‘หนี้ครัวเรือน’โจทย์ใหญ่รัฐบาล สมาคมTFPA หนุน‘คนไทย’วางแผนการเงิน
จากการแถลงแรกของ “แพรทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ย้ำความสำคัญของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจทั้งระดับโครงสร้าง ไปถึงปัญหาปากท้องของประชาชน ที่ยังติดกับดักหนี้ครัวเรือนในระดับสูงกว่า 90% ด้วยการเดินหน้า “การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน”
“คนไทยติดกับดักหนี้” แม้ปัญหานี้จะเป็นหนึ่งในโครงสร้างเศรษฐกิจจุดเล็กๆ ที่ท้าทายการแก้ปัญหาแต่หากสามารถช่วย “คนไทยปลดหนี้” ได้ยิ่งเร็วเท่าไหร่ ยิ่งส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวมเติบโตอย่างยั่งยืน
หนึ่งในกลไกสำคัญที่นับเป็น “ฟันเฟืองสนับสนุนรัฐบาล” การเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ช่วยคนไทยปลดหนี้ พร้อมๆ กับ ทำให้คนไทย ตื่นตัวเรื่องการวางแผนการเงิน ออมเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉิน และเพื่อสามารถเกษียณได้อย่างมีความสุขคือ “นักวางแผนการเงิน”
แน่นอนว่า “วิโรจน์ ตั้งเจริญ” นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย (TFPA) คนใหม่ ประกาศเดินหน้าภารกิจเปลี่ยน “Mindset” คนไทย ให้การวางแผนการเงินเป็นเรื่องของทุกคน “ยิ่งมีหนี้ แก้หนี้ไม่ออก ยิ่งมีเงินน้อย” ต้องเห็นความสำคัญ “วางแผนการเงินและเริ่มลงมือวางแผนการเงินอย่างจริงจัง” เพื่อเป้าหมายทางการเงินในระยะยาว
ด้วยมาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืนของธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ตั้งแต่สถาบันการเงินมีการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ รวมถึงการแก้หนี้ รวมหนี้ ถือว่าเป็น “จุดเริ่มต้น” ที่เดินมา “ถูกทาง” ทางสมาคมฯ เป็นหนึ่งในหน่วยงาน มีส่วนเข้าไป เป็นเทนด์เนอร์ ให้คำปรึกษาแนะนำวางแผนปลดหนี้
ควบคู่กับทางสมาคมฯ ต้องเร่งส่งเสริมให้ คนไทยทุกคน เห็นความสำคัญ วางแผนการเงินในทุกช่วงวัย เร่งผลักดันให้คนไทยมีฐานะการเงินที่มั่นคง ควบคู่กับการออมเงินเพียงพอใช้ในวัยเกษียณได้อย่างมีความสุข มุ่งเน้นการจัดกิจกรรมเพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนได้มีประสบการณ์การวางแผนการเงิน
“คนที่มีหนี้เยอะ แก้หนี้ไม่ออก มาขอรับคำปรึกษาซึ่งเราเป็นหนึ่งในกระบวนการแก้หนี้ตามมาตรการของธปท. อยากขยายวงการให้ความช่วยเหลือกว้างมากขึ้น หรือคนทั่วไป คนที่มีเงินน้อย มนุษย์เงินเดิน ไม่จำเป็นต้องมีเวลธ์มาก ก็มาขอรับคำปรึกษาได้ ด้วยค่าบริการต่ำมากและแปลงเป็นเงินบริจาคการกุศล เนื่องจากสมาคมฯ เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร”
"วิโรจน์“ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจบทบาทและหน้าที่นักวางแผนการเงิน จึงต้องเร่งสร้างการรับรู้ว่านักวางแผนการเงิน แตกต่างจากผู้ขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ เพราะนักวางแผนการเงินคือ มืออาชีพที่ให้คำแนะนำโดยมองภาพรวมทุกๆ ด้านของลูกค้า และให้คำแนะนำโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของลูกค้าเป็นหลัก จึงทำให้มั่นใจได้ว่าลูกค้าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเงินได้ดีขึ้นและยังช่วยให้ผู้รับคำปรึกษามีความสุขในการใช้ชีวิต
อีกหนึ่งภารกิจทางสมาคมฯ วางเป้าหมายสร้างนักวางแผนทางการเงิน CFP และที่ปรึกษาทางการเงิน AFPT ที่มีความรู้ ความสามารถ และจรรยาบรรณการประกอบวิชาชีพตามมาตรฐานสากล เพื่อให้บริการวางแผนการเงินแก่ประชาชนให้สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินและมีความมั่นคงทางการเงินระยะยาว คาดภายใน 4 ปีข้างหน้า เพิ่มนักวางแผนการเงิน CFP เป็น1,000 คน โดย 2 ปีแรก เพิ่มเป็น 800 คน
จากปัจจุบันมีนักวางแผนการเงิน CFP ของไทย อยู่ที่ 626 คน เปรียบเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย ยอมรับว่า ยังมี “จำนวนน้อยสุด” จากประชากรกว่า 70 ล้านคน ขณะที่มาเลเซียมีนักวางแผนการเงิน CFP 2,509 คน จากจำนวนประชากร 33.46 ล้านคน
ดังนั้น เป็นนโยบายเร่งด่วนที่สมาคมฯ ต้องเร่งผลิตนักวางแผนการเงิน และที่ปรึกษาการเงิน ที่มีคุณภาพ ในฐานะผู้ให้บริการวางแผนการเงินที่มีความเป็นมืออาชีพ น่าเชื่อถือ และไว้วางใจได้ เพื่อรองรับความต้องการใช้บริการวางแผนการเงินที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ในอีก 5 ปีข้างหน้า