“ไทยเข้าร่วม BRICS แบบรีบเร่งหรือรีบร้อน?”
“การรีบเร่งของไทยนี้ดูเหมือนการรีบร้อน” มีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ทำไมไทยจึงจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่เข้าร่วมกับองค์กร BRICS ที่ทุกคนรู้ว่า BRICS มีเป้าหมายเชิงลึกคือ การเป็นคู่แข่งเผชิญหน้ากับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
ดัชนีหุ้นของสหรัฐอเมริกาพุ่งแรงขึ้นระดับสร้างสถิติใหม่แทบทุกวัน ขณะที่ดัชนีหุ้นของไทยพุ่งลงต่ำในแนวเดียวกับดัชนีหุ้นของจีน
กำลังการซื้อของผู้บริโภคทางตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาปรับตัวผ่านวิกฤติโควิดมาได้ และบรรยากาศของการลงทุนคึกคักมาก
บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของสหรัฐนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประยุกต์ใช้กับแทบทุกอุตสาหกรรม และคาดว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และบริการอย่างสูงสุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ หุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับ AI โดยเฉพาะ semiconductor ต่างๆ พุ่งแรงจนทำให้อุตสาหกรรมอื่นรับโชคไปด้วย
ขณะเดียวกันโลกกำลังตะลึงกับสินค้าส่งออกของจีน รวมทั้งอีวี และแบตเตอรี่ที่มีคุณภาพ และราคาถูกมาก ผู้บริโภคตอบสนองด้วยความพึงพอใจ แต่อาจจะส่งผลเสียหายอย่างเฉียบพลันต่อสินค้าที่ผลิตในประเทศ ซึ่งไม่สามารถสู้เรื่องราคา และคุณภาพได้
การตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐ และยุโรปเพื่อชะลอการรุกอย่างรุนแรงของผู้ผลิตอีวีในจีน เป็นการซื้อเวลาเพื่อให้รัฐบาลของประเทศทางตะวันตกตั้งตัวหากประเทศต่างๆ ไม่มีเวลาปรับนโยบายรับมือกับสินค้าจากจีนที่มาเป็นคลื่นใหญ่ ก็จะทำลายเครือข่ายของอุตสาหกรรมภายในประเทศ และจะกลายเป็นการพึ่งพาสินค้าจากจีนมากเกินไป แม้จะผลดีต่อจีน และผู้บริโภคในระยะสั้น อาจกลายเป็นผลเสียระยะยาว
ผู้ผลิตในจีนมีความสามารถค้นคว้า วิจัย ผลิต และจำหน่ายสินค้าในระดับผู้นำของโลก แต่กำลังการซื้อภายในของจีนไม่เพียงพอเนื่องจากเศรษฐกิจยังอยู่ในสภาพซบเซาจึงจำเป็นต้องเร่งหาตลาดต่างประเทศ รัฐบาลแต่ละจังหวัดของจีนใช้นโยบายเร่งด่วนนำผู้ประกอบการออกมารุกตลาดนอกประเทศ เช่น หลายกลุ่มที่มาประสานงานกับภาครัฐ และเอกชนของไทยจนนับไม่ถ้วน
เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาท้าทายถึงขั้นที่ประเทศในตะวันตกยกมาเป็นประเด็นว่า สินค้าส่วนเกินของจีน “overcapacity” เป็นปัญหาด่วนที่ทุกคนต้องร่วมมือกันต่อต้าน การประกาศกำแพงภาษีขึ้นโดยสหรัฐอเมริกา และยุโรปนำมาสู่การใช้นโยบายกำแพงภาษีของจีนตอบโต้ทางตะวันตก เช่นกันส่วนรัฐบาลไทยมีวิกฤติหลายอย่างที่ต้องแก้ไขด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ความล่าช้าของการอนุมัติงบประมาณ และความเชื่อมั่นของการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องมาตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้วนั้นทำให้เกิดความวิตกกังวลกัน
ทั้งระบบ สถาบันการเงินไม่ยอมปล่อยเงินกู้ทั้งที่ผู้บริโภคหลายคนมีกำลังซื้อ ตัวอย่างเช่นเงินกู้เพื่อซื้อรถยนต์ฝืดเคืองมากถึงขั้นที่อุตสาหกรรมรถยนต์ต้องร้องขอความช่วยเหลือจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้เข้าแทรกแซง เนื่องจากยอดขายตกลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้วถึง 17% เป็นต้น
รายได้เข้าประเทศที่เป็นความหวังอยู่ก็คือ การท่องเที่ยวซึ่งอาจจะยังไม่ตรงตามเป้าหมาย แต่มีความหวังว่าครึ่งหลังของปีจะกระเตื้องขึ้น เนื่องจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลกไม่เลวร้ายอย่างที่วิตก และกำลังการซื้อของชาวยุโรป และชาวอเมริกันยังสูง
สินค้าส่งออกของไทยไปสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติประมาณ 14% ทั้งนี้เป็นผลพลอยได้จากการที่ผู้นำเข้าของสหรัฐลดการซื้อสินค้าจากจีน
รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบรุก โดยใช้ทุกคนทุกฝ่ายออกนอกประเทศ นักการทูตต้องกลายเป็นนักขายอันดับหนึ่ง โดยนโยบาย “เข้าไปถึงเคาน์เตอร์ของเขาโดยที่ไม่รอให้เขามาหาเรา” เพื่อเน้นความพร้อมว่า “ไทยเปิดทำธุรกิจแล้ว และเป็นประชาธิปไตยเต็มตัว” หลังจากที่การเมืองในประเทศทำให้ขลุกขลักมาเป็นเวลานาน
ไทยประกาศจะเข้าร่วมในกิจกรรมหลายอย่างผ่านองค์กรสำคัญที่คุ้นเคยอยู่แล้ว และที่น่าสนใจล่าสุดคือ ความรีบเร่งเข้าเป็นสมาชิก BRICS ให้ได้ภายในเดือนตุลาคม นี้
เรื่องนี้เป็นสิ่งที่กล่าวขานกันในวงการทูต ทั้งทางตะวันตก และในอาเซียนว่า “การรีบเร่งของไทยนี้ดูเหมือนการรีบร้อน” มีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ทำไมไทยจึงจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่เข้าร่วมกับองค์กร BRICS ที่ทุกคนรู้ว่า BRICS มีเป้าหมายเชิงลึกคือ การเป็นคู่แข่งเผชิญหน้ากับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
อินโดนีเซียถอนตัวเปลี่ยนใจไม่สมัครในปีที่แล้ว และแถลงว่าจะมาปรึกษาประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนก่อน เพื่อจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นเอกภาพนั้น แสดงถึงการอ่านเกมการเมืองตรงกันข้ามกับไทยหรือไม่
ข่าวล่าสุดในสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เวียดนามและมาเลเซียกำลังเตรียมพร้อมที่จะเข้าร่วมกับ BRICS หากเรื่องนี้เป็นจริง ไทยจะไม่โดดเดี่ยวประเทศเดียว
กระทรวงการต่างประเทศย้ำว่ามหาอำนาจ (ซึ่งหมายถึงทางตะวันตก) เข้าใจในเรื่องนี้ว่าไทยมีเจตนาเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ไทยสามารถเข้าได้กับทุกฝ่าย แต่น่าสังเกตว่าโฆษกรัฐบาลไทยแถลงเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ว่าไทยเข้าร่วมกับ BRICS เพื่อเพิ่มโอกาสใน “การจัดระเบียบโลกใหม่” ซึ่งถ้อยคำลักษณะนี้อาจถูกตีความไปทางการเมืองมากกว่าเศรษฐกิจ ประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉพาะกลุ่ม G7 อาจเห็นว่าเป็นเจตนาท้าทายระเบียบโลกในปัจจุบัน
ปัจจุบัน BRICS มี 9 ประเทศ กลุ่มแรกคือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ตามมาด้วยกลุ่มที่สองที่เพิ่งเข้าร่วมเมื่อต้นปีนี้คือ อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน และยูเออี
วัตถุประสงค์ของกลุ่ม BRICS เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือภายใต้ 3 เสา (1) การเมืองและความมั่นคง (2) เศรษฐกิจและการเงิน (3) ความร่วมมือทางวัฒนธรรมและในระดับประชาชน การสนับสนุนการปฏิรูปสหประชาชาติอย่างรอบด้าน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีความเป็นประชาธิปไตย และเพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนามีตัวแทนเพิ่มขึ้นในคณะมนตรีฯ
BRICS เป็นองค์กรที่อาจจะมีผลประโยชน์ให้ไทยพอสมควร แต่จะคาดหวังมากไม่ได้ เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีความขัดแย้งภายในค่อนข้างรุนแรงความมึนตึงระหว่างผู้นำของจีนกับอินเดียโดยเหตุมาจากการที่อินเดียคัดค้านจีนที่อยากนำปากีสถานซึ่งเป็นศัตรูของอินเดียเข้ามาร่วมในกลุ่ม BRICS และความขัดแย้งตามพื้นที่ยุทธศาสตร์ริมชายแดนระหว่างสองประเทศนี้ยังเป็นปัญหาเรื้อรังอยู่ รวมทั้งล่าสุดมีการแทรกแซงทางการเมืองโดยสหรัฐอเมริกาเปิดประเด็นเรื่องทิเบต เป็นต้น
BRICS จะอยู่ได้ยั่งยืนเพียงใด หาก BRICS ไม่มีอินเดียอยู่ร่วมอีกต่อไป เพราะมีข่าวว่าทางตะวันตกจะเพิ่มบทบาทความเป็นผู้นำของอินเดียในกลุ่ม G20 มากขึ้น ซึ่งอาจเป็นยุทธศาสตร์ในการแยกอินเดียกับจีนออกจากกัน ส่งผลให้เหลือเพียงจีนเป็นผู้นำหลักของ BRICS ก็เป็นไปได้
แผนการของการเข้าร่วม BRICS ของไทยจะมีประสิทธิผลเพียงใด โดยเฉพาะยุค “บัวแก้วแบบบัวตูม” ซึ่งมีเพียงแค่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเป็นผู้นำทางการเมืองแต่ผู้เดียว ที่เหลือเป็นทีมงาน และข้าราชการประจำที่แม้จะมีฝีมือเชี่ยวชาญปานใดก็น่าเป็นห่วงว่าจะรับมือกับวิกฤติทั่วโลกและหน้าที่การเป็นนักขายระดับโลกได้มีประสิทธิภาพเพียงใด
ส่งกำลังใจให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้แม้มีความเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อภาระมากล้นที่ทุกท่านได้รับมอบหมาย
กระทรวงการต่างประเทศเสียตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการ จากการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีครั้งที่แล้ว อยากเห็นบัวตูมเป็นบัวบานโดยเร็ว สองตำแหน่งสำคัญทางการเมืองควรกลับคืนมาอยู่กับกระทรวง เกรด A ในการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งต่อไปซึ่งหวังว่าคงเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ครับ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์