หุ้น Boeing - IBM ร่วง ฉุดดาวโจนส์ปิดลบ 140.59 จุด
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 4 ถูกกดดันจากการร่วงลงของหุ้นโบอิง และหุ้น IBM แต่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดในแดนบวก ขานรับผลประกอบการของบริษัทเทสลา และการชะลอตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ
ในวันพฤหัสบดี (24 ต.ค.67) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 42,374.36 จุด ลดลง 140.59 จุด หรือ -0.33% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,809.86 จุด เพิ่มขึ้น 12.44 จุด หรือ +0.21% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 18,415.49 จุด เพิ่มขึ้น 138.83 จุด หรือ +0.76%
หุ้นเทสลา ทะยานขึ้น 21.9% ส่งผลให้มาร์เก็ตแคปของเทสลาเพิ่มขึ้นกว่า 1.40 แสนล้านดอลลาร์ หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรในไตรมาส 3/2567 ที่แข็งแกร่ง และยังสร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุนด้วยการคาดว่ายอดขายในปีหน้าจะเพิ่มขึ้นราว 20% – 30%
ทั้งนี้ ผลประกอบการที่ดีเกินคาดของเทสลาเป็นปัจจัยหนุนดัชนีหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย (Consumer Discretionary) พุ่งขึ้น 3.4% ซึ่งแข็งแกร่งที่สุดในบรรดาหุ้น 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ อายุ 10 ปี ชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำกว่า 4.20% เมื่อคืนนี้ หลังจากทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนเมื่อวันพุธที่ผ่านมา และได้ฉุดดัชนีหลักทั้ง 3 ดัชนีร่วงลงในวันดังกล่าว
หุ้นโบอิง ร่วงลง 1.18% และหุ้น IBM ดิ่งลง 6.17% ซึ่งเป็นปัจจัยฉุดดัชนีดาวโจนส์ปิดในแดนลบ โดยหุ้นโบอิงร่วงลงหลังจากช่างเครื่องของโบอิงลงมติคัดค้านข้อตกลงฉบับใหม่ที่บริษัทเสนอให้ปรับขึ้นเงินเดือน 35% ในระยะเวลา 4 ปี และได้ขยายเวลาการผละงานประท้วงออกไปอีก ส่วนหุ้น IBM ดิ่งลงหลังจากบริษัทเปิดเผยรายได้ที่ต่ำกว่าคาด
หุ้นฮันนีเวลล์ อินเตอร์เนชันแนล (Honeywell International) ซึ่งเป็นอีก 1 ใน 30 หลักทรัพย์ที่คำนวณในดัชนีดาวโจนส์ ร่วงลง 5.1% หลังจากบริษัทเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ยอดขายรายปีที่ต่ำกว่าคาด
หุ้นยูไนเต็ด พาร์เซล เซอร์วิส (UPS) ซึ่งเป็นบริษัทรับส่งพัสดุรายใหญ่ ดีดตัวขึ้น 5.28% หลังจากบริษัทเปิดเผยกำไรเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 โดยได้แรงหนุนจากการปรับลดต้นทุน
ข้อมูลจาก LSEG ระบุว่า บริษัทจดทะเบียนจำนวน 159 แห่งได้รายงานผลประกอบการแล้ว โดยในจำนวนนี้มี 78.6% ที่รายงานผลประกอบการสูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ รายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่พุ่งขึ้น 4.1% สู่ระดับ 738,000 ยูนิตในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2566 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 720,000 ยูนิต จากระดับ 709,000 ยูนิตในเดือนส.ค.
กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ลดลง 15,000 ราย สู่ระดับ 227,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 241,000 ราย
เอสแอนด์พี โกลบอล เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต และภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 54.3 ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 54.0 ในเดือนก.ย.
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐ มีการขยายตัว โดยได้แรงหนุนจากการขยายตัวของภาคบริการ ขณะที่ภาคการผลิตยังคงอยู่ในภาวะหดตัว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์