KTC กำไรครึ่งแรกปี 67 แตะ 3.6 พันล้าน ลด 1.3% หลังตั้งสำรอง - ต้นทุนดอกเบี้ยเพิ่ม

KTC กำไรครึ่งแรกปี 67 แตะ 3.6 พันล้าน ลด 1.3% หลังตั้งสำรอง - ต้นทุนดอกเบี้ยเพิ่ม

KTC เผยกำไรครึ่งแรกปี 67 แตะ 3.6 พันล้าน ลด 1.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังตั้งสำรองหนี้ - ต้นทุนดอกเบี้ยเพิ่ม ขณะที่ยังมุ่งรักษาคุณภาพพอร์ตสินเชื่ออย่างต่อเนื่องเดินหน้า สร้างมูลค่ากำไรสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เสนอแนวทางในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เหมาะสม และเป็นธรรม

นางพิทยา  วรปัญญาสกุล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC กล่าวว่า “ภาพรวมของอุตสาหกรรมสินเชื่อผู้บริโภคเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว จากแรงกดดันของหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังสะท้อนความเชื่อมั่นในเกณฑ์ดีติดต่อกันถึงเดือนมิถุนายน 2567 ทำให้การใช้จ่ายรวมของผู้บริโภคยังมีการเติบโตบ้าง โดยเคทีซีมีสัดส่วนของลูกหนี้บัตรเครดิต และลูกหนี้สินเชื่อบุคคล (ไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน) เทียบกับอุตสาหกรรมระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2567 เท่ากับ 14.9%และ 6.3% ตามลำดับ ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของเคทีซีเท่ากับ 12.8%”

ช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ภาพรวมการดำเนินงานของเคทีซี และกลุ่มบริษัทอยู่ในระดับทรงตัว จากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน ผู้บริโภคใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง แม้ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโตเพิ่มขึ้น แต่เป็นการใช้จ่ายเพื่อสิ่งที่จำเป็นในชีวิต ขณะที่พอร์ตสินเชื่อบุคคลขยายตัวเพียงเล็กน้อย จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีสัดส่วนสูงขึ้น ประกอบกับเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อที่รัดกุม สำหรับคุณภาพพอร์ตของกลุ่มบริษัทยังบริหารจัดการได้ดี โดยมี NPL รวมต่ำกว่าอุตสาหกรรม และมีเงินสำรองเพียงพอโดยมี NPL Coverage Ratio ในระดับแข็งแกร่งที่ 363.3%

KTC กำไรครึ่งแรกปี 67 แตะ 3.6 พันล้าน ลด 1.3% หลังตั้งสำรอง - ต้นทุนดอกเบี้ยเพิ่ม

สำหรับกำไรสุทธิของเคทีซีเทียบจากงวดเดียวกันของปี 2566 ตามงบการเงินเฉพาะกิจการครึ่งปีแรก 2567 เท่ากับ 3,722 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 2.0%) และในไตรมาส 2/2567 เท่ากับ 1,829 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1.3%) โดยงบการเงินรวมของกลุ่มบริษัทครึ่งปีแรก 2567 เท่ากับ 3,629 ล้านบาท (ลดลง 1.3%) และไตรมาส 2/2567 เท่ากับ 1,826 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1.1%) โดยกลุ่มบริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 6,781 ล้านบาท เติบโต 8.7% จากช่วงเดียวกันของปี 2566 จากรายได้ค่าธรรมเนียม และหนี้สูญได้รับคืนที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 4,497 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.8% ส่วนหนึ่งจากค่าธรรมเนียม และบริการที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณธุรกรรมที่ขยายตัว  รวมถึงผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) สูงขึ้น จากการตัดหนี้สูญ และการตั้งสำรองเพิ่มตามหลักความระมัดระวัง เพื่อรองรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งต้นทุนทางการเงินที่ปรับขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงิน”

​“อย่างไรก็ตาม เคทีซียังเชื่อว่าด้วยแผนกลยุทธ์ต่างๆ จะเอื้อประโยชน์ให้เคทีซีสามารถบรรลุเป้าหมายหลักในปี 2567 อันได้แก่ การสร้างมูลค่ากำไรสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการรักษาคุณภาพพอร์ตให้อัตราส่วนของหนี้ด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ โดยจะมุ่งสร้างฐานลูกค้าบัตรเครดิตในกลุ่มที่มีรายได้สูงขึ้น การคัดกรองคุณภาพพอร์ตทั้งบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล อีกทั้งการเพิ่มช่องทางรับสมัครสมาชิกผ่านจุดบริการใหม่ ๆ อย่างเคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน (One Stop Service) ที่กระจายในพื้นที่กลุ่มเป้าหมาย จะช่วยสร้างการตระหนักรู้ในผลิตภัณฑ์ และสร้างโอกาสในการเข้าถึงผู้ต้องการสินเชื่อได้มาก ขึ้น” 

เคทีซียังได้เสนอแนวทางต่าง ๆ ในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่เหมาะสมและเป็นธรรม โดยในครึ่งแรกของปี 2567 พบว่าลูกหนี้บัตรเครดิตส่วนใหญ่ของบริษัทสามารถจ่ายชำระขั้นต่ำที่ 8% ได้ มีเพียงลูกหนี้ส่วนน้อยที่ประสบปัญหา นอกจากนี้ยังมีมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ระยะยาวในแต่ละผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สกช. 7/2566 เรื่อง การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending: RL) ดังนี้ บัตรเครดิตสามารถเปลี่ยนเป็นหนี้เงินกู้สินเชื่อระยะยาวนาน 48 เดือน บัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” (KTC PROUD) สามารถผ่อนผันการชำระหนี้เป็นระยะเวลา 60 เดือน สินเชื่ออเนกประสงค์ “เคทีซี แคช” (KTC CASH) ปรับลดค่างวด 30% นาน 3 รอบบัญชี/งวด  สินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” สำหรับรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ และรถบิ๊กไบค์ สามารถปรับลดค่างวด 30% นาน 3 รอบบัญชี/งวด  หรือขยายระยะเวลาผ่อนค่างวดเป็น 60 เดือน หรือ 72 เดือน หรือ 84 เดือน ขึ้นอยู่กับประเภทของรถที่มาขอสินเชื่อ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน เว็บไซด์KTC   และสำหรับโครงการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง (Severe Persistent Debt: SPD)นั้น ในไตรมาส 2/2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลา 3 เดือนแรกนับตั้งแต่เกณฑ์ SPD เริ่มมีผลบังคับใช้ มีลูกหนี้เคทีซีที่สมัครเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือ คิดเป็นผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยจริง 1.3% ของผลกระทบที่เคยประมาณการไว้ (18 ล้านบาทต่อเดือน) หากลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์ทุกรายเข้าร่วมโครงการ”

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 เคทีซีมีฐานสมาชิกรวม3,448,530 บัญชี เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวม 105,803 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 0.2%)อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวม(NPL) 1.97% แบ่งเป็นสมาชิกบัตรเครดิต 2,717,213บัตร (เพิ่มขึ้น 4.3%) เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิต และดอกเบี้ยค้างรับรวม 69,253 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 0.9%) NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.42% ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรสำหรับงวดไตรมาส 2/2567 มูลค่า 70,949 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 11.5%) สมาชิกสินเชื่อบุคคลเคทีซี 731,317 บัญชี (ลดลง 2.9%) เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สินเชื่อบุคคลและดอกเบี้ยค้างรับรวม 34,028 ล้านบาท(เพิ่มขึ้น 1.9%) NPL สินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 2.21% โดยมียอดสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” จำนวน 2,699 ล้านบาท (ขยายตัว 62.8%) ในส่วนของลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อในบริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด (KTBL) มีมูลค่า 2,523 ล้านบาท (ลดลง 28.7%) ซึ่งเคทีซีได้หยุดปล่อยสินเชื่อประเภทนี้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 และปัจจุบันมุ่งเน้นการติดตามหนี้และบริหารจัดการคุณภาพพอร์ตสินเชื่อที่มีอยู่

ในส่วนของแหล่งเงินทุน กลุ่มบริษัทมีเงินกู้ยืมทั้งสิ้น 61,965 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้น(รวมส่วนของเงินกู้ยืมและหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระภายใน 1 ปี) 28.0% และเงินกู้ยืมระยะยาว 72.0% อัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 1.97 เท่า ลดลงเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ 2.18เท่า ซึ่งต่ำกว่าภาระผูกพัน (Debt Covenants) ที่กำหนดไว้ 10 เท่า และมีวงเงินกู้ยืมคงเหลือ (Available Credit Line) 28,171 ล้านบาท (ระยะสั้น 22,671 ล้านบาท และระยะยาว 5,500 ล้านบาท) โดยกลุ่มบริษัทมีหุ้นกู้ และเงินกู้ยืมที่จะครบกำหนดในครึ่งหลังของปี 2567 ทั้งสิ้น 7,845 ล้านบาท

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์