ดาวโจนส์ร่วงเกือบ 700 จุด การจ้างงานสูงเกินคาดกดดันตลาด

ดาวโจนส์ร่วงเกือบ 700 จุด การจ้างงานสูงเกินคาดกดดันตลาด

ตลาดหุ้นสหรัฐร่วงลงในวันศุกร์ หลังจากรายงานการจ้างงานที่ร้อนแรงเกินคาด ทำให้วอลล์สตรีท ลดความคาดหวังที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในปีนี้

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า ปิดตลาดวันศุกร์ (10 ม.ค.) ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ Dow Jones Industrial Average ปิดที่ 41,938.45 จุด ร่วงลงแรง 696.75 จุด หรือ 1.63% ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 5,827.04 จุด ร่วง 1.54% ขณะที่ดัชนี Nasdaq Composite ปิดที่ 19,161.63 จุด ลดลง 1.63% การร่วงลงในวันศุกร์ส่งผลให้ดัชนีอ้างอิงหลักติดลบแล้วในต้นปี 2025

การจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐเพิ่มขึ้น 256,000 ตำแหน่งในเดือนธันวาคม ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ที่สำรวจโดยสื่อ Dow Jones คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 155,000 ตำแหน่ง อัตราการว่างงานซึ่งคาดว่าจะยังคงอยู่ที่ 4.2% ลดลงเหลือ 4.1% ในเดือนธันวาคมนี้

รายงานการจ้างงานที่สูงเกินคาดมาก ทำให้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2023 หลังจากมีรายงาน

“ข่าวดีสำหรับเศรษฐกิจแต่ไม่ใช่สำหรับตลาด อย่างน้อยก็ในตอนนี้” สก็อตต์ เรน นักกลยุทธ์ตลาดโลกอาวุโสของ Wells Fargo Investment Institute ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาการลงทุน กล่าว

 “อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นอย่างไม่คาดคิดเมื่อเทียบกับการคาดการณ์โดยทั่วไปไม่ได้เปลี่ยนมุมมองของเราที่ว่าตลาดแรงงานมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงต่อไปในไตรมาสต่อๆ ไป”

ผู้ค้าคาดว่า มีโอกาส 97% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมในช่วงปลายเดือนมกราคม และขณะนี้พวกเขาคิดว่าธนาคารกลางจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในการประชุมในเดือนมีนาคมเช่นกัน โดยประเมินจากการซื้อขายอนุพันธ์ทางการเงินที่อิงกับดอกเบี้ยเฟด

ตามข้อมูลของเครื่องมือติดตามเฟด CME Fed Watch Tool ชี้โอกาสที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมลดลงเหลือประมาณ 25% หลังการเผยแพร่ข้อมูลการจ้างงาน ลดลงจากความน่าจะเป็น 41% เมื่อวันก่อน เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25 จุดในเดือนธันวาคม

หุ้นร่วงลงอีกครั้งในวันศุกร์ หลังจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยมิชิแกนส่งสัญญาณความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ ดัชนีโดยรวมอยู่ที่ 73.2 ในเดือนมกราคม ต่ำกว่าที่ Dow Jones คาดไว้ที่ 74 ส่วนหนึ่งมาจากการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ 1 ปีที่เพิ่มขึ้นเป็น 3.3% จาก 2.8% การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ 5 ปียังปรับขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2018 (2551)

หุ้นเติบโตที่อาจได้รับผลกระทบมากที่สุดหากอัตราดอกเบี้ยพุ่งสูงทำให้ผู้ลงทุนมีความระมัดระวังมากขึ้นเป็นตัวนำตลาดลงในช่วงนี้ โดยหุ้นผู้ผลิตชิป Nvidia ติดลบ 3% ในขณะที่ AMD และ Broadcom ร่วงลง 4.8% และ 2.2% ตามลำดับ Palantir ลดลงมากกว่า 1%

หุ้นขนาดเล็กซึ่งไวต่ออัตราดอกเบี้ยก็ลดลง โดยดัชนี Russell 2000 ลดลงมากกว่า 2%

อดัม เทิร์นควิสต์ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ทางเทคนิคของบริษัทหลักทรัพย์ LPL Financial กล่าวว่า “อัตราผลตอบแทนพันธบัตรเคลื่อนไหวมากเกินไปและเร็วเกินไป และตลาดหุ้นก็กำลังเทขาย” พร้อมทั้งเสริมว่าการเคลื่อนไหวล่าสุดของผลตอบแทนพันธบัตรนี้บ่งชี้ว่าดัชนี S&P 500 อาจปรับตัวลงหรือปรับฐานลง

“แต่สิ่งสำคัญที่มักถูกละเลยไปในวันที่เป็นเช่นนี้คือเหตุใดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจึงเคลื่อนไหวสูงขึ้น นั่นเป็นเพราะเศรษฐกิจกำลังไปได้สวยกว่าที่คาดไว้” เขากล่าว

“ท้ายที่สุดแล้ว นั่นหมายถึงศักยภาพในการสร้างรายได้ที่ดีขึ้น ความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยน้อยลง และนั่นจะเป็นตัวกำหนดผลตอบแทนในระยะยาวเทียบกับการเทขายในปัจจุบัน”

ดัชนีหลักทั้งสามปรับลดลงต่อจากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยดัชนี S&P 500 ลดลง 1.9% และดัชนี Nasdaq Composite ลดลง 2.3% ดัชนี Dow ซึ่งมีหุ้น 30 ตัว ร่วงลงเกือบ 1.9% ในสัปดาห์นี้