มรสุมระลอกใหม่ ‘กลุ่มเทพเจริญ’ หลังไร้อำนาจใน NUSA

มรสุมระลอกใหม่ ‘กลุ่มเทพเจริญ’ หลังไร้อำนาจใน NUSA

นี่อาจจะเป็น “มรสุม” ลูกใหม่ของ “กลุ่มเทพเจริญ” หลัง กลต. กล่าวโทษอดีต 6 กรรมการและผู้บริหาร ทุจริตขายห้องชุดถูก-ซื้อโรงแรมแพง ผ่องถ่ายเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง

ในช่วงที่ผ่านมา “ศึกชิงอำนาจ” การบริหาร บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA ระหว่างกลุ่ม “วิษณุ เทพเจริญ” ผู้ก่อตั้ง NUSA กับกลุ่ม “ประเดช กิติอิสรานนท์” ผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ และยังเป็นผู้บริหารจากบริษัทพลังงานรายใหญ่  “บริษัท วิน เอ็นเนอร์ยี่ โฮลดิ้งหรือ WEH ดูเหมือนจะ “สงบ” ลงบ้างแล้ว เพราะไม่เห็นกระแสข่าวตามหน้าสื่อเท่าไหร่ !!

แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั่นไม่ !! เกมที่แท้จริงซ่อนอยู่ของ “กลุ่มประเดช” คือ “ล้างบางกลุ่มเทพเจริญ” ให้พ้นจาก NUSA อย่างถาวรและไม่ลุกขึ้นมาเป็นหอกข้างแคร่ได้อีก...

หากย้อนดูหลายปีที่กลุ่มประเดช เข้ามาถือหุ้นใหญ่ใน NUSA ความสัมพันธ์กับกลุ่มเทพเจริญ ดำเนินมาด้วยดี จนกระทั่งช่วงปลายปี 2566 คณะกรรมการ NUSA ได้มีมติ “ขายทรัพย์สิน” มูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน และสำรองไว้รอการไถ่ถอนหุ้นกู้ นั่นเป็นจุดแตกหักความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเทพเจริญ จึงขาดสะบั้นทันที !!

เพราะ 1 ในรายการทรัพย์สินที่กลุ่มเทพเจริญจะนำออกขายคือ หุ้นบริษัท วินด์ เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WEH ประมาณ 8% ของทุนจดทะเบียน ด้วยเพราะหุ้น WEH ที่ NUSA ถืออยู่ ทำให้นายประเดช ควบคุมอำนาจบริหารใน WEH ได้อย่างเบ็ดเสร็จ และ WEH ก็เป็น “ขุมทรัพย์ใหญ่” ของนายประเดช

ดังนั้น เป็นที่มาที่นายประเดช จึงยอมไม่ได้ที่กลุ่มเทพเจริญ จะขายทิ้งหุ้น WEH และเรียกประชุมผู้ถือหุ้น NUSA เพื่อล้างมติการขายทรัพย์สิน และล้างบางกลุ่มเทพเจริญพ้นจาก NUSA

สะท้อน จากเมื่อ 29 ก.พ. 2567 “กลุ่มประเดช” มีการจัดประชุมวิสามัญผู้ถือ NUSA ซึ่งวาระสำคัญคือ การปลดกลุ่ม “เทพเจริญ” พ้นจากการเป็นกรรมการบริษัททั้งหมด และแต่งตั้งกลุ่มนายประเดชเข้ามาสวมแทนแล้ว...  

เมื่อศึกชิงอำนาจใน NUSA แม้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหาร แต่ปัญหาสะสมของบริษัท และผลประกอบการที่ “ย่ำแย่” อาจไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น...

ความขัดแย้งระหว่าง “2 ผู้ถือหุ้นใหญ่” ที่ต่างฝ่ายต่างงัดหลักฐานฟาดฟันลามไปสู่การขายสินทรัพย์ การซื้อกิจการโรงแรมในเยอรมนี ที่เปลี่ยนเป็นการเข้าซื้อบริษัทที่มีหนี้สินสูงกว่าทรัพย์สิน 407 ล้านบาท ซึ่งผู้สอบบัญชีได้แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขในงบการเงิน

การนำทรัพย์สินของบริษัทออกขายให้กับบุคคลใกล้ชิดบอร์ดและผู้บริหาร ในโครงการบ้านกฤษณา-พระราม 5 โดยไม่ผ่านคณะกรรมการตรวจสอบ จนถูกตรวจพบในภายหลัง ซึ่งต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็นว่าราคาซื้อขายไม่สมเหตุสมผล และสั่งให้เพิกถอนธุรกรรมดังกล่าว...

และแล้ว !! ชะตากรรมของ “กลุ่มเทพเจริญ” ก็เดินทางมาถึงจุดจบ... แม้ว่าจะพยายามประวิงเวลานานที่สุด แต่สุดท้ายก็รั้งสถานการณ์ไม่ไหว  สะท้อนผ่านล่าสุด “การกล่าวโทษ” ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กล่าวโทษกรรมการอดีตกรรมการและผู้บริหาร NUSA รวม 6 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

โดย ก.ล.ต.ได้รับเรื่องร้องเรียนปี 2566 จึงได้ตรวจสอบและประสานกับ DSI พบพยานหลักฐานที่แสดงได้ว่าปี 2563 กรรมการและผู้บริหาร NUSA 4 ราย คือ 1.นางศิริญา เทพเจริญ 2.นายวิษณุ เทพเจริญ 3.นายสมพิจิตร ชัยชนะจารักษ์ 4.นายนนทวัชร์ ธนสุวิวัฒน์ ได้ร่วมกันกระทำการโดยทุจริตลงทุนซื้อโรงแรม Panacee Grand Hotel ที่เยอรมนี ในราคาสูงกว่าราคาประเมิน ด้วยวิธีเปรียบเทียบราคาตลาดอย่างไม่สมเหตุสมผล และร่วมกระทำโดยทุจริตขายห้องชุด ซึ่งตั้งในกรุงเทพฯ ของ NUSA ในราคาต่ำกว่าราคาประเมิน

รวมทั้งผ่องถ่ายเงินออกจาก NUSA เข้าบัญชีส่วนตัวและบุคคลใกล้ชิด เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ตนเองหรือผู้อื่น จนทำให้ NUSA ได้รับความเสียหาย โดยมี 5.น.ส.วรินภร จันทรโรจน์วานิช ซึ่งเป็นผู้ขายโรงแรม Panacee 6.นางโฉมสุดา รุ่งเรืองเนาวรัตน์ กรรมการ ผู้มีอำนาจในบริษัทผู้ซื้อห้องชุดจาก NUSA เป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือการกระทำผิดของบุคคล 1-4

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบ ก.ล.ต. พบว่า เงินมัดจำค่าซื้อโรงแรมที่ NUSA ชำระให้ นางสาววรินภร ผู้ขายโรงแรม ไม่ได้ถูกนำเข้าบัญชีผู้ขาย แต่กลุ่มกรรมการและผู้บริหาร NUSA ได้แก่ นางศิริญา นายวิษณุ และนายนนทวัชร์ รวมถึงบุคคลใกล้ชิดเป็นผู้ได้รับประโยชน์ของเงินขายโรงแรมดังกล่าว

นอกจากนี้ ในชั้นการทำคำชี้แจงต่อ ก.ล.ต. กรรมการและผู้บริหารของ NUSA ขณะกระทำผิดทั้ง 4 ราย ได้นำส่งพยานหลักฐานเอกสารและข้อมูลอันเป็นเท็จต่อ ก.ล.ต.โดยนำส่งรายงานของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระเป็นเท็จ เพื่อลวงไม่ให้ ก.ล.ต. ทราบมูลค่าที่แท้จริงตามบัญชีของโรงแรม อีกทั้งยังพบว่า ได้ตกแต่งบัญชีเพื่อลวงผู้สอบบัญชีของบริษัทให้เชื่อว่า  NUSA ได้รับชำระหนี้ค่าห้องชุดครบถ้วนจากบริษัทผู้ซื้อแล้ว เพื่อไม่ให้ผู้สอบบัญชีมีข้อสงสัยในการบันทึกบัญชีของธุรกรรมข้างต้น

หากย้อนดู “จุดเริ่มต้น” ประเด็นการกล่าวโทษอดีต กรรมการและผู้บริหาร NUSA  เริ่มต้นจาก NUSA นำส่งงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2566 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  (ตลท.) ซึ่ง “ผู้สอบบัญชี” แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขและมีข้อสังเกต เนื่องจากความซับซ้อนของการจัดโครงสร้างของผู้ขายโรงแรม รวมถึงสิทธิเครื่องหมายทางการค้าและใบอนุญาตต่างๆ ในประเทศเยอรมนีและบริษัทย่อยมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและเงื่อนไขการซื้อขายโรงแรมหลายครั้ง

ตามติดมาที่ “กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย” เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนให้ตรวจสอบการดำเนินการที่เชื่อว่าไม่โปร่งใสของคณะกรรมการกรณีการซื้อโรงแรม Panacee Grand Roemerbad ประเทศเยอรมนี ที่ยังเป็นประเด็นถกเถียง โดยเชื่อว่าเป็นการปกปิดธุรกรรมอันมีสาระสำคัญในการดำเนินงาน อาจจะเข้าข่ายหลอกลวงนักลงทุน ละเมิดสิทธิผู้ถือหุ้น และยังเข้าข่ายผิด พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ข่าวคราวดังกล่าวได้สร้างความปั่นป่วน และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของ NUSA อย่างยากที่จะปฏิเสธ....