โบรก แนะ‘เลี่ยง'หุ้นไฟแนนซ์เล็ก ชี้ศักยภาพชำระหนี้ลด เสี่ยงตั้งสำรองพุ่ง

โบรก แนะ‘เลี่ยง'หุ้นไฟแนนซ์เล็ก ชี้ศักยภาพชำระหนี้ลด เสี่ยงตั้งสำรองพุ่ง

“กลุ่มไฟแนนซ์” กำลังเผชิญปัญหา“หนี้ครัวเรือน” พุ่ง กระทบความสามารถ “ชำระหนี้” ลดลง "บล.กสิกรไทย" แนะเลี่ยง “หุ้นไฟแนนซ์เล็ก” เหตุแบกฐานลูกค้าต่างจังหวัดสูง เสี่ยงตั้งสำรองเพิ่ม “บล.ฟินันเซีย ไซรัส” ชี้ผลงานไม่ค่อยดี “เฮงลิสซิ่ง” รับศก.ชะลอ ฉุดลูกค้าชำระหนี้ลด

จากปัญหา “หนี้ครัวเรือน” ของไทยอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ 90.03% หรือคิดเป็น 16.3 ล้านล้านบาท ซึ่งหนึ่งในปัจจัยหลักคือการกู้ยืมมาเพื่อชดเชยสภาพคล่องที่เหือดแห้งลง ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว ดังนั้น ธุรกิจที่กำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว คงต้องยกให้ “ธุรกิจไฟแนนซ์” ยิ่งเฉพาะกลุ่มธุรกิจไแนนซ์ขนาดเล็ก 

นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย กล่าวว่า ธุรกิจไฟแนนซ์ที่มีขนาดใหญ่ สาขาครอบคลุมทั้งประเทศอย่าง บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) และ บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR) เริ่มควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ได้แล้วในไตรมาส 1 ปี 2567 สำหรับ MTC มี NPL ลดลง และ Stage 2 ลดลงได้ ขณะที่ในส่วนของ TIDLOR เห็นสำรองเริ่มลงมาอยู่ในกรอบของผู้บริหารได้แล้ว

โบรก แนะ‘เลี่ยง\'หุ้นไฟแนนซ์เล็ก ชี้ศักยภาพชำระหนี้ลด เสี่ยงตั้งสำรองพุ่ง

ดังนั้น ฝ่ายวิจัยฯ มองหุ้นไฟแนนซ์ขนาดใหญ่ ยังมีผลการดำเนินงานเติบโตได้ในไตรมาส 2 นี้ ต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ปี 2567 ทั้งจากสินเชื่อที่โตขึ้นต่อเนื่อง NIM ที่เริ่มทรงตัว และการตั้งสำรองที่น่าจะลดลงได้

ส่วนธุรกิจไฟแนนซ์ขนาดเล็ก กลับเริ่มมีสัญญาณกำไรไม่ค่อยดี เนื่องจากคาดมาจากการบริหารจัดการกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่กระจายตัว (diversified) เท่ารายใหญ่ จึงอาจจะเจอผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า เพราะว่าธุรกิจไฟแนนซ์ขนาดเล็กยังเห็นผลกระทบจาก หนี้ครัวเรือนที่สูงมากกว่า เพราะสัดส่วนลูกค้าส่วนใหญ่ในพอร์ต เป็นลูกค้าต่างจังหวัดค่อนข้างมาก

ดังนั้น แนะนำกลยุทธ์ลงทุนหุ้นไฟแนนซ์ ในบางตัวที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ บริหารจัดการพอร์ตลูกค้าได้ดี โดยหากถือหุ้นไฟแนนซ์รายเล็กก็สามารถสลับกลุ่มมาที่หุ้นไฟแนนซ์รายใหญ่

 

 

นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า หากดูในหุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ธุรกิจขนาดเล็กผลงานส่วนใหญ่มักออกมาไม่ค่อยดีมากนักโดยแนะนำนักลงทุนหากจะเข้าไปลงทุนควรเลือกเป็นหุ้น TIDLOR และ MTC จะค่อนข้างดีกว่า ที่เหลือแนะนำชะลอการลงทุนทั้งหมด

สะท้อนผ่าน หุ้น HENG ประกาศผลกำไรออกมาค่อนข้างแย่ ซึ่งกำไรลดลงมาจากปีที่แล้ว 100 กว่าล้านบาท เหลือประมาณ 22-23 ล้านบาท ในไตรมาส 1 ปี 2567 โดยเป็นผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น จํานวน 212.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน จํานวน 136.9 ล้านบาท หรือคิดเป็น 182.0% 

รวมทั้ง ขาดทุนจากการด้อยค่า และจําหน่ายสินทรัพย์ จํานวน 68.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน จํานวน 23.7 ล้านบาท หรือคิดเป็น 52.9% และค่าใช้จ่ายทางการเงิน จํานวน 139.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน จํานวน 54.5 ล้านบาท หรือคิดเป็น 64.5%

นายวิชัย ศุภสาธิตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล หรือ HENG เปิดเผยว่า ยอมรับได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่เติบโตไม่เต็มศักยภาพ จากปัจจัยอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวระดับสูง และอัตราเงินเฟ้อที่กระทบค่าครองชีพของประชาชน 

ดังนั้น บริษัทมุ่งเพิ่มความเข้มงวดการพิจารณาปล่อยสินเชื่อเพื่อบริหารพอร์ตให้มีคุณภาพ และมุ่งให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าเปราะบางที่มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ตามกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นผลให้พอร์ตสินเชื่อรวมในไตรมาส 1 ปี 2567 อยู่ในระดับที่ทรงตัว 

โดยมีรายได้รวม 769 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 23 ล้านบาท ชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการตั้งสำรองลูกหนี้สินเชื่อส่วนเพิ่ม สูงขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม หนี้สงสัยจะสูญ (NPLs) ได้เร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4% ของพอร์ตสินเชื่อรวม จากเดิมที่อยู่ 3.7% ประเมินยังอยู่ในภาวะที่บริหารจัดการให้ปรับตัวลดลงได้ โดยมุ่งโฟกัสลูกค้าที่มีศักยภาพในการชำระหนี้

“ด้วยบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ไม่คึกคักส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าไตรมาสนี้ลดลง เราจึงมุ่งโฟกัสคุณภาพพอร์ตสินเชื่อให้มีคุณภาพมากกว่าปล่อยสินเชื่อใหม่ ๆ ประเมินว่าทิศทางจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง”