วันครู 2566 ปม "พรบ.การศึกษาแห่งชาติ" ที่ทำให้ครูทั่วประเทศลุกขึ้นมาแต่งดำ
สภาล่ม! ทำให้ร่างพรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..... ยังไม่ผ่านการพิจารณา ท่ามกลางเสียงสะท้อนให้เห็นถึงปมปัญหาของร่างฉบับนี้ ทำให้ครูทั่วประเทศไทยต้องนัดแต่งดำจนถึงวันที่ 16 ม.ค. ที่เป็นวันครู 2566 ร่างกฏหมายนี้มีอะไรจึงต้องคัดค้าน ?
นัดแต่งดำถึงวันครู 2566
ธีระศักดิ์ สุวรรณปัญญา ประธานยุทธศาสตร์สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) ระบุว่า ร่างพรบ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้ บางประเด็นไม่เอื้อต่อการพัฒนาการศึกษา ผู้เรียน และวิชาชีพ กระทบอิสระทางวิชาการ การจัดการเรียนการสอน รวมถึง ปิดกั้นศักยภาพผู้เรียน จึงไม่ควรที่จะเร่งรีบให้ร่างพรบ.การศึกษานี้มีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ ครูทั่วประเทศได้มีการนัดแต่งชุดดำเพื่อไว้อาลัยร่างพรบ.การศึกษาฉบับนี้ มาตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.และจะดำเนินการจนถึงวันที่ 16 ม.ค. วันครู 2566
4 มาตรา พรบ.การศึกษา กระทบครู
ร่างพรบ.การศึกษาแห่งชาติ มี 4 มาตราที่น่ากังวล
1.มาตรา 3 เดิมคุรุสภามีบอร์ดบริหารมีผู้แทนจากวิชาชีพครู แต่คำสั่งคสช.ที่ 7/2558 ทำให้คุรุสภาไม่มีผู้แทนผู้ประกอบวิชาชีพครูมาเป็นผู้แทน แต่ปรับเปลี่ยนบอร์ดใหม่ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารสูงสูดจาก 5 องค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
2.มาตรา 40 วรรค 2 เงินค่าตอบแทนวิทยฐานะ ทำให้บุคลากรในเขตพื้นที่การศึกษา ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา รองผอ.เขตพื้นที่การศึกษาและศึกษานิเทศน์ จะไม่ได้รับเงินวิทยฐานะ ทั้งที่เป็นสิทธิที่เคยได้รับมาก่อน
3.มาตรา 42 เกี่ยวกับคำสั่งคสช. เป็นการออกแบบสภาวิชาชีพครูใหม่ เดิมคุรุสภาเป็นสภาวิชาชีพ แต่เปลี่ยนใหม่ให้คุรุสภาเป็นองค์กรของครู เมื่อกฏหมายแม่เป็นเช่นนี้ ก็ส่งผลให้ พรบ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษาตกไป
4.มาตรา 106 การให้อำนาจ รัฐมนตรี ปลัดศธ. เป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการศธ. หมายความว่า จะใช้ระบบการสั่งการจากบนลงล่าง ย้อนแย้งกับโลกความจริงที่เปลี่ยนแปลงไป
ปัญหามาตรา 8 ร่างพรบ.การศึกษาแห่งชาติ
ขณะที่ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ รองประธานคณะกรรมาธิการ กมธ. การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร โพสต์แสดงความคิดเห็นผ่านเพจเฟซบุ๊ก Kunthida Rungruengkiat - กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ส่วนหนึ่งว่า ไม่เห็นด้วยต่อ มาตรา 8 มีปัญหาทั้งการล็อคสเป็คผู้เรียน และรวบอำนาจการตีความมอบให้คณะกรรมการนโยบายที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเท่าที่ควร
มีลักษณะบังคับมากกว่าฉบับปี 2542 อย่างชัดเจน เช่น ความยาวที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จาก 27 หน้า เป็น 46 หน้า และหากนับคำว่า “ต้อง” ในร่างนี้มีถึง 130 แห่ง ในขณะที่ร่างปี 2542 มีคำว่า “ต้อง” เพียง 44 แห่ง
มาตรา 8 ถือเป็นหัวใจของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แต่กลับจะสร้างปัญหามากมายตามมา โดยมาตรา 8 กำหนดว่า “ในการพัฒนา ฝึกฝน บ่มเพาะให้ผู้เรียนมีสมรรถนะตามมาตรา 7 ต้องดําเนินการให้บรรลุเป้าหมายตามระดับช่วงวัย”
ขอนำเสนอประเด็นปัญหา 3 ประการ
1. มาตรา 8 ถูกเขียนขึ้นอย่างเป็นนามธรรมโดยมีลักษณะบังคับ มอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายตัดสินใจทุกอย่าง เช่น
- เด็กตั้งแต่แรกเกิดถึงหนึ่งปีในช่วงวัยที่ 1 ต้องได้รับการดูแลอย่างสมบูรณ์
- ช่วงวัยที่ห้าเมื่ออายุเกินสิบสองถึงสิบห้าปี ต้องสามารถสื่อสารได้อย่างสมบูรณ์
- ผู้เรียนช่วงวัยที่ 6 ต้องถูก ฝึกฝนให้ดูแลตนเองได้อย่างสมบูรณ์ หน้าตาที่เป็นรูปธรรมของความสมบูรณ์คืออะไร คณะกรรมการนโยบายควรเป็นผู้ผูกขาดเกณฑ์เหล่านี้หรือไม่
- ช่วงวัยที่สามอายุสามถึงหกปี “รับรู้ถึงความงามทางศิลปะ”
- ช่วงวัยที่สี่อายุหกปี ถึงสิบสองปี “ภูมิใจและตระหนักในความสำคัญของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือภาคภูมิใจในความเป็นไทย”
ความรู้สึกจะถูกตีความอย่างไร เกณฑ์เชิงคุณภาพหรือปริมาณบนความนามธรรมเช่นนี้จะวัดอย่างไร ใครบ้างต้องรับผิดชอบหากปฏิบัติจริงไม่ได้ และหากต้องวัดประเมิน จะทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เท่าทันอนาคต
เป้าหมายทางการจัดการศึกษา ควรอ้างอิงมาจากทฤษฎีทางการศึกษา เช่น ทั้งตระหนักและภูมิใจ เป็นความรู้สึกที่วัดประเมินไม่ได้ แต่ถ้าใช้ เข้าใจ ที่เป็นหนึ่งในทฤษฎีการเรียนรู้ของ Bloom หรือ Bloom taxonomy ก็จะสามารถทำให้ผู้ปฏิบัตินำไปใช้งานได้จริง
2. มาตรา 8 ยังเป็นการจับเด็กยัดใส่กล่องอายุตามกรอบที่เหมือนกันไปหมด
ระบุรายละเอียดสารพัด ทั้งทักษะและสมรรถนะที่อาจเป็นไปตามทฤษฎีพัฒนาการตามช่วงวัย แต่ก็ระบุเนื้อหาความรู้ที่ต้องรู้เอาไว้ด้วย ราวกับว่ามาตรานี้เป็นเป้าหมายของหลักสูตรแกนกลาง ที่เป็น guideline ในการจัดการศึกษา ไม่ใช่กฎหมายที่มีสภาพบังคับยาวเหยียดถึงสามหน้ากระดาษ
มาตรา 8 ไม่ยืดหยุ่นเพียงพอ และเป็นกฎหมายที่ปราศจากแว่นที่มองเห็นว่ามนุษย์แตกต่างหลากหลายและมีพลวัต นำมาสู่ปัญหาถัดมา
3. ความลักลั่นย้อนแย้งของมาตรา 8 ส่งผลต่อมาตราอื่นและกฎหมายลูกที่จะตามมาอีก โดยปรากฎอยู่ในร่างนี้อีกเกือบ 100 กว่าครั้งในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เช่น
- ลักลั่น มาตรา 10 ระบุว่า “การจัดการศึกษาตามวรรคหนึ่งต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามมาตรา 8 แต่อาจเปลี่ยนแปลงระยะเวลาและเป้าหมายของแต่ละช่วงวัยให้เหมาะสมกับอายุของผู้เรียนได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายการศึกษากำหนด”
แสดงให้เห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้รู้ดีว่าต้องสร้างความยืดหยุ่นในมาตราที่เกี่ยวกับผู้เรียนที่แตกต่างกัน แต่ขณะเดียวกันก็เรียกร้องการควบคุมอย่างเคร่งครัด จะเปลี่ยนแปลงได้ก็ตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด ซึ่งอาจใช้เวลานานและไม่คล่องตัวเท่าที่ควรจะเป็น
- มาตรา 57-66 ว่าด้วยหลักสูตรและการประเมิน ก็อ้างอิงจากมาตรา 8 โดยต้องจัดทำต้นแบบที่มีความหลากหลาย เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการหรือเหมาะสมกับผู้เรียนตามบริบทที่แตกต่างกัน โดยต้องรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้อง
ทว่ากรอบตามมาตรา 8 อันละเอียดเข้มงวด ย่อมเป็นอุปสรรคต่อความหลากหลายในตัวเอง ซ้ำผู้ปฏิบัติงานยังต้องทำตามหลักสูตรต้นแบบและระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีก
ขอให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาการลงมติในมาตรานี้อย่างถี่ถ้วน โดยการปรับลดรายละเอียดของมาตรานี้ และปรับช่วงวัยเป็นช่วงชั้นโดยไม่ยึดตามอายุผู้เรียนเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความคล่องตัวในการจัดการศึกษาตามที่ดิฉันได้เสนอความเห็นเอาไว้
ร่างพรบ.การศึกษาแห่งชาติลิดรอนสิทธิครู
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2566 เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย ( ค.อ.ท.) ออกแถลงการณ์เรื่อง การลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.ศ. ตอนหนึ่งระบุว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้ ได้ลิดรอนสิทธิประโยชน์ขั้นฐานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ทุกตำแหน่ง
- ประเด็นลิดรอนที่ 1จะเกิดผลกระทบทันที เมื่อพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับได้รับแต่เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง หรือ เงินค่าตอบแทน ความหมายคือ ถ้าได้เงินประจำตำแหน่ง ก็จะไม่ได้รับเงินค่าตอบแทน หรือถ้าไม่ได้เงินประจำตำแหน่ง ก็จะได้แต่เงินค่าตอบแทน จะไม่ได้เงินวิทยฐานะ
- ประเด็นลิดรอนที่ 2 อาจเกิดผลกระทบเมื่อออกกฎหมายตามที่กำหนดไว้ในวรรคสามและวรรคท้ายของมาตรา 41 มีผลใช้บังคับกล่าวคือ วรรคสาม “ ผู้บริหารสถานศึกษา รองผู้บริหารสถานศึกษา และครูอาจมีระดับ ตำแหน่ง เพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติหน้าที่ได้ตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการนั้น ”
- ประเด็นลิดรอน ที่ 3 คือมาตรา 107 ที่ไม่กำหนดให้ครูที่ดำรงในตำแหน่งอยู่ก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มีสิทธิได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินวิทยฐานะ อื่นเช่นเดียวกับที่ได้รับอยู่ในวันก่อนในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และประโยชน์ตอบแทน
เครือข่ายองค์กรวิชำชีพครูไทย ( ค.อ.ท.) มีความเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับนี้ ได้ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง ต่อผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกตำแหน่ง