4 CEO หุ้นพลังงาน ระดับหมื่นล้าน ฝีมือแกร่ง ไม่แคร์วิฤกติ ดันราคาพุ่งสุด รอบครึ่งแรกปี 67
4 CEO หุ้นพลังงาน ระดับหมื่นล้าน ฝีมือแกร่ง ไม่แคร์วิฤกติ ดันราคาพุ่งสุด รอบครึ่งแรกปี 67 หุ้น CKP ให้ผลตอบแทนราคาครึ่งปีแรกบวกมากสุด 16.56% ผลตอบแทนราคา 120 วัน +15.15%
ตลาดหุ้นไทย ครึ่งปีแรกของปี 2567 ยังคงผันผวนตามปัจจัยภายนอกและภายในที่ถาโถมรุมเร้ามาต่อเนื่อง บางช่วง ดัชนี SET ตกหล่นไปต่ำกว่า 1300 จุด หุ้นหลายหลักทรัพย์ถูกเทขายฉุดราคาดิ่งสุดในรอบปี หรือ รอบ 5 ปี
ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงาน เป็นกลุ่มอุตสหากรรมที่จัดเป็นพิมพ์นิยมของนักลงทุนก็ไม่ค่อยสดใส หุ้นส่วนใหญ่ยังมีอัตราเปลี่ยนแปลงด้านราคาตั้งแต่ต้นปีที่ยังติดลบ มีเพียงเกือบ 20 หลักทรัพย์เท่านั้น ที่มีอัตราเปลี่ยนแปลงด้านราคาที่มีเป็นบวก
โดย "กรุงเทพธุรกิจ" คัดเลือกหุ้นกลุ่มพลังงานที่มีมาร์เก็ตแคปเกิน 1 หมื่นล้านบาทขึ้นไป และมีอัตราเปลี่ยนแปลงด้านราคาตั้งแต่ต้นปีเป็นบวกมีด้วยกัน 4 หลักทรัพย์
4 CEO หุ้นพลังงาน ระดับหมื่นล้าน ฝีมือแกร่ง
1.บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) CKP
- ผลตอบแทนราคาครึ่งปีแรก +16.56%
- ผลตอบแทนราคา 120 วัน +15.15%
- บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ อันดับ 1
- มาร์เก็ตแคป 30,891.65 ล้านบาท
- P/E 27.95 เท่า
- ปันผล YTD 2.24%
- กำไรสุทธิ ไตรมาส1/67 ที่ -460.97 ล้านบาท
- ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP)
บล.ฟินันเซีย ระบุว่า แนวโน้มการเติบโตของกําไรสุทธิปี 2567 เติบโต 7.6%y-y เป็น 1.57 พันล้านบาท หลักๆ มาจากโรงไฟฟ้าพลังงานนํ้าไชยะบุรีและนํ้างึม 2 จะมีปริมาณการไหลของนํ้าที่เพิ่มขึ้นโดย คาดปริมาณนํ้าในเขื่อนปีนี้จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนจากการเปลี่ยนแปลงปรากฏการณ์จากเอลนีโญสู่ลานีญา
โดยแนวโน้มกําไรสุทธิไตรมาส 2/67 จะขาดทุนปกติ 50-100 ล้านบาท แต่ลดลงมากจากขาดทุน 461 ล้านบาทในไตรมาส 1/67 โดยคาดว่า โรงไฟฟ้าไชยะบุรีจะขาดทุนลดลงมากเนื่องจากปริมาณนํ้าไหลที่เพิ่มสูงขึ้นตามฤดูกาลทําให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้สูงขึ้น และคาดจะพีคในไตรมาส 3/67 จาก High Season ที่เติบโต ทั้งq-q และ y-y
อย่างไรก็ดี ธีมพลังงานสะอาดกําลังกลับมาใหม่จากภาวะดอกเบี้ยที่จะกลับเป็นขาลงธีมลงทุนในพลังงานสะอาดเริ่มกลับมาเป็นที่สนใจมากขึ้นเนื่องจากราคาที่ปรับลงรับปัจจัยเสี่ยงด้านดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นและต้นทุนก่อสร้างและวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้นไปหมดแล้ว ที่สําคัญแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยโลกที่มีโอกาสปรับลงจากภาวะเงินเฟ้อที่ชะลอตัวจะช่วยลดภาวะดอกเบี้ยจ่าย
ดังนั้นจึงเชื่อว่าหุ้นพลังงานสะอาดน่าจะกลับมาเป็นที่สนใจกับนักลงทุนอีกครั้ง โดยเฉพาะ CKP ที่เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนํ้าที่หายาก และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกว่า 35 ปี ซึ่งเหมาะกับกองทุนระยะยาว และ Clean Energy ETF ทั้งในและต่างประเทศคาดลานีญาจะหนุนกําไรโรงไฟฟ้าพลังงานนํ้าปีนี้มากกว่าปกติกรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายปรากฏการณ์เอนโซที่อยู่ในสภาวะเอลนีโญกําลังอ่อนลงและเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.2567
จากนั้นจะเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค.2567 เนื่องจากอุณหภูมิผิวนํ้าทะเลบริเวณเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิกกลางและตะวันออกมีค่าตํ่ากว่าปกติซึ่ง ลักษณะเช่นนี้จะก่อให้เกิดพายุและมีปริมาณฝนตกมากกว่าฤดูกาลปกติส่งผลให้ปริมาณนํ้าในเขื่อนสูงขึ้นทําให้โรงไฟฟ้าพลังงานนํ้าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากและนานขึ้นกว่าปกติอีกทั้ง EGATจะรับซื้อไฟเกินโควต้าเพราะเป็นโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนการผลิตที่ตํ่าสุดเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าชนิดอื่น ซึ่งจะส่งผลให้ CKP มีกําไรเพิ่มขึ้นมากกว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าปกติเป็น
2.บริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) BSRC
- ผลตอบแทนราคาครึ่งปีแรก +9.41%
- ผลตอบแทนราคา 120 วัน +8.77%
- บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ อันดับ 1
- มาร์เก็ตแคป 32,185.98 ล้านบาท
- P/E 14.82 เท่า
- ปันผล YTD 2.69%
- กำไรสุทธิ ไตรมาส1/67 ที่ 854.99 ล้านบาท
- บัณฑิต หรรษาไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บางจาก ศรีราชา (BSRC)
BSRC ระบุว่า ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน สร้างสถิติใหม่ด้วยกำลังการกลั่น 150,300 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นกำลังการกลั่นที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัทฯ (คิดเป็นร้อยละ 86 ของกำลังการผลิต) ค่าการกลั่นปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ปัจจัยหลักมาจากผลกระทบเชิงลบของสินค้าคงคลังลดลง
ทั้งนี้ ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและธุรกิจการตลาดของบริษัทฯ จะเดินหน้าตามกลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง พร้อมตอบรับความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้ได้อย่างทันท่วงที โดยจะติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด ควบคู่กับการบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ผนึกกำลังทางธุรกิจและผสานประโยชน์ร่วมกันในกลุ่มบริษัทบางจาก เพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันใหม่ ๆ ที่จะนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ ภายใต้วิสัยทัศน์ “สรรค์สร้างอนาคตที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมเพื่อพลังงานที่เหนือกว่า”
3.บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) WHAUP
- ผลตอบแทนราคาครึ่งปีแรก +6.09%
- ผลตอบแทนราคา 120 วัน +6.63%
- บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ อันดับ 1
- มาร์เก็ตแคป 15,988.50 ล้านบาท
- P/E 8.67 เท่า
- ปันผล YTD 6.04%
- กำไรสุทธิ ไตรมาส1/67 ที่ 470.38 ล้านบาท
- สมเกียรติ เมสันธสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP)
WHAUP อนาคตการเติบโตยังคงมาจากธุรกิจหลัก ทั้งธุรกิจสาธารณูปโภค (น้ำ) และธุรกิจไฟฟ้า โดยธุรกิจไฟฟ้า ยังคงเน้นการเติบโตของโครงการโซลาร์รูฟท็อป ทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม ตั้งเป้าครบ 300 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปีนี้ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 200 เมกะวัตต์
โดย บริษัทได้มุ่งเน้นการต่อยอดธุรกิจพลังงานสะอาดผ่านการพัฒนานวัตกรรมและโซลูชั่นด้านพลังงานใหม่ๆ อาทิ การเปิดให้บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) สอดรับกับแผนการลงทุนใน Green Logistics แบบครบวงจรของ WHA Group โดยได้ตั้งเป้าขยายการให้บริการครบ 120 ตู้ชาร์จภายในปีนี้ บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ประมาณ 300 ล้านบาท
แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า( PDP2024 )ของประเทศไทย ภาครัฐมีการส่งเสริมไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นถึง 51% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ บริษัทมองโอกาสเติบโต ทั้งโซลาร์ ลม และขยะรวมทั้งยังรอความชัดเจนในเรื่องการออกมาตรการ Direct PPA ที่ภาครัฐต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำหนดพื้นที่โครงการผลิตไฟฟ้าสีเขียว, อัตราค่าบริการสายส่งไฟฟ้า (Wheeling Charge) แผนพัฒนาสายส่ง เป็นต้น
ขณะเดียวกันโครงการพลังงานหมุนเวียนเฟส 2 จำนวน 3,668 เมกะวัตต์ ที่คาดว่าจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าภายในปีนี้ หลังจากโครงการพลังงานหมุนเวียนเฟสแรก มีโครงการโซลาร์ฟาร์มของบริษัทได้รับการคัดเลือกจำนวน 5 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้น 125.4 เมกะวัตต์ ปัจจุบันได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับ กฟผ.และ กฟภ.เสร็จสิ้นแล้ว 4 โครงการ รวม 85 เมกะวัตต์ ยังคงเหลืออีก 1 โครงการ กำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์
4.บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) PTTEP
- ผลตอบแทนราคาครึ่งปีแรก +3.01%
- ผลตอบแทนราคา 120 วัน +3.70%
- บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่ อันดับ 1
- มาร์เก็ตแคป 611,377.75 ล้านบาท
- P/E 8.03 เท่า
- ปันผล YTD 6.17%
- กำไรสุทธิ ไตรมาส1/67 ที่ 18,682.82 ล้านบาท
- มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP)
ทั้งนี้ บริษัท พีทีทีอีพี มีนา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ PTTEP ลงนามในสัญญาซื้อขายเพื่อเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุน 10% ในพื้นที่สัมปทานกาชา นอกชายฝั่ง ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) จากบริษัท วินเทอร์แชลล์ ดีอีเอ มิดเดิล อีสต์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานของประเทศเยอรมนี
โดยการเข้าร่วมลงทุนในครั้งนี้ นับเป็นความก้าวหน้าในการสร้างฐานการลงทุนที่แข็งแกร่งของ PTTEP ในยูเออี รวมถึงการขยายการลงทุนในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างต่อเนื่อง การซื้อขายสัดส่วนการลงทุนในครั้งนี้ ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงสามารถเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมพิสูจน์แล้วของ PTTEP ได้ทันที
สำหรับแปลงสัมปทานกาชา ตั้งอยู่นอกชายฝั่งทะเลทางตะวันตกของเมืองอาบูดาบี ในยูเออี คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายในปี 2573 นอกจากนี้ โครงการยังมีแผนการดำเนินงานในการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี (MMtpa) เพื่อให้เป็นโครงการผลิตก๊าซฯ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
ขณะที่แปลงสัมปทานกาชายังตั้งอยู่ในบริเวณใกล้กับโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 1 โครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2 และโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 3 ซึ่ง PTTEP มีการร่วมทุนอยู่แล้ว จึงเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการโครงการร่วมกัน
นอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว PTTEP ยังมีการลงทุนในโครงการชาร์จาห์ ออนชอร์ แอเรีย เอ และโครงการชาร์จาห์ ออนชอร์ แอเรีย ซี ในยูเออีด้วย ซึ่งอยู่ในระยะสำรวจ รวมทั้ง ยังมีโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติแอดนอคที่อยู่ในระยะผลิตด้วย