ThaiBMA เชื่อ EA ไม่ผิดนัดหุ้นกู้ 5.5 พันล้าน ในปีนี้

ThaiBMA เชื่อ EA ไม่ผิดนัดหุ้นกู้ 5.5 พันล้าน ในปีนี้

“ThaiBMA” เชื่อหุ้นกู้ EA ครบกำหนดชำระปี 2567 รวม 5.5 พันล้าน คาดไม่ผิดนัด มองมีวงเงินแบงก์รองรับ และบริษัทยังมีเงินสดสำรองในมือ 2.2 พันล้าน ด้านสถานการณ์ตลาดหุ้นกู้ครึ่งปีแรก เลื่อนกำหนดชำระ 1.8 หมื่นล้าน พบเพิ่ม 5 รายใหม่ หากไม่นับรวม ITD ย้ำสถานการณ์ครึ่งปีหลังไม่แย่ลง

จากกรณี บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาหุ้นปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง เสี่ยงลุกลามเป็นผลกระทบสภาพคล่อง และชำระหนี้หุ้นกู้ครบกำหนดปีนี้หรือไม่นั้น

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ตลาดตราสารหนี้ยังติดตามสถานการณ์ดังกล่าว สำหรับหุ้นกู้ EA  พบว่าจะครบกำหนดชำระ ในปีนี้ 5,500 ล้านบาท โดยเดือนส.ค.2567 ครบชำระ 1,500 ล้านบาท และเดือนก.ย.2567 ครบชำระ 4,000 ล้านบาท จากมูลค่าหุ้นกู้ที่ออกทั้งหมด 31,000 ล้านบาท และรุ่นสุดท้ายจะครบกำหนดในปี 2576  

ประเมินความน่ากังวลอยู่ระดับต่ำ ด้วยสถานะทางการเงินของบริษัทยังไม่เคยขาดทุน และมีแผนรองรับแล้ว อีกทั้งบริษัท ยังมีเงินสดในมือ 2.2 พันล้านบาท และมีสัดส่วนการใช้เงินกู้สถาบันการเงินได้สูงถึง 70% คาดบริษัทยังมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้ใช้จากสถาบันการเงินอยู่ ทั้งนี้ต้องติดตามว่าบริษัทจะเจรจาขอวงเงินได้สำเร็จหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถสร้างรายได้ของบริษัทด้วย

ThaiBMA เชื่อ EA ไม่ผิดนัดหุ้นกู้ 5.5 พันล้าน ในปีนี้

ด้านสถานการณ์หุ้นกู้ผิดนัดชำระหรือเลื่อนกำหนดชำระในครึ่งปีแรก 2567  ThaiBMA พบว่า  มีหุ้นกู้เลื่อนกำหนดชำระมูลค่ารวม 18,876 ล้านบาท เป็นรายใหม่ 5 บริษัท ได้แก่ GLOCON (Non-Rate) 1 รุ่น 300 ล้านบาท, PROEN (Non-Rate) 1 รุ่น 500 ล้านบาท ,ECF (B+) 1 รุ่น 389 ล้านบาท และ APCS (Non-Rate) 1 รุ่น 385 ล้านบาท ขณะที่ ITD (BB+) เลื่อนกำหนดชำระ 5 รุ่น 14,455 ล้านบาท

และยังมีรายเดิม 4 บริษัท ได้แก่ SWN (Non-Rate) 3 รุ่น 520 ล้านบาท,JCK (Non-Rate) 1 รุ่น 280 ล้านบาท, JCKD (Non-Rate) 1 รุ่น 375 ล้านบาท และ CGD (Non-Rate) 2 รุ่น 1,672 ล้านบาท

หุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้มูลค่ารวม 1,101 ล้านบาท ยังคงเกิดจากรายเดิม 3 บริษัท ได้แก่ PPH (Non-Rate) 1 รุ่น 392 ล้านบาท,CISSA (Non-Rate) 1 รุ่น 217 ล้านบาท และ IRIS (Non-Rate) 2 รุ่น 492 ล้านบาท

จากในปี 2566 มีหุ้นกู้เลื่อนกำหนดชำระ 37 รุ่น จากผู้ออก 14 ราย มูลค่ารวม 12,443 ล้านบาท และมีหุ้นกู้ผิดนัดชำระ 22 รุ่น จากผู้ออก 6 ราย มูลค่ารวม 16,363 ล้านบาท

นางสาวอริยา กล่าวว่า ครึ่งปีแรกมีหุ้นกู้ที่เลื่อนกำหนดชำระรายใหม่ 5 บริษัท ยกเว้น ITD ที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่มีมูลค่าค่อนข้างมาก แต่ที่เหลือมูลค่าไม่มาก และบริษัทผิดนัดชำระหนี้ยังเป็นรายเดิมที่มีปัญหาต่อเนื่องตั้งแต่โควิด-19 

ดังนั้น มองว่า สถานการณ์ตลาดหุ้นกู้ ยังมีภาพทรงตัวในครึ่งปีแรก และคาดว่าแนวโน้มสถานการณ์จะไม่แย่ลงในครึ่งปีหลัง

ThaiBMA เชื่อ EA ไม่ผิดนัดหุ้นกู้ 5.5 พันล้าน ในปีนี้

พร้อมประเมินเป้าหมายยอดการออกหุ้นกู้ทั้งปีรวม 9 แสนล้านถึง 1 ล้านล้านบาท จากหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในครึ่งปีหลังอีก 4.4 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ระดับลงทุน หรือ Investment Grade ที่สามารถ Rollover ได้ครบ และยังมีความต้องของผู้ซื้ออยู่ ยกเว้นหุ้นไฮยีลด์ที่ลดลงทางผู้ออก และผู้ซื้อของกลุ่มนี้ 

จากครึ่งปีแรกมีมูลค่า 4.94 แสนล้านบาท ลดลง 19% จากช่วงเดียวปีก่อน โดยพบยอดออกลดลงในกลุ่มหุ้นกู้ไฮยีลด์ ที่ไม่มีเครดิตเรตติ้ง และมีเครดิตเรตติ้ง ต่ำกว่า BBB-   ครึ่งปีแรก หุ้นกู้กลุ่มไฮยีลด์มีการออกหุ้นกู้รวมมูลค่าราว 2.6 หมื่นล้านบาท อายุเฉลี่ยลดลงอยู่ที่ 2.2 ปี จากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดี แต่การที่กลุ่มไฮยีลด์  ที่ยังออกขายได้เพราะมีฐานลูกค้าที่ต้องการลงทุนอยู่แล้ว ลูกค้ายังเชื่อมั่นในตัวธุรกิจ และมีสินทรัพย์เป็นหลักประกันที่ใช้ออกหุ้นกู้

นอกจากนี้ จำนวนบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ลดลง เช่นในกลุ่มธุรกิจพลังงาน ปัจจุบันมีจำนวนบริษัทผู้ออกเหลือ 13 บริษัท จาก 25 บริษัท และจากปีก่อนบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ออกหุ้นกู้จำนวนมากไปมากแล้ว

นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวว่า  ครึ่งปีแรกตลาดตราสารหนี้ไทยมีมูลค่าคงค้าง เท่ากับ 17 ล้านล้านบาท ขยายตัว 2.7% จากสิ้นปีที่แล้ว  มาจากการเพิ่มขึ้นของตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลเป็นหลัก มีมูลค่าถึง 4.73 แสนล้านบาท  อายุเฉลี่ยนานขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 10.4 ปี 

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government bond yield curve) ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2567 ค่อนข้างทรงตัวจากปลายปี 2566 สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คงตัวอยู่ที่ 2.50% ตั้งแต่การประชุม กนง. รอบเดือนกันยายน ปี 2566 โดย Bond yield รุ่นอายุ 2 ปี และ 5 ปี ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย1 bps. และ 2 bps. ในขณะที่ Bond yield 10 ปี ปรับตัวลงเล็กน้อย 2 bps. จากสิ้นปี 2566 มาอยู่ที่ 2.35%  2.47% และ 2.68% 
ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2567 ตามลำดับ

เส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate bond yield curve) รุ่นอายุ 5 ปี ในช่วงครึ่งแรก ปี 2567 ของหุ้นกู้กลุ่ม AAA, AA และ A ค่อนข้างทรงตัวในทิศทางเดียวกันกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล หากแต่หุ้นกู้ BBB+ และ BBB มีอัตราผลตอบแทนที่ปรับตัวสูงขึ้นราว 24 - 32 bps.จากสิ้นปี 2566 สะท้อนถึงส่วนชดเชยความเสี่ยง (Credit spread) ที่สูงขึ้นจากการที่ผู้ลงทุนมีความระมัดระวังการลงทุนหุ้นกู้กลุ่มดังกล่าวมากขึ้น โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2567 หุ้นกู้กลุ่ม AAA, AA, A, BBB+ และ BBB มีอัตราผลตอบแทนเท่ากับ 3.15%, 3.26%, 3.55%, 4.76% และ 5.73% ตามลำดับ

กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow)ของนักลงทุนต่างชาติในครึ่งแรก ปี 2567 เป็นการขายสุทธิตราสารหนี้ไทยทั้งในไตรมาส 1 และ 2 รวมเป็นมูลค่าการขายสะสมสุทธิตราสารหนี้ไทยจำนวน 66,514 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่เฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาด ผนวกกับการที่พันธบัตรรัฐบาลของอินเดียได้ถูกรวมในการคำนวณดัชนีตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ของ J.P. Morgan (GBI-EM) ที่จะส่งผลให้ตราสารหนี้ไทยมีสัดส่วนในดัชนีลดลง โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ของปี 2567 นักลงทุนต่างชาติมีการถือครองตราสารหนี้ไทยเท่ากับ 8.7 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.1% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทยอายุคงเหลือของตราสารหนี้ไทยที่ผู้ลงทุนต่างชาติถือครองมีอายุเฉลี่ย 9.0 ปี เพิ่มขึ้นจาก 8.6 ปี เมื่อสิ้นปี 2566

นายสมจินต์ กล่าวถึง ผลสำรวจผู้ร่วมตลาดเกี่ยวกับการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในปี 2567 พบว่า ผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ในปี 2567 โดยมี 43% ที่คาดว่ามีโอกาสที่ กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในรอบเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปี สำหรับการคาดการณ์ Bond yield ไทย ผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าในปี 2567 Bond yield ไทยรุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี จะขยับตัวลงเล็กน้อยเฉลี่ยราว 5 bps. ในครึ่งปีหลังนับจากวันที่ทำการสำรวจ มาอยู่ที่ 2.47% และ 2.73% ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2567 โดยปัจจัยหลักที่มีผลต่อ Bond yield ในอนาคตคือ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศเป็นสำคัญ

 

พร้อมกันนี้ ThaiBMA ได้เปิดตัว ค่ากลางอัตราส่วนการเงินรายอุตสาหกรรม (Industry Financial Ratio) และFinancial ratio ของผู้ออกในรูปแบบ Percentileเทียบกับอุตสาหกรรม (Financial Ratios Comparing to Industry) บนเว็บไซต์ ThaiBMA เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่สำคัญประกอบการตัดสินใจลงทุน ซึ่งเป็นหนึ่งในสามแนวทางการดำเนินงานของThaiBMA ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์