กลุ่มปิโตรเคมี ‘กำไร’ ยังไม่ฟื้น โบรกชี้ ‘เศรษฐกิจจีน-โลก’ เสี่ยงสูง-แบกต้นทุนพุ่ง
โบรกคาด “กลุ่มปิโตรเคมี” กำไรยังไม่ฟื้นระยะใกล้ ต้องใช้เวลาพลิกฟื้นหลายปี เหตุเศรษฐกิจจีน-โลก ยังมีความท้าทายสูง “บล.กสิกรไทย” ชี้ธุรกิจยังเสี่ยงสูง เพราะไม่เห็นการฟื้นตัวของกำไรโดดเด่น “บล.เอเซีย พลัส” มองปิโตรเคมีสเปรดยังแคบ ทำให้ขาดทุน “บล.ซีจีเอสฯ” คาดหุ้นทั้งกลุ่มอาจจะดูใน “เชิงพื้นฐาน” ไม่ค่อยดีนัก
จากผลกระทบ “เศรษฐกิจโลก” บวกกับ “เศรษฐกิจจีน” ฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า ส่งผลให้สถานการณ์ “ธุรกิจปิโตรเคมี” ยังไม่เห็นแววสดใส สะท้อนผ่าน บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ที่ประกาศผลดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2567 ออกมา “กำไรสุทธิ” ลดลง 81% จากไตรมาสก่อน และ ลดลง 70% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
นายจักรพงศ์ เชวงศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ทิศทางกำไรกลุ่มปิโตรเคมีคงต้องใช้เวลาพลิกฟื้นกลับมาอีกหลายปี ซึ่งระยะเวลาอันใกล้จะยังไม่เห็นกำไรพลิกฟื้นกลับมาโดดเด่น เนื่องจากธุรกิจยังคงมีควมเสี่ยงรอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมียังแบกต้นทุนสูง และอุตสาหกรรมยังเป็นขาลง
ดังนั้น นักลงทุนต้องประเมินการเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มปิโตรเคมีและพลังงาน โดยหากเป็นนักลงทุนถือยาว ลงทุนได้เนื่องจากมูลค่าหุ้น (แวลูเอชั่น) ถือว่าไม่แพง ด้วยธุรกิจไม่ได้ถึงระดับขาดทุน หรือ ไม่มีธรรมาภิบาล เพียงแค่ธุรกิจได้รับผลกระทบจากวัฎรจักรขาลง ดังนั้น ระยะยาวยังไงผลดำเนินงานกลับมา แต่หากเป็นนักลงทุนเล่นรอบหาจังหวะลงทุนก็อาจจะได้กำไร เพราะว่าราคาหุ้นกลุ่มดังกล่าวมีความผันผวนค่อนข้างสูงมาก
นายประสิทธิ์ รัตนกิจกมล CFA,CISA นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน และทางเทคนิค บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า หุ้นในกลุ่ม SCC ได้รับผลกระทบด้านลบเข้ามากระแทกในหลายปัจจัยพร้อม ๆ กัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัจจัยจากมหภาค เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาลงและลากยาว รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวได้ช้า ทำให้ธุรกิจหลักอย่างปิโตรเคมีที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงสเปรดส่วนต่างราคาโปรดักส์กับวัตถุดิบแคบทำให้ขาดทุน ซึ่งเป็นช่วงที่ SCC เปิดตัวโครงการใหม่ที่เวียดนามด้วย จึงทำให้มีการ Fixed cost ค่าเสื่อมราคาและดอกเบี้ยเข้ามา จึงเป็นจังหวะที่ไม่ค่อย
ขณะที่ ธุรกิจแพคเกจจิ้งได้รับผลกระทบจากดีมานด์ที่อ่อนแอ รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่นำเข้ากระดาษบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ก็แย่ด้วย ส่งผลให้เกิดโอเวอร์ซัพพลายในกลุ่มประเทศอาเซียน กดดันราคาโปรดักส์ ขณะที่ต้นทุนเศษกระดาษแพงขึ้น รวมถึงไม้ซุงที่ทำเยื่อต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทำให้ราคาสูงขึ้น ส่วนเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกระทบส่งออกด้วย เมื่อประสบกับภาวะเช่นนี้จึงทำให้ราคาขายทำไม่ได้ มาร์จิ้นก็แคบลง ขณะที่ธุรกิจวัสดุก่อสร้างก็ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเช่นกัน รวมถึงเวียดนามโดนพายุถล่มไปหลายลูก เนื่องจากมีฐานการผลิตที่เวียดนามค่อนข้างเยอะ
นายกรรณ์ หทัยศรัทธา นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-อินเตอร์เนชันแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กลุ่ม SCC ผลประกอบการออกมาไม่ค่อยดีนัก โดยเฉพาะ SCGP กำไรต่ำกว่าไตรมาสที่ผ่านมา 60% เนื่องจากต้นทุนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุน EBITDA ของบรรจุภัณฑ์ไม่ดี รวมถึงธุรกิจที่ซื้อเข้าไปซื้อก่อนหน้า Fajar ออกมาไม่ดี ไตรมาส 3 ปี 2567 ขาดทุนกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งได้รับผลกระทบจากจีนเนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ บวกกับอุปสงส์การนำเข้าของจีนอ่อนตัว
ส่วน SCC ออกมาขาดทุน โดยผลการดำเนินงานต่ำกว่าที่เราได้คาดการณ์ไว้ที่ 20% ใกล้กับบลูมเบิร์กคาดการณ์ไว้ ซึ่งธุรกิจธุรกิจเคมิคอลส์ หรือปิโตรเคมี EBITDA เหลือ 196 ล้านบาท หรือเทียบกับไตรมาส 2/67 ลบไป 90% ขณะที่สเปรด PE/PP ในอาเซียนปรับฐานลงมาก ทำให้ธุรกิจออกมาค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ ธุรกิจในเวียดนาม Long Son Petrochemicals Company Limited หรือ LSP ยังคงต้องใช้เงินทุนที่สูง
อย่างไรก็ตาม หุ้นทั้งกลุ่มอาจจะดูในเชิงพื้นฐานไม่ค่อยดีนัก แต่ในเชิงกลยุทธหรือราคาหุ้น เริ่มมีนักลงทุนมองว่า เป็นจุดต่ำสุดของกลุ่มนี้ที่จะเข้าไปลงทุน เพราะคาดว่าอีก 2 ไตรมาสข้างหน้าจะกลับมาดีขึ้นได้ ดังนั้นอาจจะชะลอดูการประกาศงบการเงินในไตรมาสถัดไปก็คิดว่ายังไม่สายเกินไปที่จะเข้าไปลงทุน