ก.ล.ต เร่งเครื่องด้าน ‘ความยั่งยืน’ สร้างจุดขาย-เพิ่มเสน่ห์ ตลาดทุนไทย

ก.ล.ต เร่งเครื่องด้าน ‘ความยั่งยืน’ สร้างจุดขาย-เพิ่มเสน่ห์ ตลาดทุนไทย

ก.ล.ต. ขับเคลื่อน ‘ความยั่งยืน’ สร้างจุดขายประเทศ เพิ่มเสน่ห์ตลาดทุนไทย ผ่านกองทุนThai ESG โค้งท้ายปีนี้ จ่อรับเม็ดเงินลดหย่อนภาษีไหลเข้าเพิ่ม จากปัจจุบัน AUM แตะหมื่นล้าน หวังดันดัชนีฯสิ้นปี และเดินหน้า กองทรัสต์เพื่อสิ่งแวดล้อม เปิดเฮียริ่ง ธ.ค.นี้ จ่อคลอดปีหน้า

นายเอนก อยู่ยืน  รองเลขาธิการ และโฆษก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อน ‘ความยั่งยืน’ เพื่อสร้างจุดขายประเทศ และเพิ่มเสน่ห์ตลาดทุนไทย ที่ผ่านมาได้ผลักดัน กองทุนรวมไทย เพื่อความยั่งยืน (Thai ESG)  คาดว่าในช่วงโค้งท้ายปีนี้ จะมีเม็ดเงินลงทุนรับลดหย่อนภาษีปลายปี ผ่านกองทุน Thai ESG เพิ่มขึ้น ช่วยสนับสนุนดัชนีหุ้นไทยสิ้นปีนี้

ณ  6 พ.ย. 2567 มีกองทุน Thai ESG ทั้งหมด 34 กองทุน เพิ่มจากสิ้นปี 25666 จำนวน 12 กองทุน โดยเป็นกองทุนที่ขอจัดตั้งใหม่ 9 กองทุน และ 3 กองทุนเป็นกองทุนเดิมที่ขอแก้ไขโครงการเพื่อเพิ่ม class Thai ESG (ผู้ลงทุนสามารถใช้สิทธิลหย่อนภาษีได้เช่นเดียวกับกองทุน Thai ESG ที่จัดตั้งใหม่)

สิ้นปี 2566 มีจำนวนกองทุน 22 กองทุน  และNAV 5,267 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น ณ สิ้น เดือน ก.ย.2567 จำนวนกองทุน 26 กองทุน  และNAV 10,046 ล้านบาท  

กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) คือ กองทุนที่มีนโยบายการลงทุนในทรัพย์สินที่มีความโดดเด่น ด้านความยั่งยืนหรือสิ่งแวดล้อมที่ผู้ออกทรัพย์สินนั้นเป็นภาครัฐหรือกิจการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย โดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากกการลงทุนในกองทุนรรมดังกล่าว

ทางด้านการออกตราสารหนี้กลุ่มยั่งยืน ยังมีการเติบโตขึ้นต่อเนื่องแต่ในปีนี้มีการเติบโตค่อนข้างมาก โดยมูลค่าการออกเสนอขายรวมทั้งหมด  ปี 2566 อยู่ที่  193,793 ล้านบาท และ ในปีนี้ (ม.ค.- ก.ย.2567) อยู่ที่  112,373 ล้านบาท  แบ่งเป็น  ไตรมาส 1  อยู่ที่  31,000 ล้านบาท , ไตรมาส2 อยู่ที่  39,000 ล้านบาท  และไตรมาส3 อยู่ที่  42,373 ล้านบาท 

ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) หมายถึง ตราสารหนีที่ผู้ออกระดมทุนเพื่อเอาเงินไปใช้ในโครงการหรือกิจกรรมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและ/หรือการพัฒนาสังคม

ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) หมายถึง ตราสารหนี้ที่มีข้อกลงและเงื่อนไขในการปรับอัตราดอกเบี้ย และ/หรือภาระผูกพันของผู้ออกในการดำเนินการด้านความยั่งยืน โดยอ้างอิงกับความสำเร็จหรือผลการดำเนินงานตัวชี้วัดและเป้าหมายด้านความยั่งยืน

 

พร้อมกันนี้  เตรียมเปิดรับฟังความเห็น  (เฮียริ่ง) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม (Green Investment Trust : GIT) เป็นครั้งสุดท้ายในเดือนธ.ค.นี้และคาดว่าจะเริ่มได้ในปีหน้า สำหรับนักลงทุนรายใหญ่พิเศษ 


ทั้งนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. (เมื่อ 1 ส.ค. 67) มีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักการในการออกหลักเกณฑ์รองรับการจัดตั้งและจัดการ GIT เพื่อรองรับและสนับสนุนการลงทุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อกักเก็บก๊าชเรือนกระจก

  • ในกิจกรรมภาคป่าไม้หรือการเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกที่สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนา ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity)ของประเทศ
  • เพื่อส่งเสริมธุรกิจ ผู้ลงทุน หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้มีส่วนร่วมในการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและเป็นช่องทางการระดมทุนในตลาดทุนแก่ธุรกิจ ทั้งโครงการสิ่งแวดล้อมที่ออกมาใหม่หรือเป็นโครงการเดิมที่มีอยู่แล้ว
  • ทั้งนี้ กองทรัสต์ GIT ไม่ได้เป็นไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากการจัดการทรัพย์สินส่วนตัวของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดเป็นการเฉพาะ (private trust) หรือเป็นการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

สำหรับทรัพย์สินหลักที่กำหนดให้กองทรัสต์ GIT ลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม มีดังนี้
(1) กรรมสิทธิ์หรือสิทธิการเช่าที่ดิน เฉพาะกิจกรรมในภาคป่าไม้และการเกษตร
เพื่อกักเก็บปริมาณคาร์บอนให้เพียงพอตามเงื่อนไขขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) หรือ อบก. และ
(2) สิทธิตามสัญญาแบ่งรายได้ในอนาคตของโครงการตาม (1) โดยที่ดินต้องอยู่ในประเทศไทย และอย่างน้อยโครงการทั้งหมดจะต้องขึ้นทะเบียนในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) กับ อบก. หรือมาตรฐานคาร์บอนเครดิตสากลอื่นที่เป็นที่ยอมรับทั่วไป