เปิดกลยุทธ์ลุยหุ้นไทยไตรมาสสี่ สถิติเป็นบวกท่ามกลางศก.สหรัฐถดถอย

เปิดกลยุทธ์ลุยหุ้นไทยไตรมาสสี่ สถิติเป็นบวกท่ามกลางศก.สหรัฐถดถอย

เหลืออีก 7 วันก็จะสิ้นสุดไตรมาส 3/67 ซึ่งมีสารพัดปัจจัยเขย่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจาก 1,300 จุดที่รับไม่อยู่ดิ่งไปสร้างจุดต่ำสุดรอบราว 4 ปี ทว่าอีกไม่กี่สัปดาห์ก็พลิกสวมบทกระทิงดีดกลับแรงเหนือ 1,400 จุดอย่างแข็งแกร่ง ยกแผงปรับขึ้นทุกกลุ่มหุ้น ทุกพื้นฐานทั้งดีและไม่ดี

บรรยากาศที่ดีของตลาดทุนในระยะนี้สร้างความคาดหวังต่อไปถึงไตรมาส 4 ปี 2567 ที่จวนมาถึงว่า จะพยุงโมเมนตัมเนื่องไว้ได้เพียงไร หรือจะต้องกลับมาเฝ้าระวังอีกครั้ง

สถิติหุ้นไทยเฉพาะไตรมาส 4 ย้อนหลังหลายปีมานี้ค่อนข้างเป็นภาพบวกโดยปี 2563 ระดับ SET index สิ้นไตรมาสให้ผลตอบแทนเป็นบวกถึง 17.16% หากเทียบกับฐาน ณ สิ้นไตรมาส 3 ปีเดียวกัน เช่นเดียวกับปี 2564 และ 2565 ที่ให้ผลตอบแทน 3.23% และ 4.98% ตามลำดับ แต่ในปีที่แล้วคือ 2566 ผลตอบแทนกลายเป็นลบ 3.78%

อย่างไรก็ตามเมื่อสำรวจในระยะที่นานขึ้นย้อน 10-12 ปี พบค่าสถิติจำนวนปีที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกและลบมีสัดส่วนเท่ากัน เพียงแต่ค่าเฉลี่ยรวมกันปีที่ผลตอบแทนบวก (เฉลี่ยปีละ 6-7%) มีอัตราสูงกว่าปีที่ลบ (เฉลี่ยปีละ 5-6%) เล็กน้อย

เปิดกลยุทธ์ลุยหุ้นไทยไตรมาสสี่ สถิติเป็นบวกท่ามกลางศก.สหรัฐถดถอย

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง จำกัด เปิดเผยว่า กลยุทธ์การลงทุนสำหรับไตรมาส 4 ปี 2567 มีการแบ่งออกเป็น 2 ช่วง

ช่วงต้นไตรมาส 4 คาดตลาดหุ้นจะได้รับแรงสนับสนุนจากการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) โดยเฉพาะตลาดหุ้น Laggard อย่างตลาดหุ้นไทย ทำให้อาจเป็นช่วงที่ดีที่สุดของปีจาก

1. การไหลเข้าต่อเนื่องของกระแสเงินลงทุน (Fund flow) ต่างชาติ
2. นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่คาดเกิดขึ้นในเดือน ก.ย. ถึง ต.ค. เช่น การแจกเงินผ่าน Digital Wallet และกองทุนวายุภักษ์
3. ผลตอบแทนเชิงจากสถิติ โดยในอดีตที่ผ่านมาหลัง Fed ลดดอกเบี้ย 1 เดือน SET index มักให้ผลตอบแทนเป็นบวกเฉลี่ย 3%

ช่วงกลางถึงปลายไตรมาส 4 คาดว่าเศรษฐกิจถดถอย (Recession fear) จะมากลบความหวัง Fed ลดดอกเบี้ย และอาจกดดันทำให้สินทรัพย์เสี่ยงรวมถึงตลาดหุ้นไทย หากตัวเลขเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาอ่อนแอต่อเนื่อง จากทั้งการจ้างงานและการบริโภค โดย Economic surprise index ของโลกต่ำสุดในรอบ 25 เดือน, อเมริกา 24 เดือน, ยุโรป 11 เดือน และจีน 12 เดือน

ขณะที่สถิติในอดีตหลัง Fed ลดดอกเบี้ย 3 เดือน SET index มักให้ผลตอบแทนพลิกมาเป็นลบเฉลี่ย 3%

ทั้งนี้ BLS Recession-Tracking Indicators ประเมินความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาผ่าน 4 ด้านหลัก 1. แนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมจาก Leading economic index YoY, 2. การจ้างงาน จาก Non-farm payroll YoY, Sahm rule, 3. การบริโภค จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค, และ 4. ความเสี่ยงด้านเครดิตจาก Leading credit index

พบว่า 3 ใน 4 ด้านหลัก ทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจ การจ้างงาน และการบริโภคลงมาสู่ระดับก่อนเกิด Recession ในอดีตแล้ว ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิด Recession ในสหรัฐอเมริกาช่วงไตรมาส 4 นี้ ต่างจากที่ตลาดมองว่าเป็นแค่ Soft landing

จากตัวเลขภาคเครดิตที่ยังแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤติในอดีต ทำให้เชื่อว่าภาวะที่เกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริการอบนี้จะเป็น Mild recession (ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่ยังไม่รุนแรง) ซึ่งคาดกินเวลาราว 6-9 เดือน, และมีการปรับลงเฉลี่ยของ S&P500 ที่ลบ 20%, มอง Fed จะลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้เหลือ 4.75% ปลายปี 2567

สำหรับ Theme หลักสำหรับไตรมาส 4 ปี 2567 แบ่งเป็น 2 แบบ

Core theme เน้นลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่มีคุณภาพ (Quality) และมีความปลอดภัย (Defensive) จากความเสี่ยงเศรษฐกิจ/กำไรต่ำคาดใน Global late cycle ชอบกลุ่มคอมเมิร์ซสินค้าจำเป็น (Staples) , สินค้าจำเป็น, ICT, Utility, Healthcare ได้แก่ CPALL, CPAXT, BDMS, BH, GULF และ ADVANC

Satellite theme ในการเล่นเก็งกำไรสามารถแบ่งย่อยเป็นดังนี้

1. การลดดอกเบี้ย นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ วายุภักษ์เน้นเก็งกำไรในกลุ่มการเงิน อุปโภคบริโภคสินค้าจำเป็นและขนส่ง หุ้นแนะนำ CPN, AOT และ MTC

2. Earnings play และ High season ท่องเที่ยว เก็งกำไรอาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ CBG, ERW และ BEM

3. สงครามการค้าเก็งกำไรนิคมอุตสาหกรรม-โรงไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรม หุ้นแนะนำ WHA, AMATA และ WHAUP

กลยุทธ์การลงทุนเดือน ต.ค. คาดโมเมนตัมตลาดหุ้นยังบวก เน้น Barbell strategy ระหว่าง Core theme กับ Satellite theme ส่วนเดือน พ.ย. และ ธ.ค. ที่มีความไม่แน่นอน ค่อยกลับมาเน้นหุ้นกลุ่ม Quality และ Defensive เป็นหลัก (Core theme)