IVL งบ Q2/67 พลิกขาดทุน 2.3 หมื่นล้าน ด้อยค่าสินทรัพย์ถาวรกดดัน
"อินโดรามา เวนเจอร์ส" เผยรายได้ Q2/67 ขยายตัว ทว่าบรรทัดสุดท้ายขาดทุนพลิกขาดทุนราว 2.3 หมื่นล้านบาท จากบันทึกด้อยค่าสินทรัพย์ถาวร ระบุจากนี้ไม่มีตั้งด้อยค่าเพิ่มในจำนวนที่มีนัยแล้ว ทั้งจะส่งผลดีต่อต้นทุน Q3/67 ชัดเจน พร้อมมองครึ่งปีหลัง 67 ยอดเติบโตทุกกลุ่มธุรกิจ
นายโซวิค รอย เชาว์ดูรี่ เลขานุการบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) (IVL) แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า งบการเงินไตรมาสที่ 2/2567 ขาดทุนส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทใหญ่เท่ากับ 22,995.72 ล้านบาท จากไตรมาสที่ 2/2566 ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทใหญ่มีกำไร 411.13 ล้านบาท
รวม 6 เดือนแรกปี 2567 ขาดทุนเท่ากับ 21,862.73 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำกำไรได้ 1,434.52 ล้านบาท
คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการระบุว่า IVL รายงานรายได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ที่ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเติบโต 5% จากไตรมาสก่อนหน้าและทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา
เป็นผลมาจากการเติบโตของปริมาณยอดขายเพิ่ม 3% จากไตรมาสก่อน และ 1% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา ทำให้ยอดขายอยู่ที่ 3.64 ล้านตันในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 บริษัทมี Adjusted EBITDA เท่ากับ 370 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโต 1% จากไตรมาสก่อนหน้าแต่ลดลง 11% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา
สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกนี้ยังคงได้รับผลกระทบจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่ยังมีต่อเนื่องและสภาวะอัตราดอกเบี้ยที่สูงในท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตช้าโดยเฉพาะในจีนและสหรัฐอเมริกาซึ่งสะท้อนจากตัวเลขดัชนีภาคการผลิต PMI ที่อ่อนแอ
รอบระยะเวลาครึ่งปีแรกของปี 2567 ปริมาณยอดขายทั้งกลุ่มธุรกิจเติบโต 2% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา ขณะที่รายได้และ Adjusted EBITDA ลดลง 3% และ 6% ตามลำดับ ยอดขายที่เติบโตในทุกกลุ่มธุรกิจ
และในไตรมาสนี้ ฝ่ายบริหารได้ดำเนินการบันทึกการด้อยค่าและสำรองค่าใช้จ่ายรวม 666 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (รายการที่ไม่ใช่เงินสด จำนวน 543 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) จากการที่บริษัทกำลังปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อมของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป การจัดการดำเนินการดังกล่าวนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนของสินทรัพย์
สำหรับส่วนที่ยังคงมีการดำเนินงานและปฏิบัติการต่อไป บริษัทเชื่อว่าในการปรับปรุงสินทรัพย์ที่ยังเหลืออยู่จะไม่ทำให้เกิดการด้อยค่าที่เป็นสาระสำคัญในอนาคต
การปรับปรุงสินทรัพย์และการตั้งด้อยค่าที่ดำเนินการในไตรมาส 2 ปี 2567 นับเป็นการเตรียมทางให้เกิดพัฒนาการในการดำเนินงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางการเงินในระยะถัดไป บริษัทประเมินว่าจะสามารถเริ่มลดต้นทุนคงที่ลงได้ในไตรมาส 3 ปี 2567 การประหยัดต้นทุนคงที่จำนวน 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะเริ่มเห็นผลในปี 2568 ซึ่งจะทำให้ EBITDA ดีขึ้นประมาณ 150-160 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
มุมมองระยะถัดไปในครึ่งปีหลัง 2567 บริษัทคาดว่าปริมาณยอดขายจะเติบโตต่อไปในทุกกลุ่มธุรกิจ จากการคลี่คลายของสภาวะการเร่งลดสต๊อกระบายสินค้า (destocking) อย่างไรก็ตาม ระดับอัตราส่วนต่างกำไรมาตรฐานของอุตสาหกรรม (benchmark spreads) ยังคงได้รับความกดดัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจ PET และ Polyester Fibers