ตลท. ย้ำหุ้นไทยดิ่งแรง ตามตลาดหุ้นทั่วโลก กังวลสงครามตะวันออกกลางบานปลาย
ตลท. ชี้หุ้นไทยปิดตลาดวันนี้ ดิ่งเกือบ 30 จุด เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นทั่วโลก ตลาดกังวลสถานการณ์ตะวันออกกลางบานปลาย หลังอิสราเอลโต้ตอบอิหร่าน ดันราคาทองคำ - น้ำมัน เพิ่มขึ้น ผลทางตรงต่อ บจ.ไทยมีไม่มาก จับตาผลทางอ้อมหากยืดเยื้อ แนะเกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิด
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รายงานสถานการณ์การปรับตัวลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย ว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย ปรับตัวตามทิศทางเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก โดยในวันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2567 ปิดตลาดวันนี้ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ปรับลง 28.94 จุด หรือลดลง 2.13% จากวานนี้ มาอยู่ที่ระดับ 1,332.08 จุด
ถือเป็นการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันกับตลาดหลักทรัพย์ในเอเชีย และตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในตะวันออกกลางจะบานปลาย หลังจากอิสราเอลได้โต้ตอบอิหร่าน ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ราคาทองคำ และน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น
หากพิจารณาตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2567 ถึงสิ้นวันนี้ ณ 17.00 GMT+7 พบว่า
ดัชนี VNINDEX ของเวียดนามลดลง 6.6%
ดัชนี NIKKEI ของญี่ปุ่นลดลง 6.0%
ดัชนี TWSE ของไต้หวันลดลง 5.9%
ดัชนี Hang Seng ของฮ่องกงลดลง 5.1%
ดัชนี SET Index ของไทยลดลง 4.6%
ดัชนี KOSPI ของเกาหลีใต้ลดลง 4.3%
ดัชนี PCOMP ของฟิลิปปินส์ลดลง 3.5%
ดัชนี JCI ของอินโดนีเซียลดลง 2.7%
ดัชนี NIFTY ของอินเดียลดลง 2.7%
ดัชนี STI ของสิงคโปร์ลดลง 1.6%
ดัชนี FBMKLCI ของมาเลเซีย ลดลง 0.4%
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวลงตามตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ เนื่องจากความขัดแย้งรอบนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์ไทยปิดทำการ ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาครับทราบข่าวไปแล้ว
ดังนั้น เมื่อตลาดหลักทรัพย์เปิดซื้อขายหลังวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ จึงรับรู้ข่าว และปรับลดลงในทิศทางเดียวกันกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ประกอบกับยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยปรับตัวลดลง อาทิ การกำหนดวันจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ เป็นต้น
ทั้งนี้ ผลกระทบทางตรงต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยมีไม่มาก โดยจากฐานข้อมูลการลงทุนและรายได้จากต่างประเทศ ของฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่รวบรวมจากแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปีและรายงานประจำปี (56-1 One Report) และจากหมายเหตุประกอบงบการเงิน ประจำปี 2565 พบว่า มีเพียงบริษัทเดียวที่มีการเปิดเผยข้อมูลว่ามีบริษัทย่อยในอิสราเอล และบริษัทย่อยแห่งนี้มีรายได้ 1.5 หมื่นล้านบาท หรือ ประมาณ 0.26% ของรายได้จากต่างประเทศรวมของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยที่การเปิดเผยข้อมูลในปี 2565
และจากฐานข้อมูลการถือครองหุ้นรายสัญชาติชุดล่าสุด ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า นักลงทุนอิสราเอล และนักลงทุนอิหร่านมีมูลค่าการถือครองหุ้นรวมกันในตลาดหุ้นไทยเพียง 141 ล้านบาท (อิสราเอล 117 ล้านบาท และอิหร่าน 24 ล้านบาท) ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ตลาดหุ้นไทยมีส่วนเกี่ยวข้อง (Exposure) กับทั้ง 2 ประเทศนี้ค่อนข้างต่ำ สอดคล้องกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่คาดว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และอิหร่านจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่มากนักหากไม่ขยายวงกว้าง
ผลกระทบทางอ้อมต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยอาจเกิดขึ้นจากความยืดเยื้อของความขัดแย้งระหว่างสองประเทศที่ส่งผ่านห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) อาทิ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมัน ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงราคาวัตถุดิบ ต้นทุนการขนส่ง เป็นต้น และความผันผวนในตลาดหุ้นไทยจากความกังวลของนักลงทุน
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ผู้ลงทุนติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ วิเคราะห์รอบด้าน และใช้วิจารณญาณในการพิจารณาซื้อขายให้เหมาะสมกับสถานการณ์
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์