ซินจ่าวเวียดนาม
ผมนึกถึงช่วงหนึ่งน่าจะ 25-30 ปีก่อน ที่คนไทยไปเมือง “เสิ่นเจิ้น” ของจีน เพื่อซื้อของ “ก็อป” คุณภาพดีราคาถูกมาก ในช่วงที่จีนกำลังกลายเป็น “โรงงานผลิตของโลก” ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่ Confirm ว่าเวียดนามกำลังจะกลายเป็น “โรงงานของโลก” อีกแห่งหนึ่ง
ผมเพิ่งกลับจากการเดินทางไปเยือนเมืองโฮจิมิน 2 วัน หลังจากที่ไปครั้งสุดท้ายเมื่อปลายปี 2560 หรือประมาณ 6-7 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากที่ผมไม่ได้ “สัมผัส” กับ “บรรยากาศ” ของประเทศเวียดนามที่ผมมั่นใจว่ากำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเห็นได้จากตัวเลขทางเศรษฐกิจและข่าวสารต่าง ๆ ที่ออกมาตลอดเวลาไม่ต้องพูดถึงราคาและดัชนีตลาดหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะ 2-3 ปีหลังนี้
การไป “เห็นกับตา” และได้เยี่ยมเยียนร้านค้า บ้านเมือง และธุรกิจ รวมถึงการได้คุยกับ “คนเวียดนาม” ที่หลากหลายนั้น จะ Confirm หรือยืนยันว่าสิ่งที่ผมคิดในเรื่องต่าง ๆ ของเวียดนามนั้นเป็นจริงหรือไม่ และอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไปด้วยความเชื่อมั่นที่สูง ทั้งหมดนั้นจะช่วยให้ผมสามารถ “ลงทุนระยะยาว” ในธุรกิจและบริษัทที่จะเป็น “ซุปเปอร์สต็อก” ได้อย่างมั่นใจและสบายใจขึ้น
รายการแรกที่ผมทำเมื่อเดินทางถึงที่พักทันทีก็คือการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวชื่อดังของเวียดนามถึงเรื่องของการลงทุนของผมในเวียดนามและมุมมองต่าง ๆ เกี่ยวกับตลาดหุ้นและบริษัทจดทะเบียน ความรู้สึกก็คือ
ขณะนี้การลงทุนในตลาดหุ้นเป็นกิจกรรมที่คนเวียดนามสนใจมาก ว่าที่จริงจำนวนนักลงทุนส่วนบุคคลในเวียดนามนั้นเกินกว่า 7 ล้านคน และน่าจะมากกว่าตัวเลขของตลาดหุ้นไทยแล้ว ปริมาณการซื้อขายของนักลงทุนรายย่อยต่อวันในช่วงเร็ว ๆ นี้ผมคิดว่าน่าจะมากกว่าตลาดหุ้นไทยแล้ว
ถ้าดูจากตัวเลขว่าปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันของไทยประกอบไปด้วยการเทรดของต่างชาติเป็นหลักในขณะที่ตลาดหุ้นเวียดนามนั้น เป็นนักลงทุนส่วนบุคคลน่าจะระดับ 80-90% ขึ้นไป
นั่นก็ทำให้ผมคิดว่า เมื่อถึงวันที่ตลาดหุ้นเวียดนามได้รับการปรับขึ้นเป็น “Emerging Market” เหมือนกับประเทศหลักอื่น ๆ ของอาเซียนซึ่งทำให้นักลงทุนสถาบันใหญ่ ๆ ของโลกสามารถเข้ามาลงทุนได้ ตลาดหุ้นเวียดนามจะคึกคักขึ้นมาอีกแค่ไหน และนั่นก็อาจจะกำลังเกิดขึ้นในอีกแค่ 2-3 ปี ข้างหน้า
ในฐานะของนักลงทุนแบบ “VI” ผมพยายามถามนักข่าวว่านักลงทุนของเวียดนามนั้นเป็น VI กันบ้างไหม? คำตอบดูเหมือนว่าคำ ๆ นี้ยังไม่แพร่หลายนัก อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการเล่นหุ้นกันเป็นก๊วน ๆ นั้นน่าจะมีมาก และแนวทางจะเป็นการเล่น “เก็งกำไร” เป็นหลัก และจากที่ผมเข้าใจก็คือ ในตลาดหุ้นเวียดนามนั้น มีการใช้มาร์จินที่สูงกว่าของไทย เช่น อาจจะได้ถึง 60-70% และในบางช่วงที่ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลง ก็จะลงแรงมากเนื่องจากการฟอร์สเซล
สรุปก็คือ ตลาดหุ้นเวียดนามตอนนี้อาจจะคล้าย ๆ กับช่วงที่ตลาดหุ้นไทยยังไม่มี “VI” และแนวทาง VI ที่แข็งแกร่งอย่างวันนี้ แต่มี “นักเก็งกำไร” ที่กำลังเข้ามาเล่นหุ้นในตลาดที่กำลังร้อนแรงตามภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตถึงจุดที่ทำให้บริษัทจดทะเบียนจำนวนมากเติบโตและทำกำไรมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่องในบริษัทขนาดกลางและใหญ่ ซึ่งส่งผลให้หุ้นกลุ่มนี้ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นขนาดกลางตั้งแต่ระดับ 30 ถึง 100 ของตลาดหุ้น ที่ทำผลงานการลงทุนได้โดดเด่นมาก ผมเองไม่รู้ว่าสุดท้ายตลาดหุ้นเวียดนามจะมี “ขบวนการ VI” แบบตลาดหุ้นไทยหรือไม่ และถ้ามี หุ้น “ซุปเปอร์สต็อก” ก็อาจจะกำเนิดขึ้นได้เร็วกว่าที่คิด
กลับมาที่สภาพของเมืองโฮจิมิน ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมานั้น สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือบนถนนหนทางที่เต็มไปด้วยมอเตอร์ไซด์ในระดับน่าจะ 90% ขึ้นไป ถึงวันนี้ผมประมาณว่ามีรถยนต์น่าจะพอ ๆ กับมอเตอร์ไซด์ที่ประมาณ 50-50 แล้ว
ในส่วนของบ้านเรือนนั้น คอนโดมิเนียมและตึกสูงผุดขึ้นมามากมายและราคาบ้านก็แพงขึ้นจนเหลือเชื่อ “เหมือนเดิม” และคนนอกที่เป็นชาวต่างชาติก็จะไม่มีวันเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนกินเงินเดือนนั้นจะมีเงินซื้อบ้านได้อย่างไร แต่บ้านก็ยังขายได้ในราคาที่แพงขึ้นเรื่อย ๆ ว่าที่จริงนี่ก็เหมือนเมืองไทยในช่วงที่ผมทำงานในบริษัทหลักทรัพย์ใหม่ ๆ และเพื่อนร่วมงานที่เป็นฝรั่งคุยกับผมว่าเขาไม่เข้าใจว่าคนไทยจะซื้อบ้านได้อย่างไรเมื่อคำนึงถึงอัตราเงินเดือนที่น้อยมากเทียบกับราคาบ้านในขณะนั้น
เมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว ผมจำได้ว่าภรรยาผมที่ไปด้วยกันมักชอบไปช็อบปิงซื้อของที่ระลึกที่ “ตลาดเบียนถัน” ซึ่งเป็นตลาดสดขนาดใหญ่กลางเมือง ของที่ซื้อก็เป็นแบบงานฝีมือ เสื้อผ้าและเครื่องประดับก็เป็นแนวแฟชั่นรุ่นเก่าบ่งบอกถึงวัฒนธรรมเวียดนาม
รอบนี้ผมไม่มีเวลาไปตลาดเบียนถันแต่ไปตลาดคล้าย ๆ กันใกล้โรงแรมที่พัก สินค้าที่ผมเห็นและคนไทยต่างก็ไปรุมซื้อกันนั้น เป็นแนวเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า และอื่น ๆ อีกมาก ที่เป็นของ “ก็อป” ยี่ห้อระดับโลก ที่มีคุณภาพเหมือนหรือใกล้เคียงมากกับ “ของจริง” แต่ราคาห่างกัน 10 เท่า นั่นทำให้ผมนึกถึงช่วงหนึ่งน่าจะ 25-30 ปีก่อน ที่คนไทยไปเมือง “เสิ่นเจิ้น” ของจีนเพื่อซื้อของ “ก็อป” คุณภาพดีราคาถูกมาก ในช่วงที่จีนกำลังกลายเป็น “โรงงานผลิตของโลก” ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่ Confirm ว่าเวียดนามกำลังจะกลายเป็น “โรงงานของโลก” อีกแห่งหนึ่ง
ผมมีโอกาสไปเมืองที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้หรือติดกับโฮจิมิน สิ่งที่เห็นก็คือ โรงงานที่ทันสมัยจำนวนมากกระจายกันไปเต็มเมือง และก็พบคอนโดมิเนียมที่อยู่อาศัยที่สร้างขึ้น พร้อม ๆ กับช็อบปิ้งมอลใหม่ ๆ ที่ออกแบบอย่างสวยงาม นี่คือเมืองสมัยใหม่ของเวียดนามที่จะโชว์ความเป็นสังคมที่ก้าวหน้าเทียบทันหรือเหนือกว่าประเทศพัฒนาแล้วที่มีอาคารและ/หรือสาธารณูปโภคที่เริ่ม “เก่าแล้ว” และไม่รู้จะสร้างใหม่เพื่ออะไรในเมื่อคนน้อยลงและเศรษฐกิจเริ่มโตช้าแล้ว นี่ก็น่าจะคล้าย ๆ กับจีนกระมังที่คนไปเห็นอาคาร ถนนหนทาง การสื่อสารที่ดูเหนือกว่าประเทศพัฒนาแล้วในตะวันตกมาก
ผมได้ไปเยี่ยมบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านเทคโนโลยีของเวียดนามคือ FPT โดยไปเยี่ยมแผนกงานที่ให้บริการทำระบบและเขียนโปรแกรมให้กับบริษัทชั้นนำระดับโลกโดยเฉพาะทางด้านของรถยนต์และการบินโดยเฉพาะที่ใช้เครื่องบินของบริษัทแอร์บัส ความรู้สึกก็คือ งานเหล่านี้มีความสำคัญในระดับโลกที่หาคนแทนได้ยาก ไม่ใช่เป็นบริษัทที่ทำเทคโนโลยีที่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ชั่วข้ามคืนเมื่อมีของใหม่ออกมาหรือเมื่อความนิยมหายไป แต่เป็นบริษัทที่เกาะไปกับบริษัทเทคโนโลยีของโลกโดยอาศัยจุดแข็งที่ว่าเวียดนามมีคนเขียนโปรแกรมจำนวนมหาศาลที่ค่าแรงถูกกว่าที่อื่นมากเมื่อเทียบกับศักยภาพของคน ดังนั้น บริษัทใหญ่ ๆ ของโลกต่างก็ต้องการใช้บริการ
และคนเวียดนามที่ทำงานกับ FPT เองจำนวนมากก็มาจากมหาวิทยาลัย FPT ที่มีสาขาทั่วประเทศและผลิตนักเขียนโปรแกรมปีละหลายหมื่นคน ซึ่งผมเองก็มีโอกาสเยี่ยมมหาวิทยาลัย FPT แห่งหนึ่งที่มีนักศึกษาประมาณหมื่นคน โดยไก้ด์ 2 คนที่มาต้อนรับนำชมเป็นเด็กที่เรียนอยู่ปี 2 และปี 4 ในคณะบริหารการตลาด ทั้ง 2 คนเป็นอาสาสมัครและถือว่าเป็นการทำกิจกรรมนักศึกษา VI ไทย 5-6 คนที่ไปเยี่ยมนั้นต่างก็ประทับใจในความสามารถโดยเฉพาะการพูดภาษาอังกฤษมาก โดยเฉพาะเขาเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเองผ่านยูทูบเป็นหลัก
เมื่อเราถามว่าจบการศึกษาแล้วเขาจะทำอะไร คำตอบก็คือ เขามี “ความฝัน” และเมื่อเราถามต่อ คำตอบหนึ่งก็คือการไปเรียนต่อต่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่ดูเหมือนว่าครอบครัวจะไม่รวย เขาก็คงจะหาทางไป อาจจะขอทุนอะไรแบบนั้น แต่นี่ก็คงตรงกับข้อมูลระดับสากลที่บอกว่านักศึกษาเวียตนามไปเรียนต่อต่างประเทศสูงที่สุดในอาเซียนและสูงกว่าอินโดนีเซียทั้ง ๆ ที่คนน้อยกว่ามาก และรายได้ต่อหัวของเวียดนามก็ยังต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศใหญ่ของอาเซียน
การไปเวียดนามครั้งนี้ ผมพบกับ “คนรุ่นใหม่” ที่อายุยังไม่มาก ซึ่งรวมถึงพนักงานที่มาต้อนรับและให้บริการหรือมาร่วมงาน ผมพบว่าพวกเขาต่างก็มี “ความฝัน” หรือมีความหวัง และทุ่มเทความพยายามเพื่อบรรลุสู่ความสำเร็จ อย่างน้อยสิ่งหนึ่งที่ประทับใจก็คือการพูดภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยที่ดีมากแม้ว่าแบ็คกราวไม่ได้เรียนมาทางภาษาโดยตรง พวกเขาอาจจะรู้ว่า ถ้าจะพัฒนาและก้าวหน้า เขาจะต้องมีความสามารถในการสื่อสารทางภาษาได้ดี ดังนั้น เขาก็ต้องขวนขวายเรียนรู้ โดยเฉพาะผ่านทางยูทูบ
ผมสรุปว่า คนเวียดนามมีศักยภาพสูงพอที่จะพัฒนาตนเอง ซึ่งก็เท่ากับพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปอีกนานเป็นสิบ ๆ ปีขึ้นไปเป็นอย่างน้อย การเติบโตจะขึ้นไปสูงจนทำให้ประเทศกลายเป็นอย่างน้อยก็ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง แต่ผมคิดว่าอย่างน้อยน่าจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วขั้นต้นมากกว่า โดยปัจจัยที่ทำอย่างนั้นได้ก็คือ คุณภาพของคนที่มีศักยภาพและความสามารถทางวิทยาศาสตร์และศาสตร์อื่น ๆ ที่จำเป็นในการแข่งขันระดับโลกในอนาคต
ทั้งหมดนั้นก็ไม่ได้เชียร์ให้ซื้อหุ้นโดยเฉพาะเป็นรายตัวรวมถึง FPT หรือแม้แต่กองทุนรวมเวียดนาม เหตุผลก็เพราะมันอาจจะขึ้นมามากและเร็วเกินไป การซื้อหุ้นต้องคำนึงถึงราคาด้วยเสมอ โดยเฉพาะสำหรับคนที่ไม่ได้ลงทุนระยะยาวจริง ๆ ที่สามารถทนถือหุ้นได้แม้ว่าระยะสั้นหุ้นอาจจะตกมาแรงได้ และตลาดหุ้นเวียดนามก็เป็นอย่างนั้น คือขาลงนั้น บางทีก็หนักจนรับไม่ไหว