ตลท. พบจำนำหุ้น THG จากผู้ถือหุ้นใหญ่ค้ำประกัน - เจ้าหนี้วุ่นเปลี่ยนมือ
ตลท. รับพบรายการ “จำนำหุ้น” นอกตลาด THG มากกว่า 10 ราย เกิน 1 ล้านหุ้น จากผู้ถือหุ้นใหญ่นำไปค้ำประกันย้ำต้องมีเอกสารบังคับขายทอดตลาดประกอบถึงการดำเนินการได้ รับแม้จะกระทบความเชื่อมั่นแต่ทุกหน่วยงานดำเนินการตรวจสอบ - ลงโทษ เข้มแข็ง และรวดเร็วไม่ละเว้นใคร
จากประเด็นใหญ่ศาลออกหมายจับ นพ.บุญ วนาสิน กับพวกอีก 9 รายข้อหา ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน จนเป็นประเด็นใหญ่ในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากมีการนำหุ้น บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการปล่อยเงินกู้ให้ หมอบุญ และพวก แต่ไม่ได้รับการจ่ายดอกเบี้ย และเงินต้น เพราะมีการสั่งจ่ายเป็น เช็คเงิน - ตั๋วเงินจำนวนมาก แต่ไม่สามารถขึ้นเงินได้ จนเจ้าหนี้ดำเนินการฟ้องร้องเป็นคดีดัง
นอกจากไม่มีชำระหนี้แล้วยังมีประเด็น ใบหุ้นที่นำไปค้ำประกัน มีทั้งใบหุ้นจริง และเป็นใบหุ้นปลอมระบาดในธุรกิจโบรกเกอร์ช่วงเดือนก.ย.- ต.ค. ที่ผ่านมาจำนวนมาก เกิดเป็นประเด็นปลอมแปลงลายเซ็น และเอกสารเกิดขึ้น
นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ และโฆษกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผย ถึงใบหุ้นของ THG มีประเด็นพบว่าเดือนต.ค. มีการนำใบหุ้นที่รับจำนำมาขอเปลี่ยนแปลงเจ้าของจำนวนมากกับทางศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (TSD) มีจำนวนหลัก 10 ราย จำนวนหุ้นเกิน 1 ล้านหุ้นขึ้นไป ซึ่งพบว่ามีข้อมูลเอกสารไม่ครบถ้วนรวมอยู่ด้วยเนื่องจากการบังคับจำนำต้องมีกระบวนการบังคับขายทอดตลาดประกอบปรากฏว่าไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ทำให้ต้องปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงเจ้าของหุ้น
“จากข้อมูลเป็นหุ้นของกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10 อันดับแรก ที่นำมาจำนำแต่ไม่สามารถบอกว่าได้ว่าจำนวนเท่าไร และใครบ้าง ซึ่งทาง TSD พึ่งพบว่ามีปริมาณการเปลี่ยนแปลงเจ้าของจากจำนำหุ้น THG ประมาณ 1 เดือนที่แล้ว และยังไม่มีเคสหุ้นอื่นที่เกิดขึ้นเหมือน THG ”
ตามกระบวนการนักลงทุนที่เป็นเจ้าหนี้รับจำนำหุ้นหากผิดนัดชำระหนี้ ต้องมีการนำหุ้นบังคับขายทอดตลาด ทั้งผ่านการประมูลที่เป็นตัวกลางที่ได้รับใบอนุญาต หรือขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ กับทางโบรกเกอร์ที่เป็นสมาชิก ถึงจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงเจ้าของได้ ถ้าเป็นแบบมีใบหุ้น (Scrip) นำเอกสารติดต่อกับทาง TSD โดยตรงเพื่อตรวจสอบใบหุ้น และเปลี่ยนแปลงเจ้าของ ส่วนไร้ใบหุ้น (Scripless) ต้องติดต่อกับโบรกเกอร์ที่เปิดบัญชีเพื่อดำเนินการส่งเรื่องมายัง TSD อีกที
ทั้งนี้ยอมรับว่าธุรกรรมส่วนใหญ่อยู่ที่โบรกเกอร์จากสัดส่วนคนถือใบหุ้นมีแค่ 10% ของทั้งตลาดอีก 90% จะเป็นไร้ใบหุ้นแทน กรณีที่มีการปลอมใบหุ้น และหากมีโบรกเกอร์หรือมาร์เก็ตติ้งเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องต้องพิจารณาว่าเกิดจากความผิดพลาดระบบหรือตัวบุคคล ซึ่งสำนักงานก.ล.ต มีการตรวจสอบระบบเพื่อไม่ให้เกิดการกระทำความผิดอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนที่เป็นเจ้าหนี้จำเป็นต้องเช็กตั้งแต่การจำนำหุ้นต้นทางที่ได้รับมาว่าเป็นของปลอมหรือไม่กับทางช่องทางที่ระบุเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง และหากใบหุ้นหายก็ต้องมีการแจ้งความก่อนจะนำมาขอใบหุ้นใหม่ได้ เพื่อเป็นหลักฐานให้กับนายทะเบียน TSD ในฐานผู้ฝากหลักทรัพย์
ประเด็นการจำนำหุ้นของผู้บริหาร บจ. ในตลาดหุ้นมีแนวทางทางร่วมกับ ก.ล.ต.อยู่แล้วที่จะเปิดข้อมูลให้ผู้ลงทุนรับทราบแต่ต้องคำนึกถึงสิทธิส่วนบุคคลเพราะถือว่าเป็นสินทรัพย์ส่วนตัวที่เจ้าของสามารถดำเนินการได้ การกระทำจำนำหุ้น และเกิดคดีความเป็นพฤติกรรมส่วนบุคคลที่อาศัยความน่าเชื่อถือชื่อเสียงทำให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นไทย การจะดักจับก่อนการกระทำได้ยากจึงต้องเร่งรัดดำเนินการตรวจสอบให้เข้มข้น และเข้มแข็งเพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ
“ทุกเคสที่ฉ้อโกงในตลาดทุนกระทบความเชื่อมั่นทั้งหมด หากแต่การดำเนินการตรวจสอบจากทุกหน่วยงานอย่างเข้มแข็ง รวดเร็ว แม้จะเป็นผู้มีชื่อเสียง ไม่มีชื่อเสียง ผู้ที่อยู่ในวิชาชีพ เป็นผู้กระทำผิดไม่ปล่อยผ่านเลย เป็นสิ่งที่ทุกหน่วยงานดำเนินการเพื่อดึงความเชื่อมั่นผู้ลงทุนกลับมา”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์