เปิดประวัติ "วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ" ผู้ต้องหาคดี STARK สู่ รพ.ตำรวจ
สรุปไทม์ไลน์ "วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ" กับ STARK : ปี 62 แบ็กดอร์ SMM แปลงร่างธุรกิจ, ปี 64-65 งบขาดทุนแต่บันทึกกำไร, ปี 66 พิรุธผุด บานปลายสู่หนี้หุ้นกู้ และโดนร้องทุจริต, ก.พ. 67 ตกเป็นผู้ต้องหาต้องเข้าเรือนจำแต่แจ้งป่วย และ เม.ย. 67 เหตุอาการไม่ดีย้ายไปรักษาโรงพยาบาลตำรวจ
นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ เป็นนักธุรกิจคนดังที่ตกเป็นจำเลยคดีทุจริตระดับประวัติศาสตร์มูลค่าความเสียหายที่อาจใกล้เคียงแสนล้านบาท และล่าสุดนักธุรกิจผู้นี้กลายเป็นที่สนใจจากมวลชนอีกครั้งหลังได้รับการยืนยันว่า กรมราชทัณฑ์ได้ย้ายการควบคุมตัวจากเรือนจำไปสู่การรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ
ประวัติ วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ
ประวัติโดยคร่าว นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ เป็นบุตรชายคนโตในครอบครัวธุรกิจสีเพื่อการก่อสร้างและตกแต่ง การศึกษาสูงระดับปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และต่อมาได้เป็นผู้บริหารระดับสูงในธุรกิจของครอบครัว พร้อมมีการทำธุรกิจส่วนตัวเองด้วย กระทั่งปี 2561 จะเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ในฐานะผู้ก่อตั้ง (ขณะนั้นกิจการยังไม่ได้ชื่อว่า STARK)
จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่าง STARK กับ "วนรัชต์" จำเป็นต้องโยงถึง นายชนินทร์ เย็นสุดใจ ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงในวงการตลาดทุนจากการร่วมทำงานดีล บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ในช่วงที่มีการปรับโครงสร้างซื้อกิจการครั้งใหญ่ราวปี 2554 อีกทั้ง "ชนินทร์ เย็นสุดใจ" ยังได้รับความไว้วางใจจากครอบครัว "ตั้งคารวคุณ" ให้เข้ามาดูแลและเป็นที่ปรึกษากิจการครอบครัวด้วย
จึงเป็นเหตุให้ "วนรัชต์" ดึง "ชนินทร์" เข้ามาร่วมธุรกิจ พร้อมให้ออกหน้าดำเนินการติดต่อเจรจาเข้าซื้อหุ้นกิจการในตลาดหุ้นไทย ชื่อ บริษัท สยามอินเตอร์ มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ SMM นับแต่ปี 2562 โดยฝั่งนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ เป็นผู้สนับสนุนเงินลงทุนในดีลนี้อย่างเปิดเผย (มีการเข้าเริ่มซื้อหุ้นตั้งแต่ปี 2561 แล้ว)
มีการปรับโครงสร้าง SMM ซึ่งเคยประกอบธุรกิจผลิตสื่อ และกลายมาเป็น STARK ตั้งแต่ 22 ก.ค. 2562 มีแกนธุรกิจหลักประกอบการผลิตและจำหน่ายสายไฟฟ้ารายใหญ่
หลังจากนั้นชื่อ "วนรัชต์" มีบทบาทเป็นประธานกรรมการบริหาร และผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ใน STARK กระทั่งหลังกลางปี 2565 เริ่มมีสัญญาณดีลธุรกิจในต่างประเทศที่ยืดเยื้อกว่าแผนกำหนดการที่เคยประกาศ ต่อมาในปีเดียวกันเริ่มมีการชำระดอกเบี้ยธุรกิจล่าช้าบ้าง
กระทั่งช่วงรอยต่อปีปลายปี 2565 ถึงต้นปี 2566 เกิดประเด็นข้อสงสัยจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงงบการเงิน จนภายหลังมีการแก้ไขตัวเลขกำไรย้อนหลังปี 2564 และ 2565 กลายเป็นพลิกมาขาดทุนจำนวนมากระดับหมื่นล้านบาท และหลังจากนั้นก็ยังไม่มีการส่งงบการเงินประจำปีถัดมาที่ได้รับการรับรอง
ระหว่างช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะปี 2566 มีการทยอยลาออกของผู้บริหารระดับสูง STARK ทำให้ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ และแม้จะลาออกจากประธานกรรมการบริหารแล้ว แต่ต้องเข้าไปรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ทว่าความเสียหายด้านความเชื่อมั่นที่เกิดขึ้นแล้วโยงพัวพันไปยังหนี้สินหุ้นกู้ที่ต้องชำระต่อสถาบันการเงินต่างๆ ส่งต่อผลกระทบสู่นักลงทุนรายย่อยที่ซื้อหุ้นกู้เหล่านั้นด้วย
เมื่อ STARK มิอาจหาแหล่งเงินทุนมาดำเนินธุรกิจต่อได้ ทำให้ผู้เสียหายฟ้องร้องคดีฉ้อโกงประชาชนผ่านการเสนอขายหุ้นกู้
20 มิ.ย. 2566 กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ รับเรื่องการร้องเรียนทุจริต STARK ฐานฉ้อโกงประชาชนเป็นคดีพิเศษเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2566 (คดีพิเศษที่ 57/2566) มีผู้เสียหายทั้งสิ้นจำนวน 4,704 ราย มูลค่าความเสียหาย 14,778 ล้านบาท โดย "วนรัชต์" เป็น 1 ในผู้ต้องหาหลัก ข้อหาร่วมกับพวกหลอกลวงประชาชนให้ลงทุนซื้อหุ้นกู้ โดยเสนอผลตอบแทนสูง แต่สุดท้ายผิดนัดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย
สำหรับความเสียหายอื่นแม้ไม่สามารถประเมินเป็นทางการได้ แต่ในแง่การลงทุนผ่านตลาดหุ้น มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหุ้น STARK เคยสูงสุดรวมมูลค่า 73,733 ล้านบาท ด้วยราคาต่อหุ้น 5.50 บาท ทว่าปิดล่าสุดเหลือ 0.02 บาท อีกทั้งหุ้นโดนห้ามซื้อขายบนกระดานตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว อีกความเสียหายคือคู่ค้าทั่วโลกและพันมิตรได้รับผลกระทบเชิงลบจากการร่วมประกอบธุรกิจ
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนี้ 6 ก.ค. 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งยึดอายัดทรัพย์ผู้บริหาร STARK รวม 10 รายซึ่งรวมถึง "วนรัชต์" ด้วย อีกทั้งห้ามออกนอกประเทศ มีกำหนด 15 วัน สอดคล้องกับที่เดือนเดียวกันนี้ศาลอาญาอนุญาตให้ยึดอายัดทรัพย์สิน
8 ธ.ค. 2566 ทาง ดีเอสไอ เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินการในคดีพิเศษที่ 57/2566 ว่า คณะพนักงานสอบสวนมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นควรส่งพนักงานอัยการทำความเห็น ควรสั่งฟ้อง ผู้ต้องหาจำนวน 11 ราย
แม้ต่อมาศาลอาญาประทับรับฟ้องคดีทุจริตหุ้น STARK ไปแล้วแต่ด้วยกระบวนการรวบรวมข้อมูล นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ จึงยังไม่มีชื่อถูกฟ้องในรอบแรก แต่ได้มีการนัดผู้ต้องหาเข้ามาฟังคำสั่งในคดีทุจริต ที่สำนักงานอัยการคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 ตามนัดวันที่ 9 ก.พ. 2567
ทว่ากลับไม่มีการเข้ามาตามนัด และในวันเดียวกัน มีรายงานว่า "วนรัชต์" ได้ประสานผ่านทนายความขอเลื่อนเข้าพบพนักงานอัยการฯ เนื่องจากมีอาการเจ็บป่วยกะทันหัน จึงเข้ารับการรักษาโรคหัวใจด้วยการทำบอลลูนหัวใจ
อย่างไรก็ตามสำนักงานอัยการคดีพิเศษ 1 จึงมีหนังสือด่วนที่สุดถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้จัดการให้ได้ตัวผู้ต้องหา ส่วนศาลอาญาได้ออกหมายจับ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ในคดีฉ้อโกงประชาชน กรณี STARK ซึ่งผู้ต้องหาไม่รายงานตัวเข้ารับทราบคำสั่งอัยการตามกำหนดนัด
กระทั่ง 10 ก.พ. 2567 เจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้เข้าควบคุมตัว "วนรัชต์" ขณะรักษาตัวได้ที่โรงพยาบาลกรุงเทพ และผู้ต้องหาได้ออกจากโรงพยาบาลเช้าวันที่ 12 ก.พ. 2567 มาที่สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อเข้ารับฟังคำสั่งฟ้องคดีทุจริต ขณะต่อมาทีมทนายความแจ้งขอประกันตัวแต่ได้รับการคัดค้าน
ส่วน "วนรัชต์" ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา พร้อมขอต่อสู้คดี ซึ่งหลังจากสอบคำให้การศาลอาญามีความเห็นให้นัดพยานหลักฐานวันที่ 10 มิ.ย. 2567 เวลา 13.30 น. ทำให้ระหว่างนี้จำเป็นต้องคุมตัวจำเลยไว้ส่งผลให้ใน 12 ก.พ. 2567 เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงนำตัวจำเลย ไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างพิจารณาคดี
ภายหลังกรมราชทัณฑ์ได้รับรายงานจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ แจ้งว่า ได้รับตัว ผู้ต้องหารายนี้จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2567 ด้วยอาการป่วยหลายโรค พบความผิดปกติเป็นก้อนเนื้ออักเสบในร่มผ้า ซึ่งได้ทำการรักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะอย่างต่อเนื่อง 14 วัน
22 เม.ย. 2567 แพทย์ของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ราชทัณฑ์วินิจฉัยแล้ว พบ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ มีอาการป่วยอัณฑะบวม ลักษณะมีก้อนที่บริเวณถุงอัณฑะที่ต้องทำการรักษา จึงนำตัวส่งโรงพยาบาลตำรวจ วันที่ 23 เม.ย. 2567 โดยให้เป็นผู้ป่วยใน
1 พ.ค. 2567 แพทย์โรงพยาบาลตำรวจดำเนินการผ่าตัดเพื่อทำการรักษา แต่เนื่องจากมีอาการติดเชื้อ จึงจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
และล่าสุดวานนี้ 21 พ.ค. 2567 ผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ ให้ข้อมูลยืนยันว่า นับตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. 2567 เป็นต้นไป ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์จะต้องมีการรายงานผลความคืบหน้าการรักษากลับมาทุก 30 วัน ส่วนกรณีกำหนดการส่งตัวกลับมายังทัณฑสถานขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ฝั่งโรงพยาบาลตำรวจ