ประชุมหุ้นกู้ EA วุ่น รายย่อยบอยคอต ไม่มาประชุม เลื่อนนัดใหม่ 23 ส.ค.นี้

ประชุมหุ้นกู้ EA วุ่น รายย่อยบอยคอต ไม่มาประชุม เลื่อนนัดใหม่ 23 ส.ค.นี้

ประชุมหุ้นกู้ EA249A โดนเท! หลัง “รายย่อย” มาน้อยต่ำกว่า66% ไม่ครบองค์ประชุม ด้าน SCB ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เลื่อนประชุมครั้งหน้า 23 ส.ค.นี้

รายงานข่าวกล่าวว่า ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ EA249A วุ่นวาย หลังผู้ถือหน่วย "รายย่อย" เข้าประชุมไม่ถึง 66% ตามข้อกำหนด จึงไม่ครบองค์ประชุม ทางด้าน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้รุ่นดังกล่าว แจ้งเลื่อนประชุมฯ ครั้งหน้า เป็น 23 ส.ค.67 นี้ 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในการประชุมหุ้นกู้ EA249A ในช่วงเช้าวันนี้ ถือว่าเป็นไปตามที่ตลาดคาดก่อนหน้านี้เพราะว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ EA รุ่นนี้  เป็นนักลงทุนรายย่อย รู้สึกไม่พอใจกับการทำหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งส่งหนังสือเรียกร้องไปก่อนหน้านี้แล้ว  แต่กลับถูกนิ่งเฉย และยังรู้สึกไม่แฟร์ที่ เจ้าหนี้รายใหญ่ชิงปรับโครงสร้างไปก่อน

ก่อนหน้านี้ กลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ได้ยื่นหนังสือถึงธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้รุ่น EA249A, EA269A และ EA289A และธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ในฐานะผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้รุ่น EA248A, EA257A, EA259A, EA261A, EA279A, EA281A, EA297A, EA298A,EA299A, EA301A, EA329A และ EA331A เพื่อขอให้พิจารณาข้อเสนอ และทบทวนการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และผู้ออกหุ้นกู้ EA ว่าถูกต้องตามข้อกำหนดสิทธิหรือไม่

โดยกลุ่มผู้ถือหุ้นเรียกร้องให้ SCB และ KKP ปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ EA ทุกรุ่นอย่างเต็มที่ เพราะ EA เข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้มีมูลค่าเกือบ 10,000 ล้านบาท กับ บล.แอสเซท พลัส ธนาคาร และสถาบันการเงิน และปรับโครงสร้างหนี้ตั๋วเงินรุ่น EA284723A (400 ล้านบาท) และEA24801A (300 ล้านบาท) ไปแล้วทั้งที่ยังไม่ครบกำหนดชำระ (9 ส.ค.67)

นอกจากนั้น ในการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าว EA ยังเสนอให้หลักประกันสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากภาครัฐ และเสนอเพิ่มดอกเบี้ยจากเดิมให้เป็นไม่น้อยกว่า 5% ต่อปี รวมทั้งยินยอมที่จะทยอยชำระคืนหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นงวดรายเดือนภายในกำหนดระยะเวลา 36 เดือน การกระทำดังกล่าวถือว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นกู้ทุกรุ่นหรือไม่

“การที่ EA ได้เข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับแอสเซท พลัส ธนาคาร สถาบันการเงินอื่น อีกทั้งจะเรียกประชุมเพื่อเสนอหลักประกันให้กับผู้ถือหุ้นกู้เฉพาะ 248A และ 249A เป็นเรื่องที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดสิทธิหรือไม่ ถือเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม เป็นการรลิดรอนสิทธิผู้ถือหุ้นกู้รุ่นอื่นๆ ที่ยังไม่ครบกำหนดหรือไม่” จดหมายของผู้ถือหุ้นกู้ ระบุ

ดังนั้น กลุ่มผู้ถือหุ้นกู้จึงเรียกร้องให้ SCB และ KKP เรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ทุกรุ่นภายในวันที่ 30 ส.ค.67 เพื่อรับทราบรายละเอียดเงื่อนไขข้อเสนอไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้สามารถตัดสินใจปกป้องผลประโยชน์ของตนเองอย่างเป็นธรรม โดยให้ยกเลิกการประชุมผู้ถือหุ้นกู้รุ่น 249A ในวันที่ 14 ส.ค.67 นี้ออกไปก่อน

รวมถึงให้แก้ไขข้อตกลงกับ บล.แอสเซท พลัส ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตั๋วเงิน โดยกำหนดให้ผู้ถือหุ้นกู้ทุกรุ่นเป็นเจ้าหนี้ในลำดับเดียวกัน คือ ลำดับที่ 1 พร้อมทั้งนำกระแสเงินสดจากรายได้ค่าไฟฟ้าที่ขายให้รัฐบาลมาเฉลี่ยแบ่งจ่ายให้เจ้าหนี้หุ้นกู้ตามสัดส่วนที่เหมาะสมเท่าเทียมกับเจ้าหนี้รายอื่น และขอให้ทาง EA นำหลักประกันมาเพิ่ม เพราะปัจจุบันมียอดหนี้หุ้นกู้คงค้างทุกรุ่นเป็นจำนวนมากกว่า 30,000 ล้านบาท

นอกจากนั้น ยังเห็นว่าข้อเสนอการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก 1.80-1.89% แลกกับการขยายเวลาไถ่ถอนหุ้นกู้ ไม่ได้เป็นไปตามข้อกำหนดที่ระบุว่าอัตราดอกเบี้ยผิดนัดเท่ากับอัตราดอกเบี้ยบวก 2% ขณะที่ EA ถูกปรับลดอันดับเครดิตจาก A- เป็น BB+ ถือเป็นหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูง อัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมที่เสนอมาถูกต้อง และเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นกู้หรือไม่

ดังนั้น ขอให้ SCB และ KKP แสดงเอกสารการเจรจายืดหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้านี้ทุกราย และแก้ไขเงื่อนไขที่จะเสนอให้ผู้ถือหุ้นกู้พิจารณาอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการเพิ่มหลักประกัน การทยอยคืนเงินต้น และเสนออัตราดอกเบี้ยใหม่ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดสิทธิ

“โดยเฉพาะ SCB ที่สวมหมวกหลายใบในฐานะเจ้าหนี้ของ EA ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ EA ผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ EA และนายทะเบียนหุ้นกู้ EA ถือว่าเป็น Conflict of Interest หรือไม่ สามารถชี้แจงได้อย่างโปร่งใสหรือไม่ เพราะเหตุใดผู้ถือหุ้นกู้จึงไม่ได้สิทธิในหลักประกันหนี้ในลำดับที่เท่าเทียมกับเจ้าหนี้ธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์ ท่านได้เจรจาต่อรองอย่างเต็มที่แล้วหรือไม่” ผู้ถือหุ้นกู้ EA ตั้งคำถาม

 

อย่างไรก็ดี การประชุมผู้ถือหุ้นกู้รุ่น EA249A ในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 เวลา 10.00 น. ในรูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) โดยมีวาระการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ดังนี้

วาระที่ 1 พิจารณาอนุมัติ (ก) การขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ไปอีก 9 เดือน 1 วัน โดยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัด และการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก 1.80% ต่อปี จากเดิมอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.20% ต่อปี เป็น 5% ต่อปี (นับตั้งแต่วันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้เดิมจนถึงวันครบ 9 เดือน 1 วันนับจากวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้เดิม) โดยจะชำระดอกเบี้ยซึ่งรวมถึงอัตราที่เพิ่มขึ้นทุก 6 เดือนนับจากวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้เดิม

และ (ข) การเพิ่มหลักประกันแก่หุ้นกู้ รวมทั้งการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ รวมถึงเอกสารอื่นใดที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

 

ทั้งนี้ สำหรับหุ้นกู้รุ่น EA249A มีวงเงินครบกำหนดไถ่ถอน 4,000 ล้านบาท ในวันที่ 29 ก.ย.2567 ซึ่งหุ้นกู้รุ่นนี้เจ้าหนี้เป็นนักลงทุนรายย่อย

โดยจากข้อมูลสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) พบว่าตั้งแต่ปี 2567-2576 ทาง EA จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดรวม 16 รุ่น มูลหนี้รวม 31,166 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • EA248A จำนวน 1,500 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 15 ส.ค.2567
  • EA249A จำนวน 4,000 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 29 ก.ย.2567
  • EA257A จำนวน 700 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 10 ก.ค.2568
  • EA259A จำนวน 1,250 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 8 ก.ย.2568
  • EA261A จำนวน 1,150 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 20 ม.ค.2569
  • EA269A จำนวน 3,095.70 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 29 ก.ย. 2569
  • EA260A จำนวน 3,000 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 16 ต.ค.2569
  • EA279A จำนวน 750 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 8 ก.ย.2570
  • EA281A จำนวน 2,000 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 20 ม.ค.2571
  • EA289A จำนวน 2,770.30 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 29 ก.ย. 2571
  • EA297A จำนวน 2,000 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 11 ก.ค.2571
  • EA298A จำนวน 2,000 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 15 ส.ค.2571
  • EA299A จำนวน 1,400 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 8 ก.ย.2571
  • EA301A จำนวน 1,000 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 20 ม.ค.2572
  • EA329A จำนวน 1,700 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 8 ก.ย.2575
  • EA331A จำนวน 2,850 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 20 ม.ค.2576

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์