ตลท.ชี้ 'มาตรการ Uptick ' เห็นผล - รอประเมิน HFT อีก 2 สัปดาห์

ตลท.ชี้ 'มาตรการ Uptick ' เห็นผล - รอประเมิน HFT อีก 2 สัปดาห์

“ภากร” ชี้มาตรการ Uptick เห็นผลสะท้อนไปที่ตลาดหุ้นไทยแล้ว และอยู่ระหว่างขึ้นทะเบียนกลุ่ม HFT เสร็จใน 2 สัปดาห์ พร้อมติดตามความจำเป็นยกระดับมาตรการเข้ม ล่าสุด ผนึก 4 พันธมิตร ผลิตบทวิเคราะห์ฉายมุมมองใหม่ ดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าหุ้น New S Curve 

หลังจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เริ่มใช้มาตรการยกระดับ และเพิ่มความเชื่อมั่นนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย ด้วยมาตรการ Uptick มีผลเมื่อ 1 ก.ค.ที่ผ่านมานี้ และนักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาซื้อหุ้นไทยครั้งแรกในรอบ 28 วันและซื้อต่อเนื่องแม้วอลุ่มยังเบาบาง

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ผลของมาตรการ Uptick สะท้อนออกมาตามสภาพตลาดหุ้นไทยที่เห็นกันแล้ว ขณะที่การขึ้นทะเบียนผู้ลงทุนที่ส่งคำสั่งซื้อขายด้วยความเร็วสูง (High Frequency Trading: HFT) ยังมีระยะเวลา 2 สัปดาห์ก่อนเริ่มใช้งาน ซึ่งในกลุ่มนี้จะมีการกลับมาเทรดมากน้อยแค่ไหนนั้น ยังจะติดตามผลของมาตรการก่อนว่าควรจะต้องยกระดับมาตรการเข้มงวดเพิ่มอีกหรือไม่

และล่าสุด ตลท. ร่วมกับ 4 หน่วยงานพันธมิตร ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทยคอมพาส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย และทริสเรทติ้ง ลงนาม MOU “โครงการรายงานการวิเคราะห์อุตสาหกรรมแยกตามรายธุรกิจ” เพิ่มจำนวนรายงานการวิเคราะห์รายอุตสาหกรรมให้ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อบริษัทจดทะเบียน และผู้ลงทุนใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน พร้อมเพิ่มการรับรู้และชูความน่าสนใจให้แก่อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ตั้งเป้าผลิต 70 ฉบับภายใน 18 เดือน เตรียมเผยแพร่ผ่านช่องทางตลาดหลักทรัพย์ฯ และหน่วยงานพันธมิตร ไตรมาส 3 ปีนี้

นายภากร กล่าวว่า ปัจจุบัน มีหลายอุตสาหกรรมในตลาด SET และ mai ศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ และมีทิศทางการเติบโต พบว่า สัดส่วน 30% ของอุตสาหกรรม เป็นธุรกิจ New Economy ซึ่งในส่วนนี้มีสัดส่วนถึง 20% เป็นบริษัทลูกที่เป็นธุรกิจ New S Curve แต่ยังขาดบทวิเคราะห์หรือรายงานการวิเคราะห์เชิงอุตสาหกรรม โดยบทวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมตามความนิยมหรือที่มีความต้องการลงทุนตลาดหลักทรัพย์

"ข้อมูลบทวิเคราะห์ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้จะฉายภาพข้อมูลรายอุตสาหกรรมที่นำไปใช้สร้าง ไปใช้เป็นมุมมองใหม่ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุน แม้หลายคนมักบอกว่า ตลาดหุ้นไทย ไม่เซ็กซี่ แต่จะพบว่า เรายังมีธุรกิจที่ยั่งยืน และสามารถนำไปต่อยอดได้"

นายอำนวย จิรมหาโภคา ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานผู้ออกหลักทรัพย์ 1 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ครึ่งปีหลัง ตลาดหุ้นไอพีโอด้วยสภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยผันผวนอยู่ในปัจจุบัน ทำให้มีหลายบริษัทชะลอการเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะในส่วนบริษัทที่ตลาดหลักทรัพย์ ได้อนุมัติแบบคำขอให้เสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่แล้ว (Approved)  แต่ยังมีระยะเวลาการเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (เทรด) อีก 1 ปี  ทำให้บริษัทยังรอประเมินสถานการณ์อีกระยะหนึ่ง แต่ในส่วนบางบริษัทหากมีความจำเป็นต้องการใช้เงินยังคงเดินหน้าเทรดต่อไป 

ครึ่งปีแรกนี้ มีบริษัทที่ยื่นขออนุญาตเข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ ยังไม่ได้มีจำนวนบริษัทที่ลดลงแต่อย่างใด และยังคงมีเข้ามาต่อเนื่อง มีบริษัทที่ยื่นแบบไฟลิ่ง ขอเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่รวมแล้วกว่า 40 บริษัท  โดยเป็นบริษัทที่ได้รับ Approved แล้ว 20 บริษัท และบริษัทที่อยู่ระหว่างยื่นแบบไฟลิ่ง  อีกจำนวน 20 บริษัท รวมถึงมีบริษัทใหม่ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ช่วงที่ผ่านมาไปแล้วอีกจำนวนกว่า 20 บริษัท

"ในทุกๆ ปี มีบริษัทจำนวนมากสนใจ และเดินหน้าเข้าขออนุมัติมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยอมรับว่าด้วยสภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้กลุ่มบริษัทที่ได้รับ Approved เกือบครึ่งชะลอการระดมทุนไป เพื่อรอดูช่วงจังหวะที่ดีกว่านี้อีกระยะหนึ่ง มีเวลา 1 ปีหลัง Approved”

 นางสาวรุ่งทิพย์ เจริญวิสุทธิวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้าสายงานตลาดผู้ออกหลักทรัพย์ 2 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยยังเสน่ห์ บริษัทในต่างประเทศเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง  ดัวยเสน่ห์ของตลาดหุ้นไทย มีสภาพคล่องมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่สูง และมีเกณฑ์สนับสนุนการระดมทุนธุรกิจใหม่ๆ ในกลุ่ม 10 ธุรกิจ New S-Curve ที่เข้าระดมทุนได้ผ่านเกณฑ์มาร์เก็ตแคป ทำได้ง่ายขึ้น

คาดว่า จะมีบริษัทต่างประเทศเข้ามายื่นไฟลิ่งเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 1 บริษัท เป็นโฮลดิ้งฯ ในสิงคโปร์มีรายได้จากไทย และกลุ่ม CLMV  เป็นธุรกิจแพลตฟอร์มบริการ คาดเห็นความชัดเจนในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ เข้ามาจดทะเบียนในกลุ่มไอซีที และระดมทุนด้วยเกณฑ์กำไรตามปกติ พร้อมกันนี้ ยังมี 5-6 บริษัทที่แสดงความสนใจเข้าระดมทุนอย่างต่อเนื่อง

     

นายศักดิ์ดา พงศ์เจริญยง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เปิดเผยว่า ขณะที่สถานการณ์การดาวน์เกรดเครดิตเรตติ้งของบริษัทไทย จากภาวะต้นทุนเพิ่มขึ้น ในครึ่งปีหลัง คาดดีขึ้นจากครึ่งปีแรก จากปัจจัยหนุนเห็นสัญญาณการส่งออกปรับตัวดีขึ้น ซัพพลายในตลาดโลกดีขึ้น และราคาน้ำมันปีนี้ทรงตัวหรือมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อน ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของบริษัทมากเช่นปีก่อน 

อย่างไรก็ตาม ครึ่งปีหลัง เรายังต้องคิดตามกลุ่มธุรกิจ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ดีมานด์ยังไม่ฟื้น และธุรกิจเช่าซื้อ ยอดซื้อรถที่ยังลดลง เป็นความเสี่ยงธุรกิจมีโอกาสดาวน์เกรดเครดิตเรตติ้งได้

ทั้งนี้ จากปัจจัยลบปีก่อน ทั้งต้นทุนธุรกิจเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นสูง ซัพพลายในตลาดโลกลดลง ส่งผลให้ทริสเรทติ้งดาวน์เกรดเครดิตเรตติ้งของบริษัทไทยแล้ว ในครึ่งปีแรก 20 บริษัท จากการประเมินแล้ว 220 บริษัท มีฐานลูกค้าที่ขอทำการประเมินปีก่อนทั้งสิ้น 258 บริษัท และปกติแล้วบริษัทที่ถูกดาวน์เกรดเครดิตเรตติ้งต่อปีมีสัดส่วนเฉลี่ย 10% ของจำนวนฐานลูกค้าทั้งหมด 

ในส่วนความร่วมมือดังกล่าวทริสเรทติ้ง จะประเมินวิเคราะห์อุตสาหรรมเกี่ยวกับภาคการเงินเป็นหลัก ได้แก่ ธนาคาร ธุรกิจประกัน บริษัทหลักทรัพย์(บล.) รวมถึงนอนแบงก์ เช่น ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ และจำนำทะเบียนด้วย       

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์