ต่างชาติเดิมพันตลาดหุ้น ‘อาเซียน’ หวังสหรัฐลดดอกเบี้ย เงินเฟ้อชะลอตัว

ต่างชาติเดิมพันตลาดหุ้น ‘อาเซียน’ หวังสหรัฐลดดอกเบี้ย เงินเฟ้อชะลอตัว

นักลงทุนแห่เข้าตลาดหุ้น ‘อาเซียน’ หวังสหรัฐลดดอกเบี้ย และเงินเฟ้อชะลอตัว ดันตลาดหุ้น ‘มาเลเซีย - อินโดนีเซีย’ ทำนิวไฮ พร้อมดอลลาร์อ่อนค่าหนุนเศรษฐกิจในภูมิภาค รายงานเผยอนาคต ‘อาเซียน’ โตสวนทางสหรัฐ รับอานิสงส์สงครามการค้าจาก ‘จีน’

สำนักข่าวนิกเคอิเอเชีย รายงานว่า นักลงทุนเริ่มหันมาสนใจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน)ที่มีการเติบโตสูง เพื่อมองหาตลาดที่จะได้ประโยชน์จากภาวะเงินเฟ้อ จากความคาดหวังการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)

ตลาดหุ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดใหม่ตั้งแต่กลางเดือนส.ค. นำโดยดัชนี Jakarta Composite ของอินโดนีเซียที่แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันพุธที่ 21 ส.ค.67 ส่วนดัชนี Kuala Lumpur Composite ของมาเลเซียแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 4 ปี เมื่อวันอังคารที่ 20 ส.ค.67 

ตลาดหุ้นในภูมิภาคปรับตัวสูงขึ้นโดยได้รับแรงหนุนจากความคาดหวังว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย. โดย”เจอโรม พาวเวล” ประธานเฟด กล่าวเมื่อวันศุกร์ในการประชุมเศรษฐกิจประจำปีที่แจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ว่าความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นได้ลดลงแล้ว และกล่าวว่า "ถึงเวลาแล้วที่นโยบายจะต้องปรับตัว"

นอกจากนี้ ช่องว่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐ และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แคบลง โดยสกุลเงินในภูมิภาคแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์  โดยดัชนี ASEAN ที่อิงสกุลเงินดอลลาร์ของ MSCI ปรับตัวขึ้น 6% ในเดือนสิงหาคม นี้ จากผลรวมของราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้น และสกุลเงินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แข็งค่าขึ้น ในขณะที่ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้นเพียง 2%

‘มาเลเซีย’สปอตไลท์อาเซียน

พอล ชิว จาก Phillip Securities Research เผยว่านักลงทุนให้ความสนใจในหุ้นมาเลเซียเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

ธนาคารกลางมาเลเซียรายงานว่าเศรษฐกิจของมาเลเซียในช่วงไตรมาส 2 (เมษายน-มิถุนายน) เติบโตแบบก้าวกระโดด โดย GDP ขยายตัวสูงถึง 5.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบหลายไตรมาส และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้มาก

ขณะที่สกุลเงิน “ริงกิต”ของมาเลเซียแตะระดับสูงสุดในรอบ 16 เดือนเมื่อช่วงต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา

"ตลาดหุ้นอาเซียนที่มีผลงานดีที่สุดคือ มาเลเซีย โดยนักลงทุนมองบวกเกี่ยวกับการปฏิรูปโครงสร้างที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศในหลากหลายโครงการที่จะสามารถดึงดูดการลงทุนเข้าประเทศมากขึ้น เช่น ศูนย์ข้อมูล เขตเศรษฐกิจพิเศษ และโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่เพิ่มขึ้น" ชิว กล่าว 

‘อาเซียน’ โตสวนทางสหรัฐ รับอานิสงส์จาก’จีน’

จากรายงาน World Economic Outlook ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2568 จะมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ โดยการเติบโตของสหรัฐจะชะลอตัวลงเหลือ 1.9%  ในขณะที่ประเทศในเอเชียหลายประเทศกลับมีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่งโดยเฉพาะมาเลเซียที่คาดว่าจะเติบโต 4.4%, อินโดนีเซีย 5.1%, ฟิลิปปินส์ 6.2% และอินเดีย 6.5%

นอกจากนี้ เศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มสดใสในระยะยาวอีกด้วย  โดยผลสำรวจของ Angsana Council กับบริษัทที่ปรึกษา Bain & Co และธนาคารดีบีเอส คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของ 6 ประเทศหลักในอาเซียนจะเติบโตเฉลี่ย 5.1% ต่อปี ในช่วงปี 2567-2577 และผลสำรวจชี้ให้เห็นว่ากำลังการผลิต และการเติบโตทางเศรษฐกิจกำลังเคลื่อนย้ายจากจีนมายังภูมิภาคอาเซียนมากขึ้นเรื่อยๆ 

นอกจากแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่งแล้ว อาเซียนยังได้รับประโยชน์อย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลก ซึ่งเป็นผลมาจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีน และสหรัฐ 

ทั้งเรื่องภาษีนำเข้าที่สหรัฐกำหนดขึ้นสำหรับสินค้าจากจีน ทำให้การส่งออกของจีนไปยังสหรัฐหดตัวลงอย่างมาก ส่งผลให้มีการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน มาตั้งอยู่ในประเทศอาเซียนเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น ซึ่งมีความเป็นกลางทางภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้น และมีต้นทุนการผลิตที่แข่งขันได้

'บิ๊กเทค' ตบเท้าเข้าอาเซียน

จึงไม่แปลกใจที่ ประเทศในอาเซียนโดยเฉพาะอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกในการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น เช่น

  • อินโดนีเซีย เน้นการลงทุนในยานยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค
  • มาเลเซีย และสิงคโปร์ มุ่งเน้นไปที่อุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์และศูนย์ข้อมูล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานเทคโนโลยีโลก 

"อันวาร์ อิบราฮิม” นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ระบุว่ามาเลเซียเป็น "สถานที่ ที่เป็นกลาง และไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดมากที่สุด" สำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของมาเลเซียในการดึงดูดนักลงทุนในอุตสาหกรรมนี้

หลังจากนั้น บริษัทอินเทลยักษ์ใหญ่ด้านชิปของสหรัฐ ได้ประกาศแผนการลงทุนมูลค่า 30 พันล้านริงกิต (ประมาณ 2.3 แสนล้านบาท) ในมาเลเซีย เพื่อขยายโรงงานผลิต และพัฒนาเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ในระยะยาว 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา รวมทั้ง”อินฟิเนียนเทคโนโลยี” บริษัทผู้ผลิตชิปชั้นนำจากเยอรมนี ได้ขยายโรงงานผลิต และเริ่มผลิตเซมิคอนดักเตอร์กำลังรุ่นต่อไปในมาเลเซียแล้วเมื่อต้นเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา

ดังนั้น การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.2 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2566 โดยมีการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในสิงคโปร์ เวียดนาม และกัมพูชา

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของประเทศในอาเซียนได้เผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยภายนอกหลายประการ ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลกส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนในภูมิภาค ทำให้อุปสงค์ภายในประเทศลดลง และค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า ส่งผลให้ค่าเงินของประเทศในอาเซียนอ่อนค่าลง ซึ่งเป็นภาระต่อประเทศที่มีหนี้อยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหนี้ที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์

เศรษฐกิจที่ซบเซา และค่าเงินที่อ่อนแอนำไปสู่การไหลออกของเงินทุนจากภูมิภาค แต่กระแสเริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อเงินเฟ้อเริ่มสงบลง และสกุลเงินในภูมิภาคแข็งค่าขึ้น

เจฟฟ์ สุธีโสภณ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารพอร์ตโฟลิโอของ LGT Securities (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดอาเซียนยังตามหลังตลาดเอเชียเหนือ เช่น ไต้หวันและเกาหลีใต้ เนื่องจากจำนวนหุ้นเทคโนโลยีที่มีจำนวนค่อนข้างน้อย แต่หากความสนใจในหุ้นเทคโนโลยีเริ่มลดลง นักลงทุนอาจหันมาให้ความสนใจกับตลาดอาเซียนเพิ่มมากขึ้น

 

อ้างอิง  Nikkei

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์