'นักวิเคราะห์' มอง ฟันด์โฟลว์- วายุภักษ์ -แจกเงิน ดัน SET index สิ้นปี 1,494 จุด

'นักวิเคราะห์' มอง ฟันด์โฟลว์- วายุภักษ์ -แจกเงิน  ดัน SET index สิ้นปี 1,494 จุด

สมาคมนักวิเคราะห์ (IAA) คาดฟันด์โฟลว์จากต่างประเทศ กองทุนวายุภักษ์ และมาตรการแจกเงิน 10,000 บาท หนุน SET Index สิ้นปี 1,494 จุด ประสานเสียง 4 หุ้นเด่น AOT ,BDMS ,CPALL,GPSC จ่อรับอานิสงส์เพียบ แนะรัฐเร่งลงทุนขนาดใหญ่ ต่อยอด Tourism Province & Connects และ New S-Curve เป็นรูปธรรม

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เปิดเผยผลการสำรวจความเห็นสมาชิกนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนรวม 24 สำนัก เกี่ยวกับมุมมองการลงทุนไตรมาส 4 ปี 2567 ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้

สมมติฐานหลัก
•    ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยของปีนี้ 79.50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
•    คาดการณ์ การขยายตัวของ GDP ไทยปี 2567 จากเดิมที่ 2.64% (ก.ค.67)         ลดลงมาเหลือ 2.62% 
•    สมมติฐาน GDP ปี 68 คาดว่าต่ำสุดที่ 2.4% และสูงสุดที่ 3.5% โดยมีค่า             เฉลี่ยอยู่ที่ 3.01%
•    Risk Free Rate ที่ใช้ในการประเมินมูลค่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.65%
•    Risk Premium ของตลาดหุ้น เฉลี่ยอยู่ที่ 7.76%

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อทิศทางการลงทุนจนถึงสิ้นปี 2567 แบ่งเป็น

  • ปัจจัยบวก นำโดย Fund Flows จากต่างประเทศสู่ตลาดหุ้นไทย และกองทุนวายุภักษ์ ผู้ตอบแบบสำรวจ 100% เท่ากัน เทคะแนนให้อย่างชัดเจนว่าเป็นผลบวก ปัจจัยรองลงมา 96% เท่ากันโหวตให้มาตรการแจกเงิน 10,000 บาท และทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกา ตามมาด้วยผลประกอบการของ บจ.ปี67 ผู้ตอบ 88% และภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ 72% ตามลำดับ
  • ปัจจัยลบ คือ  ปัจจัยด้านการเมืองในต่างประเทศ มีผู้ตอบ 64% ของผู้ตอบทั้งหมด รองลงมาทุกปัจจัยที่มีผลโหวตต่ำกว่า 50% ของจำนวนผู้โหวต เช่น การลดหรือยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของประเทศสำคัญทั่วโลก 40% ตามมาด้วยปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลก 36% ตามลำดับ  
  •  ด้านคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ณ สิ้นปี 2567 มีนักวิเคราะห์ร้อยละ 48 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 2.25% และมีผู้ตอบร้อยละ 43 มองว่าอยู่ที่ 2.50% และร้อยละ 9 มองว่าปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ 2% ตามลำดับ
  •  ส่วนคาดการณ์การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ในสิ้นปี 2568 นั้นมีความเห็นต่างกันพอสมควร โดยผู้ตอบร้อยละ 46 คาดว่าจะอยู่ที่ 2% รองลงมาผู้ตอบร้อยละ 25 มองว่าปรับลดลงมาที่ 1.75% ถัดมาผู้ตอบร้อยละ 13 มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายคงที่ที่ 2.50% และร้อยละ 8 มองว่าปรับลดเพียงเล็กน้อยที่ 2.25% มีเพียงผู้ตอบร้อยละ 8 ที่คาดว่าจะปรับลดลงที่ 1.50%  
  • ทางด้านคาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปี 2567 ของตลาดเฉลี่ยได้ที่ 89.91 บาท ปรับลดจากผลสำรวจครั้งก่อน ซึ่งอยู่ที่ 91.4 บาท ต่อหุ้น และคาดว่า EPS Growth ของปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 12.18% ทั้งยังคาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปี 2568 ของตลาดเฉลี่ยไว้ที่ 98.65 บาท

เป้าหมายดัชนี ณ วันสิ้นปี 2567 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,494 จุด  และคาดการณ์ SET Index ตลอดปี 2568 จะแกว่งตัวในกรอบ 1,365 ถึง 1,634 จุด โดยไปปิดสิ้นปี 2568 ที่ 1,614 จุด

 นักวิเคราะห์แนะนำให้มีการกระจายพอร์ตการลงทุน แบ่งเป็น
      o เงินสดและเงินฝากระยะสั้น  6.43%
      o กองทุนตราสารหนี้  20.30%
      o หุ้นไทยหรือกองทุนหุ้นไทย  32.22%
      o หุ้นหรือกองทุนหุ้นต่างประเทศ  23.65%
      o กองทุนอสังหาฯหรือ REIT  9.04%
      o ทองคำหรือกองทุนทองคำ  8.35%

โดยความเห็นต่อการลงทุนหุ้นต่างประเทศ/กองทุนหุ้นต่างประเทศ แนะนำกองทุนหุ้นสหรัฐฯโดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี-AI และ Healthcare Selective Asia เช่น จีน อินเดีย เวียดนาม

สำหรับในการลงทุนหุ้นไทยนั้น แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหมวดธุรกิจค้าปลีก Finance การท่องเที่ยว และเทคโนโลยี ในขณะที่ให้ลดน้ำหนักการลงทุนใน หมวดเกษตร ยานยนต์ พลังงานและปิโตรเคมี

รายชื่อหุ้นที่นักวิเคราะห์แนะนำตรงกันตั้งแต่ 5 สำนักขึ้นไป มีดังนี้(เรียงชื่อตามอักษรย่อ)
1. AOT ได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว อีกทั้งผู้โดยสารระหว่างประเทศที่จะเพิ่มขึ้นใน 2 เดือนสุดท้ายของปี 
2. BDMS ได้ประโยชน์จากคนไข้ต่างชาติเพิ่มขึ้นและสังคมสูงวัยที่ใหญ่ขึ้น
3. CPALL  ได้ประโยชน์จากการจับจ่ายใช้สอยที่ฟื้นตัวและได้อานิสงส์จากโครงการดิจิตอล Wallet เศรษฐกิจและการบริโภคฟื้นตัวจากเงินหมื่น
4. GPSC โดยมองว่าได้แรงหนุนจากทิศทางดอกเบี้ยขาลง และ โครงการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง (Direct Power Purchase Agreement: Direct PPA) ที่จะดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุน


สำหรับหุ้นที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ หุ้นกลุ่มยานยนต์ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน หุ้นกลุ่มธนาคาร และส่งออกที่อาจย่อตัว หลังขึ้นมาแรงในช่วงก่อนหน้า

ท้ายที่สุด นักวิเคราะห์ยังได้เพิ่มเติมการแนะนำไปยังรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายที่จะมีผลบวกต่อภาวะเศรษฐกิจ มีความคุ้มค่ากับงบประมาณ โดยกล่าวถึงมาตรการทั้งในระยะสั้นและยาว แยกเป็นเสนอให้เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่อยอด Tourism Province & Connects รวมทั้งการลงทุนภาครัฐที่หนุนศักยภาพ  การเติบโตทางเศรษฐกิจ สนับสนุนอุตสาหกรรม New S-Curve ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ถัดมาด้านการช่วยเหลือภาคธุรกิจ ได้แก่ นโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยว ดึงดูดการลงทุนต่างชาติ สนับสนุนโครงการลงทุนใหม่ๆ เช่น Entertainment Complex รวมทั้งออกมาตรการ soft loan และ refinance ให้ SMEs และตามมาด้านการช่วยเหลือภาคประชาชน ได้แก่ การปรับโครงสร้างหนี้รายย่อย / ครัวเรือน มาตรการลดภาษี และสนับสนุนค่าเล่าเรียนเพื่อจูงใจคนรุ่นใหม่มีลูกเพิ่ม