ได้เริ่มมีการจำหน่ายตั๋วสำหรับรอบแรก (Early bird ticket) ในวันที่ 10 มีนาคม 2567 และปิดจำหน่ายในวันที่ 13 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมามีกระแสตอบรับเป็นอย่างดี หากผลประกอบการเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และไม่มีปัจจัยความเสี่ยงที่นอกเหนือการควบคุมของบริษัท คณะกรรมการบริษัท มีความคาดหวังว่า บริษัท มอร์มันนี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (“MM”) จะมีผลประกอบการที่ดี และมีกระแสเงินสดรับที่เพียงพอเพื่อจ่ายชำระหนี้ที่คงค้างคืนได้
1.3 รายละเอียดการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตส่วนที่เหลืออีก 27 ล้านบาท โดยขอให้อธิบายลักษณะรายการมูลหนี้ จำนวนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิต คู่สัญญา และแนวทางดำเนินการเพื่อให้ได้รับชำระหนี้คืน
บริษัทขอชี้แจงดังนี้
1. จำนวนเงิน 17.37 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับชดใช้ค่าความเสียหายเกินไปกว่าที่ศาลฎีกาพิพากษา แต่ทางโจทก์ไม่นำเงินที่ได้รับเกินไปมาคืนให้กับบริษัท
กล่าวคือ บริษัท ถูกอายัดเงินโดยกรมบังคับคดีจากการที่บริษัทถูกฟ้องร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายเกี่ยวกับการผิดสัญญาจ้างทำของ โดยศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้บริษัทชดใช้ค่าความเสียหายพร้อมอัตราดอกเบี้ย และกรมบังคับคดีได้มีการจ่ายเงินให้โจทก์ออกไปตามคำพิพากษา ณ เวลานั้น
แต่ต่อมาบริษัทได้ยื่นสู้คดีต่อศาลฎีกา และสุดท้ายศาลฎีกาให้บริษัทจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายให้กับโจทก์ ด้วยจำนวนเงินที่น้อยกว่าที่ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์พิพากษาก่อนหน้า
แนวทางดำเนินการคือ ทางบริษัทได้มีการปรึกษาฝ่ายกฎหมายที่ดูแลคดีถึงประเด็นดังกล่าว ว่าเข้าข่ายเป็นคดีอาญาฐานโกงเจ้าหนี้หรือไม่ เพื่อหาช่องทางดำเนินคดีอาญาเพิ่มเติมปัจจุบันบริษัทได้ดำเนินการเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการสอบสวน
2. จำนวนเงิน 9.18 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้าตามสัญญาเพื่อการจัดงานคอนเสิร์ตของบริษัทย่อย
แนวทางดำเนินการคือ บริษัทอยู่ระหว่างหารือที่ปรึกษากฎหมาย และได้มีการดำเนินคดีกับทางบริษัทคู่สัญญา ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของศาลสืบพยานจำเลย
2. การปรับลดมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนใน HEALTH 852 ล้านบาท คิดเป็น 77% ของราคาทุน
ตามหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 11.1 และ 11.2 เมื่อเดือนธันวาคม 2564 บริษัทได้รับจัดสรรหุ้น บริษัท เฮลท์ เอ็มไพร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (HEALTH) สัดส่วน 36% ซึ่งเป็นการรับชำระค่าตอบแทนการขายหุ้นบริษัท เมดิเวล จำกัด (MW) ให้แก่ HEALTH และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 บริษัทได้มาซึ่งใบสำคัญแสดงสิทธิ HEALTH-W2 โดยบันทึกเงินลงทุนในหุ้นสามัญ และใบสำคัญแสดงสิทธิที่ราคาทุน 1,102 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีการปรับลดมูลค่ายุติธรรม 852 ล้านบาท คิดเป็น 77% ของราคาทุน ทั้งนี้ถึงแม้บริษัทจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน HEALTH แต่บริษัทไม่ได้ส่งกรรมการตัวแทนเข้าบริหารงานตามสัดส่วนการถือหุ้น โดยคณะกรรมการตรวจสอบได้เคยให้เหตุผลว่าเชื่อมั่นในทีมผู้บริหาร และแนวโน้มธุรกิจในอนาคตของ HEALTH ประกอบกับบริษัทมีนโยบายการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นไปทางสาธารณูปโภคเป็นหลัก
นอกจากนี้บริษัทได้กำหนดนโยบายลดสัดส่วนการถือหุ้น HEALTH ให้ต่ำกว่า 20% เพื่อมิให้จัดประเภทเงินลงทุน HEALTH ว่าเป็นบริษัทร่วม อย่างไรก็ตาม ยังไม่ปรากฏความคืบหน้าในการดำเนินการ
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม ดังนี้
2.1 ภายหลังจากที่มูลค่ายุติธรรมของ HEALTH ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ บริษัทมีแผนที่จะส่งตัวแทนเข้าเป็นกรรมการเพื่อกำกับดูแลกิจการ และรักษาผลประโยชน์ของบริษัทในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่หรือไม่ อย่างไร
2.2 ความเห็นของคณะกรรมการบริษัทต่อการดำเนินการตามข้อ 2.1 ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทและผู้ถือหุ้นแล้วหรือไม่ อย่างไร
บริษัทขอชี้แจงดังนี้
บริษัท ไม่มีแผนที่จะส่งตัวแทนเข้าเป็นกรรมการแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นข้อตกลงและเงื่อนไขในการทำสัญญาซื้อขายหุ้น และข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายหุ้นสามัญของ MMD (“ธุรกรรมการจำหน่ายเงินลงทุน”) อีกทั้งการประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 1/2566 ได้มีวาระการทบทวนนโยบายเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นสามัญของ HEALTH โดยมีมติให้ลดสัดส่วนการถือหุ้น HEALTH ลงให้ต่ำกว่าร้อยละ 20 (เพื่อมิให้จัดประเภทของเงินลงทุน HEALTH ว่าเป็นบริษัทร่วม) ปัจจุบันฝ่ายบริหารอยู่ระหว่างการเจรจากับนักลงทุนเรื่องปริมาณ และราคาจำหน่ายที่ดีที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของบริษัทและของผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ
3. การรับชำระหนี้เป็นแร่ไพโรลูไซต์จากบริษัท เมย์พลัส 2005 จำกัด แทนเงินสด มูลค่า 20 ล้านบาท
ตามหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 23.1 ในเดือนกรกฎาคม 2563 บริษัทได้วางหลักประกันค่าแร่ไพโรลูไซต์ให้แก่ บริษัท เมย์พลัส 2005 จำกัด (เมย์พลัส) 20 ล้านบาท ต่อมาบริษัทได้ฟ้องร้องเมย์พลัส เนื่องจากผิดสัญญาจะซื้อจะขายแร่กรองน้ำไพโรลูไซต์
ทั้งนี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2566 บริษัทและเมย์พลัสตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยเมย์พลัสยอมชดใช้เงินคืนให้แก่บริษัท 20 ล้านบาท ซึ่งบริษัทขอรับชำระเป็นแร่แทนภายในวันที่ 31 มกราคม 2567 หรือหากติดขัดให้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรและส่งมอบแร่ไม่เกินวันที่15 เมษายน 2567
อย่างไรก็ตาม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 บริษัทยังคงไม่ได้รับมอบแร่หรือเอกสารแจ้งจากเมย์พลัส
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ชี้แจงความคืบหน้าในการรับมอบแร่และการดำเนินการอื่นใด หากเมย์พลัสยังไม่สามารถส่งมอบแร่ให้บริษัทได้ตามที่กำหนด ทั้งนี้ ขอให้บริษัทรายงานความคืบหน้าการรับชำระหนี้ตามข้อ 1 และ 3 ทุกไตรมาสพร้อมการนำส่งงบการเงินจนกว่าจะได้รับชำระครบทั้งจำนวน
บริษัทขอชี้แจง และแก้ไขใจความสำคัญ ดังนี้
ขอแก้ไข “บริษัทและเมย์พลัสตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยเมย์พลัสยอมชดใช้เงินคืนให้แก่บริษัท 20 ล้านบาท ซึ่งบริษัทขอรับชำระเป็นแร่แทนภายในวันที่ 31 มกราคม 2567”
ที่ถูกต้อง “บริษัทและเมย์พลัสตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยเมย์พลัสยอมชดใช้เงินคืนให้แก่บริษัท 20 ล้านบาท ซึ่งบริษัทยอมรับชำระเป็นแร่แทนภายในวันที่ 31 มกราคม 2567”
ปัจจุบันทางบริษัทได้รับเอกสารจากคู่สัญญาให้ดำเนินการตรวจสอบและส่งมอบแร่ไพโรลูไซต์ร่วมกันภายในวันที่ 15 เมษายน 2567 แต่เนื่องจากวันที่ 11-16 เมษายน 2567 เป็นวันหยุดต่อเนื่องในเทศกาลวันสงกรานต์ บริษัท จึงทำหนังสือขอเลื่อนการตรวจสอบและรับ-ส่งมอบแร่ไพโรลูไซต์ เป็นวันที่ 23 เมษายน 2567
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์