The Fed’s rate cut and implications for investors
ปีนี้คาดว่าจะปรับลดลงอีก 0.5% แม้อาจจะมีข้อถกเถียงกันว่าควรจะลดครั้งละ 0.25% ในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือ หรือจะลด 0.5% ในการประชุมครั้งถัดไปหรือครั้งสุดท้ายของปี
ในเดือนที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้เริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยให้เป็นปกติด้วยการเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% เป็นการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปี เฟดยอมรับว่ามีความจำเป็นที่จะต้องลดความเข้มงวดในการใช้นโยบายการเงินลง อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ถูกปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.75%-5.0% นอกจากนี้เฟดยังคงมีมุมมองที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก
โดยในปีนี้คาดว่าจะปรับลดลงอีก 0.5% แม้อาจจะมีข้อถกเถียงกันว่าควรจะลดครั้งละ 0.25% ในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือ หรือจะลด 0.5% ในการประชุมครั้งถัดไปหรือครั้งสุดท้ายของปีซึ่งก็ไม่ได้มีนัยยะสำคัญมากนักเนื่องจากคาดว่าเฟดจะยังลดอัตราดอกเบี้ยอีกในปีหน้า ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจะลงไปอยู่ที่ระดับ 3.5% ในปี 2025 และ 3% ในปี 2026 ทั้งนี้เมื่อดูจากการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ที่ระดับ 2% การคาดการณ์เงินเฟ้อที่ระดับ 2% ขณะที่อัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 4.4% ดังนั้นค่อนข้างชัดเจนว่าการลดอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้นเป็นผลมาจากการที่อัตราเงินเฟ้อนั้นปรับลงมาเข้าสู่ระดับปกติขณะที่เศรษฐกิจก็ชะลอตัวลงแต่ไม่ได้เกิดจากภาวะวิกฤตหรือการถดถอยทางเศรษฐกิจ เราขอสรุปผลกระทบสำคัญของการเริ่มต้นวงจรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ต่อสินทรัพย์ต่างๆ ดังนี้
ตราสารหนี้: เนื่องจากการลดอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างมากในช่วงแรกเพื่อเป็นการ Front load จึงมีโอกาสสูงที่ภาวะเศรษฐกิจจะเกิดการ Soft landing (ลดโอกาสการเกิด Hard landing) ส่งผลให้มุมมองต่อเศรษฐกิจในอนาคตจะดีขึ้นดังนั้นอัตราดอกเบี้ยระยะยาวควรจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย เราได้ปรับมุมมองระยะ 3 และ 12 เดือนสำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี เป็น 3.95% และ 4% ตามลำดับ ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนในตราสารหนี้ควรเน้นลงทุนในตราสารหนี้ระยะปานกลางมากกว่าระยะยาว ขณะที่ตราสารหนี้ระยะสั้นแม้อัตราดอกเบี้ยสูงแต่แน่นอนว่าจะต้องปรับลงเมื่อตราสารหนี้นั้นครบอายุและจะได้อัตราดอกเบี้ยลดลงในการเข้าลงทุนรอบใหม่ นอกจากนี้การลดอัตราดอกเบี้ยก็จะลดแรงกดดันต่อบริษัทเอกชนทำให้สามารถที่จะขยับหรือเลือกลงทุนในบริษัทที่มีเครดิตเรตติ้งที่มีคุณภาพลดลงได้ (Low investment grade debt)
อัตราแลกเปลี่ยน: การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed จะทำให้ความได้เปรียบด้านอัตราดอกเบี้ยลดลง แต่เราไม่คาดว่าจะเกิดการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ด้วยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและยูโรยังคงห่างกันถึง 1.25% ในตลอดปี 2024 คาดการณ์ว่าอัตราแลกเปลี่ยน EUR/USD จะฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ 1.08 ซึ่งจะสนับสนุนให้ดอลลาร์มีโอกาสฟื้นตัวหรือแข็งค่าขึ้นจากระดับปัจจุบัน
ตลาดหุ้น: วงจรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed มักจะเป็นช่วงที่ตลาดเปิดรับความเสี่ยง (risk-on) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่ตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอย แม้ว่าสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะเอื้ออำนวย แต่เราคาดว่าความผันผวนในตลาดหุ้นจะยังคงสูงอยู่จากการเรื่องตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และความเสี่ยงด้าน Geopolitical risk ทั้งนี้การลงทุนในหุ้นที่มีความผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ และหุ้นขนาดกลางมีความน่าสนใจมากขึ้น สำหรับนักลงทุนระยะยาวยังควรเน้นลงทุนในหุ้นเติบโตขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ
ทองคำ: ในอดีตการลดอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะผลักดันให้ราคาทองคำให้สูงขึ้น แต่การเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหลังจากลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยหนุนราคาทองคำให้ปรับตัวขึ้นได้มากกว่า
ทั้งนี้ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน ความเสี่ยงและขอคำแนะนำจากผู้แนะนำการลงทุนของท่านเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน ข้อมูลนี้จัดทำโดยอาศัยที่มาจากแหล่งข้อมูลสาธารณะซึ่งปรากฎขณะจัดทำ ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปแต่ละขณะ ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลและพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน