8 หุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ DELTA-CCET รายได้-กำไรนำทีม

8 หุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ DELTA-CCET รายได้-กำไรนำทีม

หุ้นอิเล็กทรอนิกส์ภาพรวมผลงานดี DELTA กับ CCET หัวตารางรายได้-กำไรสูงสุด ทว่าหวั่น Q3/67 บาทแข็งกดความสามารถแข่งขัน ด้าน "บล.หยวนต้า" มองงบครึ่งปีหลังโตต่อ DELTA ได้กระแส AI หนุนส่วน CCET ได้อานิสงส์สถานการณ์ย้ายฐานผลิต "บล.เคจีไอ" ชี้มาร์จินสูงขึ้น เพิ่มราคาเป้าหมาย

ผ่านพ้นช่วงประกาศผลประกอบการครึ่งปีแรกมาได้ราวครึ่งเดือน กลุ่มหุ้นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ยังอยู่ในโซนที่มีทั้งยอดขายและกำไรเป็นบวกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ทั้งนี้ 8 หลักทรัพย์ในกลุ่มได้แก่ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA, บริษัท แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CCET,บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA, บริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SVI, บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE, บริษัท มูราโมโต้ อีเล็คตรอน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ METCO, บริษัท ทีมพรีซิชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TEAM และ บริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SMT ผลงานก็ต่างเป็นบวกเกือบทั้งหมด

8 หุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ DELTA-CCET รายได้-กำไรนำทีม อนึ่ง เฉพาะ METCO งบการเงินครึ่งปีสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. ส่วนหลักทรัพย์อื่นๆ รอบงบการเงิน ครึ่งปีสิ้นสุด 30 มิ.ย.

โดย 3 ลำดับแรกที่ทำรายได้ในงบครึ่งปีสูงสุดเรียงตามลำดับดังนี้ DELTA, CCET และ HANA ส่วนที่กำไรสุทธิสูงสุดเรียงตามลำดับดังนี้ DELTA, CCET และ KCE
 

ขณะที่สถานการณ์ธุรกิจยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องเฝ้าติดตามคือ การแข็งของเงินบาทในปัจจุบัน เนื่องจากรายได้ของหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่มาจากการส่งออก ส่งผลให้เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าเกินไปย่อมกระทบความสามารถในการแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างประเทศลง และยังมีโอกาสขาดทุนค่าเงินได้

ทว่าในอีกแง่มุมหนึ่งตลาดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในระดับโลกกำลังมุ่งสู่การรองรับอุปกรณ์สำหรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ดังนั้นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีเทคโนโลยีดีพอจะได้รับประโยชน์ชัดเจน

มีรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า การส่งออกของไทยในเดือน ก.ค. 2567 ฟื้นตัวแข็งแกร่ง โดยมีมูลค่า 25,720.6 ล้านดอลลาร์ (938,285 ล้านบาท) ขยายตัว 15.2% นับเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 28 เดือน

และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้มาก โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินไว้ 8% ขณะที่ Reuter poll มีค่ากลางของการคาดการณ์อยู่ที่ 6%

SCB EIC ได้ประเมินการส่งออกของไทยว่าจะขยายตัวต่อเนื่องเล็กน้อยในปี 2568 ส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง

สอดคล้องความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่ม Power electronics ในตลาดโลกที่ขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามวัฏจักรขาขึ้นของคอมพิวเตอร์ที่ฟื้นตัว
 

สำหรับหุ้นเด่นที่สุดในกลุ่มอย่าง DELTA ผู้บริหารยังมั่นใจทิศทางผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังว่าภาพรวมยังมีโอกาสดีขึ้น โดยมีมุมมองต่อการเติบโตกลุ่มผลิตภัณฑ์ในธุรกิจ พลังงานสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มีทิศทางเป็นบวก และผลิตภัณฑ์เพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ที่รองรับการใช้งานเทคโนโลยี AI 

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า ประเมินผลประกอบการครึ่งปีหลังของ DELTA จะเด่นกว่าครึ่งปีแรกจากการเติบโตของสินค้ากลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ AI และความต้องการที่แข็งแกร่งของกลุ่ม Data Center ที่จะหนุนให้ GPM ยังรักษาระดับที่สูงไว้ได้

ทำให้ฝ่ายวิเคราะห์ปรับเพิ่มประมาณการปี 2567 ขึ้น 6% เป็น 2.1หมื่นล้านบาท (+24% YoY) ให้ราคาเหมาะสมสิ้น ณ ปี 2568 ที่ 98.00 บาทต่อหุ้น เพื่อให้สะท้อนรอบการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมจากการเข้ามาของ AI

ส่วนหุ้น CCET บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า คาดมีกำไรที่เด่นต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง ตลาดมีโอกาสต้องปรับประมาณการกำไรทั้งปี 2567-2568 ขึ้นอีกรอบ และบริษัทเป็นตัวแทนที่ดีของผู้เล่นที่ได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิต 

พร้อมกับคาดกำไรปกติปี 2567 ที่ราว 2.6-3.0 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปี 2567 ที่ราว 0.25-0.29 บาท 

บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุว่า การประชุมนักวิเคราะห์ของ CCET มีโทนเชิงบวกเล็กน้อย คาดว่ารายได้จะฟื้นตัวต่อเนื่องใน ทั้งจากการ Restock สินค้าอิเล็กทรอนิสก์และการเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าใหม่ที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูง 

อย่างไรก็ตามได้ปรับประมาณการหลังรายงานผลประกอบการครึ่งปีแรก โดยรวมแล้วความคืบหน้าการก่อสร้างโรงงานใหม่ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร และดอกเบี้ยจ่าย และปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2567–2568 ขึ้น 11% และ 20% เป็น 2.6 พันล้านบาท และ 3.2 พันล้านบาท ตามลำดับ

ขณะเดียวกันยังมองว่าสงครามการค้าและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่าง “สหรัฐฯ-จีน” รวมทั้ง “จีน-ไต้หวัน” จะทำให้เกิดการเร่งการย้ายฐานการผลิตมาไทยและประเทศอื่นๆ 

โดย CCET เริ่มได้รับประโยชน์จากแนวโน้มนี้แล้ว ล่าสุดมีลูกค้ารายใหญ่ 2 ราย จากจีนและเวียดนามกำลังจะย้ายการผลิตมายังโรงงานแห่งใหม่ของ CCET เพื่อกระจายความเสี่ยงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ 

นอกจากนี้ ธุรกิจ EV charger ที่เป็นสินค้าใหม่ของ CCET คาดจะได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่าง สหรัฐฯ-จีน เนื่องจากล่าสุดทางการสหรัฐฯใช้มาตรการทางภาษีกับค่ายรถ EV จีน ขณะที่ลูกค้าของ CCET เป็นผู้ผลิต EV charger รายใหญ่ที่สหรัฐฯ (ส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในสหรัฐฯ)

ให้คำแนะนำซื้อ ปรับราคาเป้าหมายเป็น 5.10 บาท จากเดิม 4.30 บาท อิงจาก EV/EBITDA ที่ 8.8 เท่า