ก.ล.ต.หวัง‘เพิ่มอำนาจ’สอบสวนคดี ชี้แก้กฎหมายอยู่ในขั้นกฤษฏีกา
ก.ล.ต. ย้ำปี 2568 หวัง “เพิ่มอำนาจ” เป็นพนักงานสอบสวนการกระทำความผิดต่อ “ตลาดทุนไทย” ได้สำเร็จ ชี้ปัจจุบันการแก้ไขกฎหมายรองรับอยู่ขั้นตอนกฤษฏีกาพิจารณา หนุนเคสที่เกิดขึ้นสู่กระบวนการชั้นตุลาการเร็วขึ้น พร้อมเร่งสานต่อสร้าง “ความเชื่อมั่น” ตลาดทุน ดึงวอลุ่มเทรด
“การขับเคลื่อนตลาดทุนไทย” ในปีนี้จะเห็นว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เร่งเดินหน้า “การบังคับใช้กฎหมาย” และ “การป้องกันการถูกหลอกลวงให้ลงทุน” เพื่อสร้างความเชื่อมั่นตลาดทุน (Trust and Confidence) และในปี 2568 ยังเดินหน้าต่อเนื่อง และเพิ่มเติมกระบวนการบังคับใช้กฎหมายให้เร็วยิ่งขึ้น
นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยถึงแนวทางการบังคับใช้กฎหมายของก.ล.ต. ในปี 2568 ว่า ขณะนี้ทางสำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีการปรับกระบวนการภายใน โดยเฉพาะการรองรับกรณีที่ ก.ล.ต. จะเป็นพนักงานสอบสวนในอนาคตในการดำเนินคดีทางอาญา ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความสามารถของบุคลากร ปัจจุบันการดำเนินการแก้ไขกฎหมายรองรับกรณีดังกล่าว อยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา
“ปกติเวลาดำเนินคดีอาญาทาง ก.ล.ต. จะต้องไปกล่าวโทษกับพนักงานสอบสวน ซึ่งพนักงานสอบสวนจะต้องทำกระบวนการในการสืบสวนสอบสวนอีกรอบหนึ่งในฐานะการเป็นพนักงานสอบสวน เพราะฉะนั้นกระบวนการพวกนี้ใช้เวลานาน ทำให้การลงโทษหรือการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระท่าผิดล่าช้า จึงอาจเกิดความไม่มั่นใจได้ ตรงนี้ถ้าต่อไป ก.ล.ต. สามารถเป็นพนักงานสอบสวนได้ อย่างน้อยช่วยลดขั้นตอนและบังคับใช้กฎหมายในคดีอาญาได้เร็วขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการบังคับใช้ทางกฎหมายของทางก.ล.ต. ในปี 2567 พบว่า มีการดำเนินคดีทางอาญา จากการกระทำอันไม่เป็นธรรมและทุจริตรวม จำนวน 13 คดี เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่จำนวน 8 คดี และมีมาตรการลงโทษทางแพ่ง จำนวน 10 คดี โดยจำนวนผู้กระทำความผิด 53 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีจำนวน 7 คดี จำนวนผู้กระทำความผิดจำนวน 22 ราย
โดยมองว่า หากในระยะข้างหน้าทาง ก.ล.ต. สามารถเป็นพนักงานสอบสวนได้ อย่างน้อยจะช่วยลดขั้นตอน และกระบวนบังคับใช้กฎหมายเร็วขึ้นได้ ดังนั้น เชื่อว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายในคดีอาญารวดเร็วขึ้น ดังนั้น ในกรณีเคสต่างๆ ที่เกิดขึ้นสามารถนำขึ้นสู่กระบวนการชั้นตุลาการได้เร็วขึ้นอย่างแน่นอน และทุกกรณีเหมือนกรณีทางแพ่ง ที่ทาง ก.ล.ต. สามารถดำเนินการกล่าวโทษ และถ้าไม่ยินยอม มาตรการลงโทษทางเพ่งของ ก.ล.ต. จะฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งจะเปิดข้อพิพาทให้ศาลได้พิจารณาต่อไป
โดย มีค่าปรับทางแพ่ง และชดใช้เงินเท่าผลประโยชน์ที่ได้รับรวมจำนวน 696 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 104 ล้านบาท ดังนั้น มองว่าการบังคับใช้กฎหมายไปได้ด้วยดี ซึ่งในปี 2568 หากสามารถดำเนินการได้แบบนี้อีก ซึ่งเชื่อว่าในระยะยาวจะสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดทุนได้
“ในปีนี้จะเห็นว่าถ้าเราทำอย่างนี้ได้ดีในชั้นตุลาการ ผลก็คือผู้กระทำผิดในอนาคต พอเห็นว่าถ้าสู้ขึ้นมาแล้วไปสู่ในชั้นศาล นอกจากจะมีค่าใช้จ่ายในการต้องสู้คดีกันแล้ว และถ้าแพ้คดีจะถูกศาลสั่งบังคับใช้กฎหมายที่โทษสูงสุด มีผลทำให้เกิดการยอมจ่ายค่ายค่าปรับเร็วขึ้น”
นอกจากนี้ ขณะที่ปริมาณการซื้อขาย (วอลุ่มตลาด) ที่ลดลงในช่วงก่อนหน้านี้ คงปฎิเสธไม่ได้ในเรื่องของผลกระทบด้าน Trust & Confidence ของตลาดทุนไทย แต่เชื่อมั่นว่า หากปรับกระบวนการบังคับใช้กฎหมายให้ดำเนินการกับผู้กระทำความผิดได้อย่างรวดเร็ว
โดยเชื่อว่าจะส่งให้เกิดเชื่อมั่นมีทิศทางที่เริ่มดีขึ้น ซึ่งสะท้อนได้จากเทรนด์วอลุ่มการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นที่ปรับตัวดีขึ้น โดยปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 50,000 ล้านบาทต่อวัน จากช่วงต้นปีที่อยู่ระดับ 40,000 ล้านบาทต่อวัน
นอกจากนี้ ในกรณีผู้บริหารที่มีข้อสงสัยในประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้น จนทำให้เกิดความไม่น่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารบริษัทนั้น โดยในหลักการพิจารณาโดยทั่วไปทาง ก.ล.ต. จะแบนใครไม่ให้มีส่วนร่วมในตลาดทุน หลักคิดของก.ล.ต. ต้องมั่นใจว่า คนนั้นเป็นคนไม่ดีระดับหนึ่ง ซึ่งแปลว่าหาก ก.ล.ต. เห็นพฤติกรรมเองและได้มีการตรวจสอบแล้วพบการกระทำความผิดจริง เช่น กรณีผู้บริหารมีการทุจริต เป็นอันนี้จะเข้าข่ายลักษณะขาดความน่าไวว้างใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัทตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (คณะกรรมการ ก.ล.ต.)
ขณะที่ ในส่วนกรณีที่เป็นความผิดอื่นๆ ที่สำนักงาน ก.ล.ต. ไม่ได้พบการกระทำเอง ก็จะต้องมีคนที่ชี้ให้ได้ก่อนว่าเขาผิดจริงๆ ซึ่งถ้าเผื่ออยู่ระหว่างดำเนินคดี หรือยังไม่ถูกพิพากษาถึงที่สุดทางกฎหมาย ถือว่า ยังไม่เข้าข่ายลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัทนั้นๆ