เทคนิค "เตรียมความพร้อมก่อนเข้าอนุบาล" ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้
“เตรียมอนุบาล” เป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับเด็กน้อย เพราะถือเป็นเวลาแห่งพัฒนาการของเด็ก และการเติมทักษะมากมายให้พวกเขาได้พร้อมก่อนจะไปเจอสังคมใหม่ เพื่อนใหม่ กฎระเบียบต่างๆ ในโรงเรียนอนุบาล
โดยทักษะที่เด็กน้อยจำเป็นต้องใช้เมื่อไปโรงเรียนอนุบาล เป็นการฝึกให้เด็กมีทั้งหัวคิดและหัวใจ (mind&heart) คุณแม่คุณพ่อต้องทำให้ช่วงเวลาของการฝึกทักษะเหล่านี้สนุกสนาน โดยฝึกผ่านการเล่น ผ่านกิจกรรมประจำวันของลูก เพื่อลูกจะได้มีความสุข ไม่เครียด และเรียนรู้ได้ดี
- ช่วงเวลาของการฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง
เรื่องนี้สำคัญ เพราะเมื่อเด็กเข้าไปอยู่ในอีกสังคมหนึ่ง ซึ่งไม่มีคนมาดูแลใกล้ชิดเหมือนอยู่ที่บ้าน เด็กต้องช่วยเหลือตัวเองได้ดีพอสมควร เด็กที่ช่วยเหลือตัวเองได้ดีกว่าก็จะปรับตัวให้เข้ากับโรงเรียนได้ดีกว่าเช่นกัน
การฝึกให้เด็กรู้จักช่วยเหลือตัวเองให้ได้ก่อนเข้าเรียนอนุบาลนั้น ควรมีดังนี้
- ฝึกให้กินข้าวด้วยตัวเองได้
- ให้เลิกใช้ผ้าอ้อมก่อนเข้าโรงเรียน
- ฝึกนั่งชักโครก ฝึกการขับถ่ายเป็นเวลา และบอกเมื่อต้องการเข้าห้องน้ำ
- ต้องแต่งตัวเองพอได้ ติดกระดุมได้ รูดซิปได้ ถอดถุงเท้าและรองเท้าได้เอง
- ช่วงเวลาของการฝึกทักษะและความรู้พื้นฐาน
ในวัยเตรียมอนุบาล คุณแม่สามารถฝึกเด็กให้มีทักษะพื้นฐานในเรื่องต่างๆ เช่น ฝึกการจับดินสอ ขีดเขียน ระบายสี สอนลูกให้รู้จักนับเลข 1-10 ท่อง ก-ฮ A-Z รู้จักชื่อสี 2-3 สี ให้เด็กมีโอกาสได้เล่นหรือทำกิจกรรมที่ได้ใช้มือบ่อยๆ เช่น ต่อบล็อก ต่อจิ๊กซอว์ ปั้นดินน้ำมัน พับกระดาษ ก่อกองทราย เป็นต้น โดยสามารถทำให้เป็นการผสมระหว่างการฝึกกับการเล่น ไม่จำเป็นต้องเคร่งเครียดจริงจัง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เลี้ยงดู "เด็กพิเศษ" ต้องเริ่มจากพ่อแม่ คัดกรองให้ไว เสริมพัฒนาการรอบด้าน
เลี้ยงลูกปฐมวัยในยุค VUCA World เพิ่มการลงทุน เติมทักษะ 5H – Coding
- ช่วงเวลาของการฝึกเรื่องการอดทนรอคอย
ขณะอยู่โรงเรียน เด็กจะไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการทันทีเหมือนตอนอยู่บ้าน เพราะมีเด็กหลายคนไปอยู่รวมกัน เด็กจึงต้องอดทนรอคอย เช่น รอเล่นของเล่น หรือรอพ่อแม่รับกลับบ้าน เป็นต้น
ต้องค่อยๆ ฝึกเด็กให้รู้จักรอคอยทีละน้อย โดยสร้างเงื่อนไขให้เด็กรู้จักรอ ไม่ตอบสนองเด็กทันที เช่น เมื่อเด็กอยากให้ชงนมให้ ก็บอกว่ารอให้แม่เด็ดผักให้เสร็จแล้วจะไปชงให้ หรืออาจใช้วิธีเบี่ยงเบนให้เด็กหันไปสนใจสิ่งอื่นทดแทนสิ่งที่เขากำลังรออยู่ เป็นต้น เป็นการสอนให้เด็กรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีขอบเขต ไม่จำเป็นว่าพ่อแม่ต้องตามใจทุกครั้งเพราะกลัวว่าเด็กจะเสียใจ เพราะจะยิ่งทำให้เด็กปรับตัวกับสังคมใหม่อย่างโรงเรียนอนุบาลได้ยาก
- ช่วงเวลาของการฝึกให้รู้จักบอกความต้องการ
เมื่อเด็กต้องไปอยู่ที่โรงเรียน ครูไม่สามารถทำอย่างที่พ่อแม่ทำให้เด็กได้เพราะต้องดูแลเด็กหลายคน คุณแม่คุณพ่อจึงต้องฝึกเด็กให้สามารถพูดได้ว่าต้องการอะไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร หรือเมื่อมีปัญหาก็สามารถพูดจัดการได้ เมื่อเด็กสามารถบอกความต้องการของตนเองกับคนอื่นได้ เด็กก็จะปรับตัวได้ดี อีกทั้งยังลดพฤติกรรมก้าวร้าวลงอีกด้วย เพราะเด็กพูดสื่อสารบอกความต้องการให้คนอื่นรับรู้ได้
- ช่วงเวลาของการฝึกทักษะทางสังคม
เด็กในวัย 1-3 ปียังยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง หากคุณแม่คุณพ่อไม่ได้ฝึกให้เด็กรู้จักเล่นกับเด็กคนอื่น จะทำให้เขาเข้าสังคมกับเด็กอื่นได้ลำบาก อาจจะทะเลาะ ใช้ความรุนแรงใส่กัน จึงควรฝึกให้เด็กได้เล่นกับเด็กวัยเดียวกันบ้าง บอกให้เขาแบ่งของเล่นให้เพื่อน หากเขาทำได้ก็ชมเขา แต่ถ้าเด็กยังไม่อยากทำ อย่าใช้วิธีบังคับเพราะจะยิ่งทำให้เด็กหวงของมากขึ้น ค่อยๆ ฝึกไว้บ้างดีกว่าไปฝึกเมื่อเด็กเข้าโรงเรียนเลย
- เด็กที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษ จะเตรียมพร้อมอย่างไร?
"เด็กที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษ" หรือเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการและพฤติกรรม เด็กออทิสติก เด็กสมาธิสั้น ในช่วงวัย 3 - 6 ขวบ ซึ่งมักอาจทำให้คุณแม่คุณพ่อเกิดความกังวลว่าการเข้าเรียนร่วมกับเพื่อน ๆ อย่างไร? รวมถึงกังวลการจะถูกรังแก หรือถูกครูดุ อีกทั้งอาจแยกตัวไม่เข้ากิจกรรม จนทำให้การเรียนในโรงเรียนอนุบาลปกติไม่ช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้เพิ่มเติม
พญ.มัณฑนา ชลานันต์ กุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรม ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ปัจจุบันเจ้าตัวเล็กมีปัญหาด้านพัฒนาการและพฤติกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กที่มีภาวะซน สมาธิสั้นและกลุ่มอาการออทิสติก รวมถึงพัฒนาการล่าช้าในด้านต่าง ๆ
จากข้อมูลในประเทศไทยระบุว่า พบกลุ่มอาการออทิสติกที่อายุไม่เกิน 5 ปีในสัดส่วน 1 คนต่อเด็ก 161 คน เด็กที่มีปัญหาด้านพัฒนาการควรได้รับการกระตุ้นให้มีพัฒนาการสมวัยภายใน 5 ขวบปีแรก เพราะเป็นช่วงที่สมองมีอัตราการเติบโตมากที่สุด อีกทั้งยังเป็นการเตรียมทักษะที่จำเป็นขั้นต้นเพื่อเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษา ซึ่งจัดเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานและมีการเรียนรู้ที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
- Hospital Kindergarten Group โปรแกรมเตรียมพร้อมเด็ก
วิธีการรักษาเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการในวัย 5 ขวบปีแรก ทำได้โดยการฝึกกระตุ้นพัฒนาการและปรับพฤติกรรมโดยผู้ชำนาญการเฉพาะด้าน เช่น เด็กกลุ่มอาการออทิสติกจะได้รับการทำจิตวิทยาสังคมบำบัด (Psychosocial Therapy) เพื่อปรับอาการที่เป็นสาเหตุหลัก
โดยจากการศึกษาในต่างประเทศพบว่า การฝึกกระตุ้นพัฒนาการและปรับพฤติกรรมควรทำอย่างเข้มข้นและสม่ำเสมอเป็นระยะเวลายาวนานจึงจะสามารถพัฒนาทักษะแต่ละด้านของเด็กได้
นอกจากนี้ยังพบประโยชน์ของการเล่นกลางแจ้งในเด็กกลุ่มอาการออทิสติก โดยพบว่าช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ร่างกายได้รับวิตามินดีจากแสงอาทิตย์ ช่วยเพิ่มกระบวนการความคิดและพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม อีกทั้งเพิ่มทักษะการรับรู้ของร่างกายและเพิ่มสมาธิ ทำให้เด็กกลุ่มอาการออทิสติกรับรู้ได้ว่าตนมีสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตที่ดีขึ้น
โปรแกรม Hospital Kindergarten Group โปรแกรมเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กที่ต้องการการช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยกิจกรรมการเรียนรู้แบบกลุ่มนี้มีเป้าหมายให้เด็กปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และพัฒนาทักษะการช่วยเหลือตนเอง ตลอดจนทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม
ทั้งนี้ เพื่อคืนเด็กกลับสู่ภาวะปกติตามธรรมชาติได้มากที่สุด และสามารถเข้าเรียนในชั้นเรียนปกติได้ในที่สุด โดยคลินิกพัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลกรุงเทพ มีความพร้อมในการดูแลเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการและพฤติกรรมด้านต่าง ๆ ภาวะสมาธิสั้น กลุ่มอาการออทิสติก เพื่อกระตุ้นพัฒนาการ ทักษะการช่วยเหลือตัวเอง ทักษะทางสังคม การจัดการกับปัญหาอารมณ์
ทั้งยังช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจตัวตนของเด็กและวิธีการดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ลดความเครียดของผู้ปกครองในการดูแลเด็กพิเศษที่บ้าน และสร้างความร่วมมือกับผู้ปกครองในการส่งต่อเด็กเข้าสู่การเรียนร่วมในโรงเรียน
- แบ่งกลุ่มการเรียนรู้ เสริมพัฒนาการเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
โดยการจัดการเรียนรู้เป็นกลุ่ม ดูแลเด็กในวัย 3 - 6 ขวบที่มีปัญหาพัฒนาการและพฤติกรรม ออทิสติก สมาธิสั้น กลุ่มละ 5 คน ต่อคุณครู 2 คน ในกรณีที่มีข้อจำกัดในด้านอารมณ์ กุมารแพทย์และทีมจะพิจารณาให้การดูแลเป็นพิเศษแบบตัวต่อตัว ซึ่งลักษณะกิจกรรมประกอบไปด้วย
Outdoor Activity กิจกรรมนอกห้องเรียนที่เปิดกว้างความคิดของเด็ก ๆ เพื่อให้สัมผัสถึงความสุขในการใช้ชีวิตและเพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย
Individual Training กิจกรรมฝึกทักษะการสื่อสาร การเล่น และกิจกรรมบำบัดแบบตัวต่อตัว จำนวน 4 ครั้ง / คอร์ส เพื่อเพิ่มทักษะที่จำเป็นให้กับเด็กแต่ละคน โดยผู้ชำนาญการเฉพาะทางในแต่ละด้าน
Special Skill Training กิจกรรมศิลปะ ดนตรี ทำอาหาร และฝึกการผ่อนคลาย (Art / Music / Cooking / Relaxation Therapy) ช่วยให้เด็กค้นพบวิธีผ่อนคลายเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการจัดการอารมณ์ที่หลากหลายของตนเอง
ADL (Activity of Daily Living) Training กิจกรรมกลุ่มที่จะช่วยกระตุ้นให้เด็ก ๆ อยากช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น โดยมีครูผู้ชำนาญการ คอยให้การสนับสนุนเพื่อช่วยให้เด็กแต่งตัว เข้าห้องน้ำ บอกความต้องการ และกินข้าวได้ด้วยตนเอง
Social Skill Training กิจกรรม Morning Talk ตอนเช้าและกิจกรรมกลุ่มตลอดทั้งวันกับผู้ชำนาญการปรับพฤติกรรม ช่วยให้เด็ก ๆ ซึมซับทักษะการรอคอย การแบ่งปัน การเคารพกติกา การเห็นอกเห็นใจกัน การสื่อสาร และการแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสม รวมทั้งมีส่วนร่วมในสังคมอย่างค่อยเป็นค่อยไป
Pre - Academic Skill Training กิจกรรม Early Childhood Education ที่เลือกให้เหมาะกับเด็กแต่ละคน ช่วยให้เด็ก ๆ พัฒนาทักษะการอ่านและการคำนวณเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการศึกษาชั้นปฐมวัย
เมื่อจบโปรแกรมการรักษาเจ้าตัวเล็กจะต้องพบแพทย์เพื่อเข้ารับการประเมินพัฒนาการและวางแผนการรักษาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสามารถควบคุมตนเองและใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถดึงศักยภาพที่เจ้าตัวเล็กมีออกมาต่อยอดเพื่อให้เด็กเติบโตอย่างสมบูรณ์ในอนาคตสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คลินิกพัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลกรุงเทพโทร. 02 -755-1212 หรือ แอดไลน์ @bangkokhospita
- เลือกรูปแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็ก
การเลือกโรงเรียนอย่างเหมาะสมตามวัยของลูกนั้น ควรพิจารณาตามช่วงอายุ โดยแบ่งเด็กออกเป็น 2 ช่วง
- กลุ่มอายุก่อนเข้าวัยเรียนหรือวัยอนุบาล (Pre – School Age)
- กลุ่มที่อยู่ในวัยเรียน (School Age) หมายถึง เด็กที่เรียนชั้นป.1 ขึ้นไป สำหรับเด็กที่อยู่ในวัยอนุบาลจะเรียนรู้ได้ดีผ่านกิจกรรมการเล่นที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
งานวิจัยพบว่า หากเด็กกลุ่มนี้ได้รับประสบการณ์เข้าเรียนในโรงเรียนหรือสถาบันที่มีคุณภาพ (High Quality Day Care) จะทำให้มีทักษะทางด้านความคิด ภาษา และสังคมดีกว่าเด็กที่ไม่ได้รับประสบการณ์ดังกล่าว
- หลักการพิจารณาโรงเรียนหรือสถาบันคุณภาพ
การพิจารณาว่าโรงเรียนหรือสถาบันใดมีคุณภาพนั้นมีหลักการอยู่ 3 ข้อคือ
คุณภาพของครูผู้สอน พิจารณาได้จากสัดส่วนของครูต่อเด็กและจำนวนเด็กในกลุ่ม เช่น เด็กอายุประมาณ 2 – 3 ขวบ ควรเป็นสัดส่วนคุณครู 1 คนต่อเด็ก 4 – 5 คน โดยขนาดกลุ่มไม่ควรเกิน 10 คน เด็กวัย 3 – 4 ขวบ ควรมีคุณครู 1 คนต่อเด็ก 6 – 7 คน และเด็กในกลุ่มไม่ควรเกิน 14 คน เป็นต้น และควรพิจารณาวุฒิการศึกษาของคุณครูร่วมด้วย
นโยบายของโรงเรียนเรื่องความสะอาดและการป้องกันการติดเชื้อ รวมถึงการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก เช่น มีการทำความสะอาดของเล่นอยู่เป็นประจำ สอนให้เด็กล้างมือก่อนและหลังการรับประทานอาหาร หรือหลังจากเข้าห้องน้ำเสร็จทุกครั้งมีการพิจารณาเรื่องความปลอดภัยของของเล่นที่นำมาให้เด็กเล่นหรือความปลอดภัยของบริเวณที่เด็กเล่นควรมีความอ่อนนุ่มเหมาะสมต่อการรองรับหากเกิดการพลัดตกหกล้มระหว่างที่เด็กเล่น
นอกจากนี้โรงเรียนควรมีแผนรองรับหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น เช่น มีเจ้าหน้าที่สามารถให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นและมีขั้นตอนในการนำส่งโรงพยาบาลอย่างเป็นระบบ รวมทั้งมีการฉีดวัคซีนให้กับคุณครูอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากเด็กที่ป่วยไปสู่เด็กอื่น ๆ
กิจกรรมหรือหลักสูตรของโรงเรียนเหมาะสมต่อการส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ตามช่วงวัย ซึ่งประกอบด้วย
ทักษะความสมบูรณ์ของร่างกาย
- ควรมีกิจกรรมให้เด็กได้ออกกำลังกายเพื่อเสริมให้กล้ามเนื้อแข็งแรง มีความยืดหยุ่นและฝึกการทรงตัว รวมทั้งมีการจัดการด้านโภชนาการที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเด็กควบคู่กันไปด้วย
- การเสริมสร้างพัฒนาการ ควรมีกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะด้านภาษา กล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ และทักษะด้านสังคม เช่น การวางแผน การทำตามกฎ การแบ่งปัน รวมทั้งการเล่นหรือมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน
- ควรฝึกให้เด็กรู้จักควบคุมตนเองและช่วยเหลือตัวเองได้ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่วัยเรียนและเป็นการพัฒนาตัวตนให้ชัดเจนมากขึ้น เพราะเมื่อเด็กโตขึ้นควรมีความเป็นตัวของตัวเองและอยู่ในภาวะพึ่งพิงน้อยลง
- สมาธิและความจดจ่อ ควรส่งเสริมให้เด็กสามารถทำกิจกรรมให้เสร็จเป็นอย่าง ๆ ไป โดยตัดสิ่งเร้ารอบข้างที่ไม่จำเป็นออกไปได้
ทักษะก่อนเข้าวัยเรียน (Pre – Academic Skills) จากงานวิจัยพบว่า หากฝึกทักษะเหล่านี้ก่อนถึงวัยเรียนจะช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จทางการศึกษาในอนาคตได้ดีขึ้น เช่น การรู้จักตัวอักษร รู้จักเสียงของตัวอักษร(Phonics) และทักษะทางด้านคณิตศาสตร์ การนับจำนวน เป็นต้น
ทั้งนี้หลักในการพิจารณาเลือกโรงเรียนเหล่านี้ยังสามารถนำไปประยุกต์เพื่อจัดการเรียนในรูปแบบ Home School ได้เช่นกัน
- แนวทางการศึกษาปฐมวัยในไทย
การเลือกโรงเรียนให้ลูกในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะยุโรปหรืออเมริกา ส่วนของไทยมีทางเลือกค่อนข้างเยอะ แต่มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป ในเบื้องต้นต้องเข้าใจก่อนว่า
สำหรับเด็กเล็ก พื้นฐานการเรียนมาจากการเล่น ดังนั้นที่ใดก็ตามที่เด็กเข้าไปแล้วเกิดความเคร่งเครียดก็จะทำให้เรียนรู้ได้ไม่ดีเท่าที่ควร รากฐานความสัมพันธ์ที่ดีและความไว้วางใจระหว่างครูกับเด็กก็มีส่วนสำคัญต่อการเรียนรู้ ดังนั้นการเลือกครูที่มีทัศนคติที่ดีกับเด็กจึงมีความจำเป็น
การศึกษาปฐมวัยในไทยจะมีแนวทางใหญ่ ๆ อยู่ 2 แนว
แนววิชาการ มุ่งเน้นเนื้อหาสาระต่าง ๆ เพื่อเตรียมเด็กสำหรับสอบเข้าในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในชั้นประถม 1 ที่พ่อแม่ต้องการได้
เน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย และการเตรียมความพร้อมของเด็กมากกว่าที่จะเน้นแต่เพียงเนื้อหาทางวิชาการอย่างเดียว แนวทางนี้ก็มีหลายรูปแบบ เช่น รูปแบบการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ (Montessori) รูปแบบวอลดอร์ฟ (Waldorf)
แนวทางเรกจิโอ เอมิเลีย (Reggio Emilia) เป็นแนวทางการเรียนรู้แบบ Co – Constructivism ที่เชื่อว่าเด็กเรียนรู้โดยผ่านการลงมือทำ ได้ลองผิดลองถูกด้วยตนเอง ภายใต้การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในกลุ่มจนนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวที่สนใจ แล้วมีการนำเสนอความคิดและสิ่งที่ได้เรียนรู้ผ่านทางสื่อที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการวาด ปั้น ดัดลวด ระบายสี ภาพถ่าย แม้กระทั่งดนตรี เพลง และการเคลื่อนไหวร่างกายต่าง ๆ
- ประเภทของโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนประถมในไทย
สำหรับโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนประถมในประเทศไทยนั้น สามารถแบ่งเป็นรูปแบบได้หลากหลาย ดังนี้
- โรงเรียนทางเลือก
- โรงเรียนวิถีพุทธ (หรือ พุทธธรรมประยุกต์)
- โรงเรียนวิถีมุสลิม
- โรงเรียนแนวการสอนแบบมอนเตสเซอรี่ (Montessori)
- โรงเรียนแนวการการสอนแบบโครงการ (The Project Approach)
- โรงเรียนแนวการสอนภาษาแบบธรรมชาติ (Whole Language Approach)
- โรงเรียนแนวการสอนแบบวอลดอร์ฟ (Waldorf)
- โรงเรียนแนวการสอนแบบนีโอ-ฮิวแมนนิสต์ (Neo-Humanist Education)
- โรงเรียนแนวการสอนแบบเรกจิโอ เอมิเลีย (Reggio Emilia)
- โรงเรียนแนวการสอนแบบพหุปัญญา (Multiple Intelligence)
- โรงเรียนแนวคิดการสอนแบบ ไฮสโคป (High/Scope)
- โรงเรียนของรัฐ
- โรงเรียนสาธิต
- โรงเรียนนานาชาติ
- โรงเรียนคาธอลิก
- โรงเรียนสองภาษา
หลักสูตรปฐมวัย ตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด คือ หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ. 2546 (สำหรับเด็กอายุ 3 - 5 ปี) โรงเรียนจะต้องมีการจัดการตามหลักเกณฑ์นี้
1. มีหลักการจัดการศึกษาปฐมวัย และสาระสำคัญของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ. 2546 (สำหรับเด็กอายุ 3 - 5 ปี)
2. จัดทำหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย
- การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาปฐมวัย
- การจัดประสบการณ์การเรียนรู้
- การเขียนแผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้
- สื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็ก
- การประเมินพัฒนาการเด็ก
- การจัดสภาพแวดล้อมสำหรับเด็กปฐมวัย
การแบ่งประเภทการศึกษาตามเกณฑ์ฐานการเรียนรู้
1. การศึกษาทางเลือกที่จดโดยครอบครัว เช่น กลุ่ม Home School
2. การศึกษาทางเลือกที่อิงกับระบบรัฐ ได้แก่ กลุ่มโรงเรียนทางเลือก
3. การศึกษาทางเลือกสายครูภูมิปัญญา
4. การศึกษาทางเลือกสายศาสนธรรม
5. การศึกษาทางเลือกที่เป็นสถาบันนอกระบบรัฐและเน้นการจัดกิจกรรมการศึกษาแก่กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ
6. การศึกษาทางเลือกของกลุ่มการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม เช่น กลุ่มกิจกรรมแพทย์พื้นบ้าน
7. การศึกษาทางเลือกผ่านสื่อการเรียนรู้และแหล่งการเรียนรู้
อย่างไรก็ตาม การเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่อนุบาล และการเลือกเรียนอนุบาลต้องพิจารณาจากหลายๆ ปัจจัย ซึ่งในปัจจุบันมีให้เลือกมากมาย คงเป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง พ่อแม่ที่ต้องเลือกให้เหมาะสมกับวัย และพัฒนาการของเด็ก
อ้างอิง: ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพ