ตลท. เข้มประเมินความยั่งยืนบจ. HSBC ทบทวนธรรมาภิบาลลูกค้าปล่อยกู้

ตลท. เข้มประเมินความยั่งยืนบจ. HSBC ทบทวนธรรมาภิบาลลูกค้าปล่อยกู้

ตลท.เดินหน้ายกระดับเข้มประเมินความยั่งยืนบจ. SET ESG Ratings เทียบชั้นสากล เปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะทันต่อสถานการณ์ เล็งทำความเข้าใจ บจ.ช่วงปลายก.ค. 67 “วงใน” ย้ำปิดช่องโหว่เลี่ยงปฏิบัติ บังคับใช้เคร่งครัด “HSBC” ทบทวนธรรมาภิบาลลูกค้า ก่อนปล่อยสินเชื่อ

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการยกระดับเพิ่มความเข้มข้นในการประเมินความยั่งยืน SET ESG Ratings ว่า  สำหรับกระบวนการประเมินความยั่งยืน SET ESG Ratings ได้ปรับวิธีการประเมินร่วมกับผู้ประเมินชั้นนำของโลกจะช่วยยกระดับมาตรฐานการประเมินความยั่งยืนของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ สร้างความน่าเชื่อถือ และเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้ข้อมูลมากขึ้น

โดยจะเน้นการนำข้อมูลที่เปิดเผยสู่สาธารณะ (public disclosure) มาพิจารณา เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียมีความเชื่อมั่นมากขึ้น โดย ตลท. จะมีการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกระบวนการประเมินความยั่งยืนให้แก่บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในช่วงปลายเดือน ก.ค. 2567

ตลท. เข้มประเมินความยั่งยืนบจ. HSBC ทบทวนธรรมาภิบาลลูกค้าปล่อยกู้

ทั้งนี้ ตลท.ได้ศึกษาและหารือแนวทางร่วมกับผู้ประเมินชั้นนำของโลกมาตั้งแต่ปี 2565 และที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ สนับสนุนให้ภาคธุรกิจดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเติบโตที่ยั่งยืน โดยจัดทำข้อมูล SET ESG Ratings เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญสำหรับผู้ลงทุนนำไปประกอบการตัดสินใจลงทุน 

ปัจจุบันรายชื่อหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะคัดเลือกจาก บจ. ที่สมัครใจเข้าร่วมตอบแบบประเมินความยั่งยืน และต้องผ่านเกณฑ์ 2 ด้าน  ได้แก่ 

1.เกณฑ์คะแนนจากการตอบแบบประเมินตั้งแต่ 50% ของคะแนนเต็มแต่ละมิติ 

2.เกณฑ์คุณสมบัติ ประกอบด้วยหลายเกณฑ์ อาทิ ต้องเป็นบริษัทที่มีผลประเมินคุณภาพรายงานด้านบรรษัทภิบาล (CGR) ประเมินโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ตั้งแต่ 3 ดาวขึ้นไป ไม่เป็นบริษัทหรือมีกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทที่ถูกกล่าวโทษหรือได้รับการตัดสินความผิดเรื่อง ESG

แหล่งข่าวในวงการตลาดทุน กล่าวว่า การประเมินความยั่งยืน SET ESG Ratings จะปรับให้มีความทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้นและเคร่งครัดในการนำไปปฏิบัติใช้จริงมากขึ้น โดยเฉพาะการประเมินเรื่อง บรรษัทภิบาล ซึ่งเกณฑ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอาจมีช่องโหว่ที่บจ.สามารถเลี่ยงได้ 

อย่างไรก็ตาม การจะป้องกันการเรื่องการกระทำผิดหลักบรรษัทภิบาลนั้นนอกจากเกณฑ์การประเมินแล้ว มองกระบวนการตรวจสอบและสอบสวน นำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษต้องมีความรวดเร็วมากขึ้น และเพิ่มบทลงโทษในระดับที่ทำให้ผู้กระทำผิดเห็นว่าหากกระทำผิดแล้วจะไม่คุ้มค่ากับความเสียหายที่จะได้รับ 

นายกฤษฎา แพทย์เจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า กรณีที่ผู้บริหารหลายบริษัทขาดคุณสมบัติ หรือธรรมาภิบาลในการบริหารธุรกิจให้เห็นมากขึ้นนั้น มองในส่วนการปล่อยสินเชื่อของธนาคารนั้น ปกติมีเกณฑ์หรือกติกาที่มีการเข้มงวดในการดูด้านธรรมภิบาลของผู้บริหารและบริษัทต่างๆ อยู่แล้วก่อนปล่อยสินเชื่อ ซึ่งยึดหลักตามมาตรฐานสากลที่ใช้ในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ ดังนั้น การดูเรื่องดังกล่าวเชื่อว่าทุกธนาคารมีการพิจารณาอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นลูกค้าเดิมที่ธนาคารเคยปล่อยสินเชื่อมาแล้วในอดีต ธนาคารก็มีเกณฑ์การพิจารณา และติดตามพัฒนาของบริษัทต่างๆอย่างต่อเนื่อง ว่าเป็นไปตามเป้าประสงค์ในการดำเนินธุรกิจ หรือดำเนินธุรกิจที่ปกติ และไม่ผิดหลักเกณฑ์ต่างๆ หรือไม่ ซึ่งมีการทบทวนอยู่ปกติ เพื่อให้ธนาคารเห็นความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

“ธนาคารยังคงมองว่า เรื่องธรรมาภิบาลเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก และเป็นสิ่งที่ธนาคารยึดถือและใช้ในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อมาโดยตลอด และเชื่อว่าเกณฑ์การพิจารณาของธนาคารเป็นระดับสากลระดับโลก และการพิจารณาเรานี้ ธนาคารก็มีทีมที่ติดตามเรื่องเหล่านี้ต่อเนื่อง ซึ่งไม่ใช่ปล่อยสินเชื่อแล้วจบ แต่ยังมีการกลับมาประเมินหรือติดตามพอร์ตลูกค้าต่อเนื่อง แต่หากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เราก็จะคุยกับลูกค้าเราก่อนถึงสาเหตุต่างๆ”