เช็กไฟลท์! 3 หุ้นสายการบิน Q 1/67 Take off แค่ไหน หลังรัฐบาลดันท่องเที่ยวสุดตัว
เช็กไฟลท์! 3 หุ้นสายการบิน Q 1/67 Take off แค่ไหน หลังรัฐบาลดันท่องเที่ยวสุดตัว หุ้น BA มีกำไร 1,880 ล้านบาท ด้าน THAI มีกำไร 2,423 ล้านบาท ขณะที่ AAV -409 ล้านบาท
ธุรกิจสายการบิน 3 บริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นไทย ได้แก่ บมจ.การบินไทย หรือ THAI, บมจ.บางกอกแอร์เวย์ส หรือ BA และ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น หรือ AAV ซึ่งผลการดำเนินงานของทั้ง 3 สายการบินมีการขยับตัวอย่างมีนัยยะสำคัญ หลังจากรัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน และกระจายรายได้ให้กับประชาชนเป็นสำคัญ
กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ในช่วงที่ผ่านมาสายการบินมีทิศทางผลประกอบการมีการฟื้นตัวดีขึ้น แต่อาจจะมีการฟื้่นตัวที่แตกต่างกันออกไปในหุ้นละตัว อย่างเช่น BA มีการฟื้นตัวค่อนข้างดี หรือว่าเป็นบวก ขณะที่ AAV อาจจะฟื้นตัวดีไม่เท่ากับ BA ส่วน THAI กำลังอยู่ในการฟื้นฟู แต่ก็มีการฟื้นตัวด้วยเช่นกัน
โดยหลัก ๆ การฟื้นตัวของสายการบินเป็นไปตามนักท่องเที่ยวที่ไตรมาส 1/67 เติบโตขึ้นประมาณ 38% แต่ระดับการฟื้นตัวของสายการบินที่เติบโตได้ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับว่า แต่ละสายการบินโฟกัสไปที่เส้นทางใด ซึ่ง BA มีความน่าสนใจ เนื่องจากมีสนามบินสมุย และสมุยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาค่อนข้างมาก จนกระทั่งปัจจุบันสามารถแซง Pre-Covid ไปแล้ว ในขณะที่ AAV เป็นเที่ยวบินทั่วประเทศไทย แต่โดยภาพรวมแล้ว BA ค่อนข้างฟื้นตัวดีกว่า
ส่วน THAI ที่ผ่านมาเริ่มเห็นผลดีในการปรับกลยุทธในการลดหรือหยุดในเส้นทางที่ขาดทุน และเหลือเฉพาะเส้นทางที่ทำกำไร จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่เป็นอัตราการให้บริการเริ่มดีขึ้น จนกระทั่งกลับมามีกำไร
สำหรับทิศทางครึ่งปีหลังมองว่า กลุ่มสายการบินยังคงดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญมาจากการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้หลัก ๆ จะเป็นประเทศจีน ในขณะที่ปีที่แล้วเป็นประเทศมาเลเซีย แต่เป็นการเดินทาง ๆ รถยนต์มากกว่าสายการบิน
ขณะที่ในปีหน้าอาจจะสายการบินใหม่ ๆ เข้ามาแข่งขัน หรือสายการบินในภูมิภาคอาจจะมีการเพิ่มเที่ยวบินได้ หรืออาจจะมีการเช่าเหมาลำจากนักเที่ยวจีนมายังประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลให้ราคามีความท้าทายมากกว่าปีนี้
นอกจากนี้ในส่วนของทิศทางของน้ำมันดิบมีการปรับเพิ่มที่ไม่ได้รุนแรง เมื่อเทียบกับช่วงโควิดใหม่ ๆ ในสถานการณ์สงครามรัสเซีย ยูเครน ฉะนั้นเมื่อราคาน้ำมันดิบไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาก ความเสี่ยงของการบริหารต้นทุนเชื้อเพลิงก็จะไม่มาก รวมไปถึงสิ่งที่นักลงทุนมองว่า หุ้นกลุ่มสายการบินยังคงมีอัพไซด์ โดยมองภาพรวมในปีนี้และปีหน้าของธุรกิจสายการบินมองว่า มีปัจจัยบวกมากว่าปัจจัยลบ
อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล. ทิสโก้ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลังจากที่กลุ่มสายการบินประกาศผลการดำเนินงานในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 ถือว่าดีกว่าคาด โดยเฉพาะ หุ้น BA ถือว่าดีที่สุด เนื่องจากมีการผูกขาดสนามบินสมุย และสามารถทำให้มีการปรับขึ้นราคาค่าตั๋วได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของต้นทุนต้องมีการจับตาอยู่ด้วยเช่นกัน หลัก ๆ มาจากราคาน้ำมัน ซึ่งก่อนหน้านี้มีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ แม้ขณะนี้จะเริ่มคลี่คลายลง
ทั้งนี้แนวโน้มของหุ้นกลุ่มสายการบิน บริษัทฯ ยังชอบทั้ง 2 หลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็น BA และ AAV ซึ่งย้งได้ประโยชน์ในเรื่องของนักท่องเที่ยวที่มีการฟื้นตัวขึ้นมาได้
ขณะที่หุ้น THAI มองว่า น่าจะได้รับอานิสงส์เช่นกัน ปัจจุบันเห็นว่าเริ่มมีกำไรปรับเพิ่มขึ้นมา แต่ก็ต้องดูแผนว่า จะมีการลงทุนซื้อเครื่องบินลำใหม่อย่างไรหรือไม่
ทั้งนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้รวบรวมผลการดำเนินงานไตรมาส 1/67 ของหุ้นสายการบินทั้ง 3 หลักทรัพย์ว่ามีการฟื้นตัวแค่ไหน หลังรัฐบาลกระตุ้นท่องเที่ยว
บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2567 บริษัทฯ มีรายได้รวม 7,828.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.3% จากการเติบโตของธุรกิจสายการบินและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบินเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนรายได้ 73.4% และ 16.8% ของรายได้รวมตามลำดับ
ทั้งนี้ มีกำไรจากการดำเนินงาน 2,390.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,160.0 ล้านบาท หรือ 94.2% ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากบัตรโดยสารของธุรกิจการบิน ซึ่งเพิ่มสูงขึ้น 39.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน เพิ่มขึ้น 30.3%
ในขณะที่บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายรวม 5,358.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.9% จากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนขายและบริการ อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าซ่อมบำรุงรักษาเครื่องบินและค่าบริการผู้โดยสาร
ส่วนผลกำไรสุทธิสำหรับงวด 1,879.5 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้น 1,000.1 ล้านบาท หรือ 113.7% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 โดยมีผลกำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ 1,873.2 ล้านบาท และมีผลกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 0.89 บาท ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 บริษัทยังมีผลกำไรที่เติบโตขึ้น 267.95% ซึ่งในปีดังกล่าวมีกำไรอยู่ที่ 510.8 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการเติบโตในด้านจำนวนผู้โดยสารที่ขนส่ง รวมทั้งสิ้น 1.3 ล้านคน ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 17.1 จากปี 2566 และฟื้นตัวได้ร้อยละ 75.6 จากช่วงก่อนการระบาดโรคโควิด-19 ในปี 2562 โดยวางเป้าผู้โดยสารตลอดปี 2567 ที่ 4.5 ล้านคน และรายได้ผู้โดยสาร 17,800 ล้านบาท
บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV มีกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 1,640.3 ล้านบาท พลิกจากขาดทุน 203.2 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนตัวเลขรายงานยังมีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 409.1 ล้านบาท เหตุจากขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอ่อนค่าทางบัญชี จำนวน 2,049.4 ล้านบาท ซึ่งไม่กระทบกับกระเเสเงินสดของบริษัท
ส่วนบริษัทมีรายได้รวม 14,017.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้จากการขายและให้บริการอยู่ที่ 13,793.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย EBITDA เป็นบวกต่อเนื่อง อยู่ที่ 3,094.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 78% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
EBITDA อยู่ที่ 3,094.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 78% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนตามการฟื้นตัวของผลการดำเนินงาน ต้นทุนทางการเงินอยู่ที่ 630.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จากดอกเบี้ยตามหนี้สินสัญญาเช่า (TFRS 16) หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย และต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ บริษัทมีค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ที่ 127.7 ล้านบาท
ขณะที่ขนผู้โดยสารอยู่ที่ 5.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีฝูงบินรวมอยู่ที่ 56 ลำ โดยนำเครื่องบินมาปฏิบัติการบินแล้ว 50 ลำ และได้เปิดให้บริการเที่ยวบินใหม่ในไตรมาส คือ หาดใหญ่-สิงคโปร์ และดอนเมือง-เกาสง โดยภาพรวม ปริมาณที่นั่งกลับมาฟื้นตัวที่ร้อยละ 90 ปริมาณผู้โดยสารกลับมาที่ร้อยละ 93 เมื่อเทียบในช่วงเดียวกันก่อนโควิด
ปี 2567 ยังคงเป้าขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 20-21 ล้านคน อัตราขนส่งผู้โดยสารเฉลี่ยที่ร้อยละ 90 มีรายได้จากการขายและบริการ เติบโตร้อยละ 20-23 เมื่อเทียบกับปีก่อน พร้อมคงแผนขยายฝูงบินเป็น 60 ณ สิ้นปีนี้
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 2,423 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 10,100 ล้านบาท โดยเป็นกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 2,409,546 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.10 บาท ลดลงจากปีก่อน 4.63 บาทต่อหุ้น (80.8%) โดยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน รวมค่าเช่าเครื่องบินที่คำนวณจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hour) เป็นกำไรจำนวน 14,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน
มีรายได้รวม 45,955 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งมีรายได้รวม 41,507 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 34,880 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 6,407 ล้านบาท (22.5%) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 28,473 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิต และ/หรือปริมาณการขนส่งจำนวนเที่ยวบิน จุดบิน และผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น การอ่อนค่าของเงินบาท รวมทั้งอัตราค่าบริการภาคพื้นและราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายปรับตัวสูงขึ้นในภาพรวม ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 11,075 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 1,959 ล้านบาท (15.0%)
รายการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 5,372 ล้านบาท การด้อยค่าของเครื่องบิน และสินทรัพย์สิทธิการใช้ และอุปกรณ์การบินหมุนเวียน 3,338 ล้านบาท แต่มีรายการปรับปรุงรายได้บัตรโดยสารที่หมดอายุ4,136 ล้านบาท กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ 493 ล้านบาท
ในไตรมาสที่ 1 มีเครื่องบินที่ใช้ทําการบินทั้งสิ้น 73 ลํา โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 บริษัทฯ มีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบินเฉลี่ย 12.8 ชั่วโมง ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 83.5% ใกล้เคียงกับปีก่อน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม และมีจํานวนผู้โดยสารที่ทําการขนส่งรวมทั้งสิ้น 3.88 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.2%
โดยบริษัทฯ ยังคงคาดการณ์ว่าจะสามารถยื่นกลับซื้อขายหลักทรัพย์และออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้ตามเป้าหมายในปี 2568 ส่วนในปี 2567 บริษัทฯ ยังคงคาดการณ์ว่าจะสามารถทำรายได้รวมอยู่ 1.8 แสนล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการดำเนินงาน 1.6 แสนล้านบาท ส่วนอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (เคบิ้นแฟกเตอร์) คาดอยู่ในระดับ 75%