‘กูรูตลาดทุน’ หวัง‘ลดภาษีนิติฯ’หนุนกำไรบจ. คาดเพิ่ม 5-6%

‘กูรูตลาดทุน’ หวัง‘ลดภาษีนิติฯ’หนุนกำไรบจ. คาดเพิ่ม 5-6%

ไพบูลย์” ชี้ลดภาษีนิติบุคคลจาก 20% เป็น 15% หนุน“กำไรบจ.ไทย” เติบโต แต่อาจพุ่งแรงเฉพาะในปีแรก แนะรอรัฐเคาะ “ปฏิรูปภาษีทั้งระบบ” ชัด ฟาก “เทิดศักดิ์” ประเมินลดภาษีนิติฯ กำไรบจ. เพิ่ม 5-6% แต่ทำขาเดียวไม่ง่าย และปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ยังต้องใช้เวลา

พลันที !! มีแนวคิดศึกษาการปรับโครงสร้างภาษีของกระทรวงการคลังครั้งใหญ่ และหนึ่งในนั้นรวมถึง “ภาษีเงินได้นิติบุคคล” ซึ่งประเทศไทยกำลังจะปรับให้เป็นไปตามการเก็บภาษีนิติบุคคลระดับโลกขั้นต่ำ (Global Minimum Tax - GMT) ซึ่งนับร้อยประเทศทั่วโลกบรรลุข้อตกลงร่วมกันเรื่องการเก็บภาษีระหว่างประเทศ โดยประเทศไทยจะศึกษาการจัดเก็บปรับลดจาก 20% เป็น 15% 

โดย “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” จะมีการศึกษาเพื่อจูงใจการทำงานในประเทศไทย นอกเหนือจากการให้วีซ่า อาจมีการพิจารณาปรับลดจาก 35% เหลือ 15% ขณะที่ “ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีการบริโภค” (VAT) โดยทั่วโลกมีการเก็บในอัตรา 15-25% ขณะที่ประเทศไทยเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพียง 7% จากอัตราที่กำหนดไว้ 10% ในประเทศจีนเก็บอยู่ที่ 19% ประเทศสิงคโปร์จัดเก็บที่ 9% และประเทศในยุโรปมีการจัดเก็บที่ 20%

‘กูรูตลาดทุน’ หวัง‘ลดภาษีนิติฯ’หนุนกำไรบจ. คาดเพิ่ม 5-6%

“ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จํากัด เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล จาก 20% เป็น 15% แน่นอนว่า บริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ได้ประโยชน์ เนื่องจากหนุน “กำไรบจ.” ปรับตัวดีขึ้นแน่นอน ถือเป็นเรื่องที่ดี ถึงแม้ว่ากำไรจะปรับตัวสูงขึ้นมากในปีแรกปีเดียวที่เริ่มปรับลดภาษีดังกล่าว

ในส่วนของการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ขณะเดียวกันก็ปรับขึ้นภาษีมูลเพิ่มด้วยนั้น แม้ว่ารัฐบาลมีโอกาสมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่จะกระทบต่อกำลังซื้อการบริโภคมากน้อยแค่ไหน

ทั้งนี้ มองว่า “การปรับลดภาษี” เป็นสิ่งที่ดี แต่ลดภาษีขาเดียวอย่างภาษีเงินได้นิติบุคคล และบุคคลธรรมดา “คงไม่ใช่เรื่องง่าย” เพราะตอนนี้รัฐบาลมีข้อจำกัดด้าน “งบประมาณ” และ “หนี้สาธารณะ” ที่อยู่ในระดับสูงใกล้เพดานหนี้แล้ว

ส่วนการจะ “ปรับขึ้นภาษี” ขาเดียว อย่าง “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” อาจส่งกระทบต่อการบริโภคกำลังซื้อในประเทศลดลง ที่ขณะนี้ยังมีหนี้ครัวเรือนที่กำลังเร่งแก้ปัญหา อาจส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าได้

ดังนั้น มองว่าภาษีมูลเพิ่ม ควรมีทั้งปรับเพิ่มและปรับลดลงภาษี ควบคู่กัน เช่น แบ่งตามประเภทของสินค้า หากเป็นกลุ่มสินค้าที่จำเป็น เช่น อาหาร ชุดนักเรียน หนังสือ สามารถปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มได้ด้วย จากเดิม 7 % เป็น 5% และปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มมากกว่า 7% ในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยหรือไม่จำเป็น เช่น รถยนต์ เป็นต้น 

“เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบ มองว่า ยังเป็นสิ่งที่ต้องทำ ทั้งขึ้นและลด ควรทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ไม่กระทบกำลังซื้อ จึงมองว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งรอได้ ไม่ต้องรีบร้อน พิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งเศรษฐกิจไทยเริ่มนิ่งแล้ว แต่ยังรอติดตามว่าในระยะข้างหน้าจะฟื้นตัวต่อได้จริงหรือไม่ ซึ่งเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ยังไม่เห็นอะไรที่จะมาเป็นจุดเปลี่ยนได้ คงต้องรอติดตามมาตรการรัฐบาลว่า หลังจากน้จะออกมาตรการอื่นๆ มาเพิ่เติมอีกหรือไม่ เพื่อสร้างแรงกระเพิ่มเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้าและกลายเป็นโมเมนต์เชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยด้วย”

“ไพบูลย์” กล่าวต่อว่า แนวโน้ม “ตลาดทุนไทย” จะไปต่อได้นั้น คงไม่ได้ขึ้นกับการปฏิรูปโครงสร้างภาษีเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับโมเมนตัมของเศรษฐกิจไทยที่จะหนุนผลกำไร บจ. เติบโตต่อได้ เพราะกำไรบจ. (EPS) ในปี 2567 คาดว่า “นิ่ง” หรือ “เท่ากับปีก่อนหน้า” และยังสามารถเติบโตน้อยกว่าที่ประเมินว่า กำไรบจ.ปีนี้น่าจะเติบโต 10% ขึ้นไป 

ประกอบกับเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังมีความเสี่ยงสูง ไม่ว่าจะเป็น “นโยบายภาษีของ โดนัลด์ ทรัมป์” รวมทั้ง “ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง” ต้องเร่งแก้ไข และด้วย “ดัชนีหุ้นไทย” ส่วนใหญ่อิงกับหุ้นขนาดใหญ่ ซึ่งจะขึ้นกับโมเมนตัมเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก แต่ด้วยปัจจุบันราคาหุ้นไทยไม่แพง ดาวน์ไซด์ไม่มากแล้ว แต่อัปไซด์ยังไม่สามารถประเมินชัดเจน ยังคงมองดัชนีหุ้นไทยปีหน้าไว้ที่ 1,550 จุด 

นอกจากนี้ มองว่าเรื่องการนำทุนสำรองประเทศที่มีอยู่จำนวนมาก มาใช้ เป็นวิธีการที่ดี แต่ควรนำมาบางส่วนเท่านั้น เช่นเดียวกับที่จีนจีนเคยตั้งเป็น “กองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ” มีวัตถุประสงค์เพิ่มการเรียนรู้ ซึ่งเรา ควรนำมาใช้เพื่อการเรียนรู้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย เช่น สนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยี สร้าง “เอสเคิฟธุรกิจใหม่” ซึ่งต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวเป็นสำคัญ ไ่ม่ใช่นำมาใช้เฉพาะหน้าเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น

“เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า สำหรับการเก็บภาษีส่วนเพิ่ม รองรับเงินเข้ากองทุนเพิ่มขีดความสามารถประเทศ รับเกณฑ์เข้าเป็นสมาชิก OECD ซึ่งจะเก็บภาษีขั้นต่ำบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่โดยเกณฑ์กำหนดให้กลุ่มบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ที่มีรายได้ตั้งแต่ 759 ล้านยูโรขึ้นไป หรือประมาณ 28,000 ล้านบาท ต้องเสียภาษีขั้นต่ำในอัตรา 15% มองว่าในส่วนนี้ไม่กระทบต่อการ “แข่งขันของ บจ.ไทย”

ส่วนการปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบ หากปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามเกณฑ์ OECD จาก 20% เป็น 15% ประเมินในเบื้องต้นขณะนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกอุตสาหกรรมและดีต่อ “กำไรบจ.” (EPS) ทั้งระบบ น่าจะปรับขึ้นเฉลี่ย 5-6% หรือ EPS ขยับขึ้นได้ 4-5 บาท ณ PE ปัจจุบัน 17 เท่า จะส่งผลบอกต่อดัชนีหุ้นไทยราว 70 กว่าจุด

แต่อย่างไรก็ตาม มองว่ารัฐบาลไม่น่าจะสามารถปรับลดภาษีขาเดียวได้ เพราะมีข้อจำกัดด้วยงบประมาณขาดดุลที่สูง และหนี้สาธารณะค่อนข้างสูงใกล้ถึงระดับเพดานแล้ว ขณะเดียวกันภาครัฐต้องจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น ด้วยปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งปัจจุบันยังมีกระแสคัดค้านเกิดขึ้น  ดังนั้น การปรับปรุงโครงสร้างภาษีทั้งระบบ คงไม่ใช่เรื่องง่ายและยังต้องใช้เวลาในการพิจารณา

“แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีหน้ายังไม่มีแรงขับเคลื่อนที่ชัดเจน ขณะที่กำไรบจ.ปีหน้าดีกว่าปีนี้เพราะฐานปีนี้ที่ถูกปรับลงมา ขณะที่กระแสฟันด์โฟลว์จะไหลเข้ามาต่อเนื่องยังไม่ชัดเจน จากแรงซื้อขายในตลาดหุ้นไทยปัจจุบันที่ 50,000 ล้านบาทต่อวันยังไม่เพียงพอ และตลาดตอบรับนโยบายรัฐบาลปีหน้าไปก่อนหน้านี้บ้างแล้ว”

ดังนั้น ต้องรอดูว่าภาครัฐจะมีมาตรการเพิ่มเติมเข้ามาแรงกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศมากกว่านี้ เพราะยังมี “ปัจจัยเสี่ยง” รออยู่ข้างหน้า ทั้งการเมืองในประเทศ , เงินบาทอ่อนค่า , นโยบายกำแพงภาษีของทรัมป์ ซึ่งเข้าสร้างความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า โดยมองเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปีหน้าที่ 1,600 จุด และสิ้นปีนี้ที่ 1,450 จุด ปรับขึ้นลงประมาณ 10 จุด