เสริมพอร์ตหุ้นด้วยอนุพันธ์ ช่วยสร้างโอกาสในหลากหลายสภาวะการลงทุน
การใช้เครื่องมือเช่นอนุพันธ์เสริมในการบริหารพอร์ตหุ้น เป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้ผู้ลงทุนมีกลยุทธ์การลงทุนที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ทั้งในด้านการปรับน้ำหนักการลงทุน จัดการความเสี่ยงในตลาดขาลง
ในสภาวะตลาดหุ้นที่มีความผันผวนหรือตลาดที่ไม่ใช่ตลาดขาขึ้น การบริหารพอร์ตหุ้นให้ได้ผลตอบแทนตามที่คาดหวังเป็นเรื่องที่ท้าทาย การลงทุนอาจต้องอาศัยความระมัดระวังมากขึ้น และกลยุทธ์ที่มักได้รับความนิยมคือการปรับพอร์ตและเลือกลงทุนในหุ้นที่มีศักยภาพหรือหุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่ควรเป็น (undervalue) อย่างไรก็ตาม มีอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจคือ การนำ “อนุพันธ์“ มาเสริมพอร์ตหุ้น อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึงอนุพันธ์ ผู้ที่ไม่เคยซื้อขายอนุพันธ์มาก่อนอาจรู้สึกกลัว ด้วยมองว่าเป็นสินค้าที่ซับซ้อนและเข้าใจยาก ทำให้มองข้ามข้อดีของสินค้าที่ช่วยสร้างความยืดหยุ่นในการสร้างกลยุทธ์การซื้อขายและสามาถนำมาใช้บริหารจัดการพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยงหรือกระจายการลงทุนได้ ในบทความนี้จึงจะอธิบายแนวคิดของการใช้อนุพันธ์มาช่วยเสริมพอร์ตลงทุนสำหรับผู้เริ่มต้น
ในช่วงตลาดหุ้นขาลง ผู้ลงทุนอาจกังวลว่าหุ้นในพอร์ตจะมีมูลค่าลดลง จึงจำเป็นต้องปรับพอร์ต หรืออาจต้องขายหุ้นออกไปเพื่อป้องกันการขาดทุน ซึ่งในบางครั้งหุ้นที่ถือครองอยู่อาจจะเป็นหุ้นที่ผู้ลงทุนยังไม่ประสงค์ที่จะขายออกไปด้วยราคาหรือเหตุผลอื่นๆ ดังนั้น อีกทางเลือกที่น่าพิจารณาคือ การขายฟิวเจอร์สเช่น SET50 Futures แทนการขายหุ้นในพอร์ตออกไป ซึ่งการขาย SET50 Futures (สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับดัชนีราคา SET50) จะช่วยสร้างผลกำไรให้กับพอร์ตเมื่อดัชนีปรับลดลง และผลกำไรดังกล่าวนี้จะชดเชยกับมูลค่าพอร์ตหุ้นที่ลดลง ทำให้ในภาพรวมแล้ว พอร์ตผู้ลงทุนจะไม่ได้รับผลกระทบจากตลาดขาลงมากนัก ตัวอย่างเช่น หากมีหุ้นในพอร์ตมูลค่า 500,000 บาท และคาดการณ์ว่าตลาดจะปรับตัวลง จึงต้องการป้องกันความเสี่ยงจากราคาหุ้นที่จะลดลง ในกรณีนี้ หากชอร์ต SET50 Futures ที่ระดับดัชนี ณ ขณะนั้น ซึ่งสมมติให้เท่ากับ 850 จุดจำนวน 3 สัญญา ต่อมา หากดัชนีปรับตัวลงมาประมาณ 5% ทำให้ราคา SET50 Futures ลดลงเหลือ 810 จุดทำให้ฟิวเจอร์สได้กำไร 40 จุด หรือ 24,000 บาท (40 จุด x 200 บาทต่อจุด x 3 สัญญา) ในขณะที่หุ้นจะมีมูลค่าลดลง 25,000 บาท ดังนั้น พอร์ตลงทุนที่มีทั้งหุ้นและฟิวเจอร์สในภาพรวมจะมีมูลค่าลดลงเล็กน้อยประมาณ 1,000 บาท ซึ่งลดลงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับพอร์ตลงทุนที่มีหุ้นอย่างเดียว
แนวคิดข้างต้นนั้น อาจมาปรับใช้กับหุ้นรายตัวได้เช่นกัน เช่น หากถือหุ้น ABC อยู่ และคาดว่าหุ้นน่าจะมีราคาลดลง แต่ยังไม่อยากขายหุ้นทิ้งเพราะต้องการรอรับเงินปันผล ก็สามารถขาย ABC Futures เพื่อป้องกันผลขาดทุนจากราคาหุ้นที่ปรับลดลง โดยที่ยังถือหุ้นอยู่เพื่อรอรับเงินปันผลตามที่ต้องการ ในทางกลับกัน หากสนใจเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นใดหุ้นหนึ่ง ก็สามารถใช้ Stock Futures ที่อ้างอิงกับหุ้นนั้นๆ เพิ่มน้ำหนักการลงทุนแทนการซื้อหุ้นโดยตรงก็ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม อนุพันธ์มีลักษณะแตกต่างจากหุ้นหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการที่อนุพันธ์มีลักษณะเป็นสัญญา มีอายุจำกัด ใช้เงินลงทุนเป็นหลักประกันหรือที่เรียกว่ามาร์จิ้นประมาณ 5-20% ของมูลค่าสัญญาเท่านั้น โดยไม่ต้องจ่ายเงินทั้งจำนวน แต่ต้องมีการคำนวณความเพียงพอของเงินประกันทุกวัน กล่าวคือจะมีการประเมินกำไรขาดทุนของอนุพันธ์ที่ถือครองทุกวัน หากขาดทุนจนเงินประกันที่มีไม่เพียงพอ ก็จะมีข้อกำหนดให้ต้องนำเงินมาเพิ่มเติม ดังนั้น การจะเริ่มซื้อขายอนุพันธ์ ผู้ลงทุนจึงควรจะต้องศึกษากลไกและความเสี่ยงให้เข้าใจก่อน ในช่วงเริ่มต้น ผู้ลงทุนอาจจะเริ่มซื้อขายในปริมาณไม่มาก โดยอาจใช้เสริมพอร์ตเพียงบางส่วนของมูลค่าการลงทุนโดยรวม และเมื่อเข้าใจถึงกลไกและความเสี่ยงดีแล้ว จึงค่อยเพิ่มระดับการลงทุนในอนาคต
จะเห็นได้ว่า การใช้เครื่องมือเช่นอนุพันธ์เสริมในการบริหารพอร์ตหุ้น เป็นอีกวิธีที่จะช่วยให้ผู้ลงทุนมีกลยุทธ์การลงทุนที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ทั้งในด้านการปรับน้ำหนักการลงทุน จัดการความเสี่ยงในตลาดขาลง ซึ่งปัจจุบันการซื้อขายอนุพันธ์สามารถทำได้ผ่านแอปพลิเคชันเดียวกับที่ใช้ในการซื้อขายหุ้น ผู้ลงทุนในหุ้นจึงสามารถใช้อนุพันธ์มาเสริมพอร์ตลงทุนได้สะดวก อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดและอาจทดลองเริ่มต้นด้วย simulation เพื่อให้เข้าใจกลไกก่อนจะเริ่มซื้อขายจริง ผู้สนใจสามารถศึกษาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทุนในอนุพันธ์ได้ที่ www.setinvestnow.com หรือ www.tfex.co.th หรือติดต่อโบรกเกอร์ที่ท่านใช้บริการ