“บล.แซดคอม” ยอมถอย เจรจาลูกค้าบัญชีมาร์จิน - ลดเสี่ยง
ปัญหาในตลาดหุ้นไทยยังมีส่งท้ายปลายปี 2567 ต่อเนื่อง ยิ่งเรื่อง “มุมเสียหาย” ในตลาดหุ้นไทย กรณี “มาร์จิ้น” เกิดปัญหาบานปลายเมื่อโบรกที่ปล่อยมาร์จินใหญ่สุดในอุตสาหกรรม
บริษัทหลักทรัพย์ แซดคอม จำกัด ซวนเซกระทบฐานทุนหลังผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่สามารถใส่เงินทุนอุ้มได้อีก หลังความเสียหายปล่อยวงเงินสูงเกินเยียวยา
แนวทางแก้ไขปัญหาตัดไฟ ยุติการให้บริการบัญชีมาร์จิน 20 ธ.ค. 2567 เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบเพิ่มมากขึ้น แต่บรรดา หุ้นที่เคยปล่อยมาร์จิ้น จำนวน 926 หลักทรัพย์ (13 พ.ค. 67) ถูกปรับเกรดลงมาเป็น F จากเดิมต้นเดือนพ.ค. ยังปล่อยมาร์จินหุ้นเกรด A มากถึง 237 หลักทรัพย์ เกรด B ที่ 115 หลักทรัพย์ หุ้นเกรด C จำนาน 61 หลักทรัพย์ หุ้นเกรด D จำนวน 65 หลักทรัพย์ หุ้นเกรด E จำนวน 355 หลักทรัพย์ และหุ้นเกรด F จำนวน 113 หลักทรัพย์
ถัดมาหลีกเลี่ยงไม่พ้น “เทขายในตลาดหุ้น” ใน“ทุกราคา” เพื่อนำเงินมา“ปิดตัวเลขขาดทุนจำนวนมาก” กำหนดระยะเวลามิ.ย. -ธ.ค. 2567 กับการแก้ไขปัญหาบัญชีมารจินจึงมีผลต่อหุ้นรายตัว โดยจะมีทั้งการฟ้องร้องทั้งจาก “นักลงทุนที่ได้รับความเสียหาย ” เพราะทำตามเกณฑ์ถูกต้อง และ “ฟ้องร้องลูกค้าที่เล่นตุกติก” ให้บริษัทรับขาดทุนไม่มาชำระเงิน
แน่นอนว่าระหว่างทางมีกลุ่ม ลูกค้าที่ได้รับความเสียหาย เข้าเจรจาแก้ไขปัญหา ผ่านเสนอเงื่อนไขต่างๆ เช่น เงื่อนไขการผ่อนชำระ และวางหลักประกันเพิ่มเติม ฯลฯ แต่ยังไม่มีการตอบรับจาก บล. แซดคอม พร้อมระบุจะดำเนินการขายหลักทรัพย์ดังกล่าววันที่ 20 ธ.ค. 67 นี้ทั้งหมด ซึ่งตามข้อมูลมูลค่าน่าจะมากกว่า 800 ล้านบาทตามที่ บล.แซดคอมระบุ หรืออาจจะแตะหมื่นล้านบาทด้วยซ้ำ
ปัจจุบันทาง บล.แซดคอม ยอมเปิดโต๊ะเจรจากับกลุ่มนักลงทุนที่ได้รับความเสียหายแล้ว เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา ไม่ได้มุ่งต้องการปิดบัญชีความเสียหายและเทขายหุ้นในตลาดเพียงอย่างเดียว ซึ่งสามารถลดความเสียหายด้านภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้ระดับหนึ่ง
ด้านหน่วยงานกำกับและดูแล ทั้ง ตลาดหลักทรัพย์ ฯ และ สำนักงาน ก.ล.ต. ถือว่าเป็นไปตามการพิจารณาตามดุลยพินิจในการดำเนินธุรกิจบริษัท เนื่องจากมีสัญญาเปิดบริการบัญชีมาร์จิ้น ส่วนการจะเทขายหุ้นที่อยู่ในบัญชีมาร์จินที่เหลือทั้งหมดในช่วงที่เหลือของปี ไม่มีผลกระทบมากเมื่อเทียบกับมูลค่าซื้อขายรายวันของทั้งตลาดหุ้นไทยเฉลี่ย 50,000 ล้านบาทสามารถรองรับได้
อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นหลีกเลี่ยงความเสียหายตลาดทุนไทยไม่ได้ ด้านนักลงทุน ผู้ถือหุ้นที่เกี่ยวข้อง และที่หนักสุดคือ บล.แซดคอม ปัจจุบันเข้าสู่การเคลียร์หนี้ - สินทรัพย์ เพื่อรอวันปิดกิจการ ด้วย “ฐานะการเงิน” ยังไม่ดีขึ้นแม้จะมีการทยอยขายหุ้นลดผลกระทบมาตลอดปี 2567
โดย“ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น” ในงวด 6 เดือน ปี 2567 อยู่ที่1.14 พันล้านบาท จากงวด 6 เดือน ปี 2566 อยู่ที่ 685.94 ล้านบาท ขณะที่ มีลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 2567 ที่ 5.87 พันล้านบาท
ขณะที่งวด 6 เดือน ปี 2567 “แซดคอม” มีรายได้รวม 527.64 ล้านบาท ลดลงเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนมีรายได้รวม 647.68 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ค่านายหน้าอยู่ที่ 10.21 ล้านบาท ลดลงเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนมีรายได้รวม 11.64 ล้านบาท ด้านรายได้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 479.88 ล้านบาท และ 526.39 ล้านบาท
ส่งผลทำให้มีผล “ขาดทุนสุทธิ” สำหรับงวด 6 เดือนแรกปี 2567 อยู่ที่ 1,048 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 591.10 ล้านบาท ที่น่าสนใจคือ ในหมายเหตุประกอบ งบการเงินระบุ ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2567 บริษัทมีเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ที่จะครบชำระภายใน 1 ปี จำนวน 10,117.235 ล้านบาท
ประกอบด้วย เงินกู้ยืมในรูปเงินตราต่างประเทศ อัตราดอกเบี้ย 3.5% จำนวน 1,817.235 ล้านบาท ตั๋วสัญญาใช้เงิน อัตราดอกเบี้ย 4.20-4.70% จำนวน 3,320 ล้านบาท และตั๋วแลกเงิน อัตราดอกเบี้ย 4.20-4.70% จำนวน 4,980 ล้านบาท