เฉลยสาเหตุตลาด ‘หุ้นญี่ปุ่น’ ดิ่งหนักสุดในประวัติศาสตร์
วานนี้ (5 ส.ค.) ดัชนีนิกเกอิ 225 ตลาดหุ้นโตเกียว ปิดตลาดที่ระดับ 31,458.42 จุด ร่วงลง 4,451.28 จุด หรือ -12.40% ถือเป็น “วันจันทร์ทมิฬ” (Black Monday) หุ้นญี่ปุ่น ร่วงหนักที่สุดในประวัติศาสตร์ เกินกว่า 4,000 จุดเป็นครั้งแรก
นับว่า เป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบ 37 ปี หรือตั้งแต่ปี 2530 กับเหตุการณ์ Black Monday 1987 ซึ่งครั้งนั้นดัชนีนิกเกอิร่วงลงวันเดียว 14.9% หรือลดลง 3,836.48 จุด
โดยแรงเทขายอย่างหนักในตลาดหุ้นญี่ปุ่นและในหลายประเทศทั่วเอเชีย มีขึ้นเนื่องจากข้อมูลแรงงานที่อ่อนแอของสหรัฐส่งผลให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะ “เศรษฐกิจถดถอย” (Recession) ขณะที่ญี่ปุ่นกลับมีแนวโน้ม “ขึ้นดอกเบี้ย” เพิ่มเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ แบงก์ชาติญี่ปุ่นขึ้นดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 0.25% ส่งผลให้ตลาดหุ้นโตเกียวร่วงแรงกว่าที่อื่น
นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยลบจากการ “แข็งค่าของเงินเยน” หลังค่าเงินดอลลาร์ร่วงลงเกือบ 5 เยน แตะกรอบบนระดับ 141 เยน เป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน คาดการณ์ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างมากเดือนก.ย.
“ค่าเงินเยนญี่ปุ่น” ยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงเข้าสินทรัพย์ปลอดภัย กดดัน “ตลาดหุ้นญี่ปุ่น” อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์ทั่วโลก มองว่า “ตลาดหุ้นญี่ปุ่น กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านยังน่าสนใจ แต่รอปัจจัยหนุนอีกครั้ง”
“โกลด์แมน แซคส์” มองขาขึ้นหุ้นญี่ปุ่นได้มาถึงระยะเปลี่ยนผ่านแล้ว แต่แนวโน้มเชิงบวกในตลาดไม่ได้ถูกทำลายไปจะเห็นการปรับน้ำหนักลงทุนในหุ้นจากหมวดธุรกิจหนึ่งไปยังอีกหมวดธุรกิจหนึ่ง (Sector Rotation) นักลงทุนจะจัดสรรเงินลงทุนรอบใหม่ในเซกเตอร์ต่าง ๆ ในตลาดหุ้น “หุ้นบริษัทขนาดเล็กและกลาง” กลับมาเป็นที่สนใจครั้งแรกรอบ 3 ปี
ฝั่ง "Nomura" คาดว่า ช่วงจุดเปลี่ยนผ่านของดอกเบี้ยขาขึ้นอ่อนๆ ของญี่ปุ่น อาจกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนและอาจหน่วงตลาดหุ้นญี่ปุ่นเคลื่อนไหวทรงตัว จนถึง Sideway up หลังจากที่ทำ Outperform มา 3 ปีติดต่อกันนับตั้งแต่หลังโควิดแล้ว
ด้าน “โบรกเกอร์ของญี่ปุ่นหลายแห่ง” มองว่า ดัชนีนิกเกอิเริ่มส่งสัญญาณขายมากเกินไปในระยะสั้น และนักลงทุนอาจรับรู้ปัจจัยลบดังกล่าวไปแล้ว หากเป็นเช่นนั้นจริง อาจกลับเป็นผลดี เพราะเพิ่มโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยมากขึ้นปีนี้ช่วยหนุนตลาดหุ้นในที่สุด”
อย่างไรก็ตาม “หุ้นญี่ปุ่นหมดรอบขาขึ้นแล้วหรือยัง?” ในฝั่งมุมมองนักวิเคราะห์ไทย “ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์” CEO Jitta Wealth มองว่า “ตลาดหุ้นญี่ปุ่น” เป็นตลาดประเทศพัฒนาแล้ว ที่ทำผลตอบแทน Outperform อยู่อันดับต้นๆ ของโลก เมือเทียบต้นปีตลาดหุ้นญี่ปุ่นเพิ่งทำ All Time High ในรอบ 34 ปีมาเอง
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังน่าสนใจลงทุนอยู่ แม้ญี่ปุ่นกำลังจะปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ก็เป็นการค่อยเป็นค่อยไปเพื่อเข้าสู่ภาวะปกติ และเงินเยนแข็งค่าขึ้น ทำให้ตลาดหุ้นผันผวนช่วงรอผลประชุม BOJ อีกทั้ง ยังมีดีมานด์หรือแรงซื้อจากชาวญี่ปุ่น และผลประกอบการบริษัทญี่ปุ่นมีปัจจัยหนุนการโต เน้นเรื่องธรรมาภิบาลมากขึ้น ส่งผลดีระยะยาวให้หุ้นญี่ปุ่นยังมี Upside
สุดท้ายแรงซื้อนักลงทุนต่างชาติปีนี้ตลาดเก็งว่า “Warren Buffett” จะลงทุนซื้อ “หุ้นญี่ปุ่น” เพิ่ม หลังกองทุนใหญ่ Berkshire Hathaway ของคุณปู่ ยื่นเอกสารขอขายพันธบัตรญี่ปุ่นเพื่อแลกเงินสด
“ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ.กรุงศรี แนะนำว่า หากนักลงทุน ยังไม่มั่นใจถึงทิศาทางตลาดอาจรอดูสถานการณ์หรือรอให้ตลาดปรับตัวลงมาอยู่ในจุดที่สามารถคาดหวังผลตอบแทนได้มากขึ้นก่อนตัดสินใจเข้าลงทุน รอปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลบวกหรือผลลบต่อตลาด นักลงทุนจึงควรติดตามและศึกษาข้อมูลอย่างใกล้ชิด
ผู้จัดการกองทุน บลจ.เกียรตินาคินภัทร มองว่า ปัจจุบันนี้ เรายังคงมุมมอง Underweight การลงทุนตลาดหุ้นญี่ปุ่นเนื่องจากปัจจัยบวกที่เคยผลักดันตลาดในช่วงปี 2566 ได้แผ่วลง ได้แก่
1) ค่าเงินเยนที่ผันผวนและมีแนวโน้มแข็งค่าในระยะสั้นจะกดดันปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียน
2) การปฏิรูปธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนที่แม้ว่าจะยังคงดำเนินต่อ แต่จำนวนบริษัทที่เข้าร่วมโครงการลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ valuation ได้สะท้อนปัจจัยบวกนี้ไปมากก่อนหน้านี้แล้ว
3) การบริโภคภายในประเทศยังดูไม่สดใส แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อและค่าจ้างจะปรับเพิ่มขึ้น สวนทางกับความมั่นใจของผู้บริโภคที่กลับลดลง
อย่างไรก็ดี เราเห็นว่าการปรับฐานของตลาดหุ้นญี่ปุ่นรอบนี้นี้ดูรุนแรงเกินไป โดยเป็นระดับการให้ผลตอบแทนขาดทุนรายวันที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1987 (เหตุการณ์ Black Monday ที่เจอสภาวะตลาดหุ้นทั่วโลกลดลงแรงในเพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆที่) และคิดเป็นระดับเกือบ -10SD เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนรายวันในอดีต ซึ่งอาจจะเจอการเด้งในระยะสั้นได้ (Technical rebound)
แนะนำให้นักลงทุนหลีกเลี่ยง panic selling (การขายเวลาตลาดหุ้นลดแรงในช่วงสั้น) เพราะการทำ market timing นั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก โดยถ้าหากเราเห็นสัญญาณที่ความผันผวนของค่าเงินเริ่มลดลง และตลาดเห็นความชัดเจนที่เพิ่มขึ้นของการเติบโตเศรษฐกิจในภาพรวมนั้น เรามองว่าการฟื้นตัวของตลาดก็จะเข้าสู่ภาวะปกติและให้ผลตอบแทนที่ล้อไปกับการเติบโตกำไรได้