BSRC พลิกกำไร 221 ล้านใน Q2/67 โรงกลั่นศรีราชาผลิตสูงสุดเป็นประวัติการณ์

BSRC พลิกกำไร 221 ล้านใน Q2/67 โรงกลั่นศรีราชาผลิตสูงสุดเป็นประวัติการณ์

"บางจาก ศรีราชา" พลิกมีกำไร 221 ล้านบาทใน Q2/67 จากงวดเดียวกันปีก่อนติดลบ 1,348 ล้านบาท รายได้รวมโต 28% โรงกลั่นน้ำมันศรีราชาบรรลุอัตราการผลิตสูงสุดเป็นประวัติการณ์รายไตรมาส ผนวกค่าการกลั่นสูงขึ้นและรับรู้ผลกำไรตราสารอนุพันธ์

นางมัทนา สุตธรรม ผู้บริหารสูงสุดทางสายการเงินและบัญชี บริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) (BSRC) แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า งบการเงินไตรมาสที่ 2/2567 กำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทใหญ่เท่ากับ 221.34 ล้านบาท พลิกบวกจากไตรมาสที่ 2/2566 ที่ขาดทุน 1,348.33 ล้านบาท

รวม 6 เดือนแรกปี 2567 เท่ากับ 1,076.33 ล้านบาท พลิกบวกจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 1,871.93 ล้านบาท
 

คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการระบุว่า ในไตรมาส 2 ปี 2567 โรงกลั่นน้ำมันศรีราชาบรรลุอัตราการผลิตสูงสุดเป็นประวัติการณ์รายไตรมาสที่ 154 พันบาร์เรลต่อวันเพื่อประสานประโยชน์ร่วมกันระหว่างบริษัทในกลุ่มบริษัทบางจาก และจัดส่งผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงให้แก่ สถานีบริการน้ำมันบางจากเพื่อสนับสนุนกลุ่มบริษัทบางจากในช่วงโรงกลั่นบางจากปิดซ่อมบำรุง

อีกทั้ง ณ ปลายเดือน มิถุนายน ปี 2567 บริษัทสามารถเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์สถานีบริการน้ำมันเป็นแบรนด์บางจากเสร็จสิ้นทั้งหมด 488 แห่ง ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าเป้าหมายที่บริษัทวางไว้ และในงวด 6 เดือน ปี 2567 น้ำมันเดินเรือสมุทรบรรลุยอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 166 ล้านลิตร ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสในการทำกำไรสูง
 

ผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2567 มีรายได้รวมอยู่ที่ 66,048 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14,376 ล้านบาท จากไตรมาส 2 ปี 2566 จากปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น

BSRC พลิกกำไร 221 ล้านใน Q2/67 โรงกลั่นศรีราชาผลิตสูงสุดเป็นประวัติการณ์
บริษัทมีผลกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 2,139 ล้านบาท เป็นผลมาจากค่าการกลั่นที่ปรับตัวสูงขึ้นและการรับรู้ผลกำไรจากตราสารอนุพันธ์ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 145 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักมาจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวสูงขึ้นและการปรับโครงสร้างเงินกู้ของบริษัทมาเป็นแบบระยะยาว

รายได้รวมในงวด 6 เดือน ปี 2567 อยู่ที่ 129,631 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 18,232 ล้านบาท จากปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น บริษัทมีผลกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่1,660 ล้านบาท สนับสนุนด้วยผลกระทบเชิงบวกของสินค้าคงเหลือ ร่วมกับค่าการกลั่นที่ปรับตัวสูงขึ้นและค่าใช้จ่ายในการขายที่ลดลง ในส่วนของต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 281 ล้านบาท 

โดยมีปัจจัยหลักมาจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวสูงขึ้นร่วมกับการปรับโครงสร้างเงินกู้ของบริษัทมาเป็นแบบระยะยาว และยอดเงินกู้ในระหว่างไตรมาสที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อรองรับอัตราการผลิตของโรงกลั่นที่เพิ่มขึ้น