แจกสิทธิรับ “ถุงยางฟรี" รวมวิธีคุมกำเนิด ป้องกันเบบี๋เกิด ท้องไม่พร้อม
ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. ถึง 30 ก.ย. 2566 นี้ ทุกคนสามารถเข้ารับ "ถุงยางอนามัย" ฟรี!!! ผ่านแอปเป๋าตัง หรือขอรับได้ที่หน่วยบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ได้ทุกที่
สปสช. ผู้ริเริ่มแจกฟรี “ถุงยางอนามัย” เพื่อดูแลคนไทยวัยเจริญพันธุ์ ป้องกันภาวะท้องไม่พร้อม โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อันเป็นไปตามสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท”
ด้วยปัญหา "ท้องไม่พร้อม"(Unplanned Pregnancy) หรือการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ โดยผู้ตั้งครรภ์ไม่ได้วางแผนหรือเตรียมตัวมีบุตรมาก่อน ภาวะท้องไม่พร้อม ถือเป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมไทย ที่หลากหลายหน่วยงานพยายามแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะภาวะการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น
ประเทศไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญปัญหาดังกล่าว จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าในปี 2564 อัตราการคลอดในกลุ่มเด็กอายุ 15-19 ปีอยู่ที่ 25 ต่อ 1,000 ประชากร ลดลงจากปี 2563 ซึ่งมีอัตราอยู่ที่ 28.7 ต่อ 1,000 ประชากร แม้ตัวเลขทางสถิติจะลดลง แต่ปัญหาดังกล่าวยังจำเป็นต้องเร่งแก้ไข เพราะการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม จะนำไปสู่การเกิดที่ด้อยคุณภาพ ซึ่งจะยิ่งส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านโครงสร้างประชากรให้รุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก
ในปี 2566 นี้ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักต่อการเพิ่มความปลอดภัยในการมีเพศสัมพันธ์ (Safe sex) สปสช.ได้รณรงค์ภายใต้แคมเปญ “เลิฟปัง รักปลอดภัย” แก้ปัญหาท้องไม่พร้อม ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 'แจกยาคุมกำเนิด-ถุงยางอนามัย'
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ท้องไม่พร้อม..จัดการอย่างไรให้ปลอดภัย แนะรู้สิทธิ ก่อนยุติตั้งครรภ์
1 ก.พ.นี้ ดีเดย์ สปสช.แจก "ถุงยางอนามัย" ผ่านแอป "เป๋าตัง" คนละ 10 ชิ้น/สัปดาห์
ปีใหม่นี้ฝรั่งเศสเตรียมแจกถุงยางฟรี สำหรับผู้มีอายุต่ำกว่า 25 ปี!
5 กรณี"ยุติการตั้งครรภ์"ได้ถูกกฎหมาย และทางเลือกหากต้องการท้องจนคลอด
แจกถุงยางอนามัยฟรี สัปดาห์ละ 10 ชิ้นต่อคน
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมาได้แจกยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทานโดยเพิ่มทางเลือกใหม่นอกจากไปขอรับที่หน่วยบริการแล้ว ยังเพิ่มความสะดวกขอรับผ่านแอปเป๋าตังได้
ในปี 2566 นี้ ได้เพิ่มทางเลือกใหม่ขอรับผ่านแอปเป๋าตังได้เช่นกัน เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงบริการถุงยางอนามัยเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ สปสช. จัดเตรียมถุงยางอนามัยจำนวน 94,566,600 ชิ้นไว้แล้ว เพื่อให้บริการประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาทที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์
“บริการถุงยางอนามัยปี 2566 ภายใต้สิทธิประโยชน์บัตรทองเพื่อประชาชนกลุ่มวัยเจริญพันธุ์ ภายใต้แคมเปญ เลิฟปัง รักปลอดภัย เริ่มให้บริการฟรีแล้ววันนี้ โดยจะได้รับถุงยางอนามัยครั้งละ 10 ชิ้นต่อคนต่อสัปดาห์ ไม่เกิน 52 ครั้ง/คน/ปี สามารถรับได้ที่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลที่เข้าร่วมให้บริการในระบบบัตรทอง ด้วยการลงทะเบียนผ่านแอบพลิเคชัน “เป๋าตัง” บนสมาร์ทโฟน สำหรับกรณีผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน ท่านสามารถใช้บัตรประชาชนลงทะเบียนและรับบริการได้ที่หน่วยบริการโดยตรงได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลระบบบัตรทอง อาทิ หน่วยบริการประจำและหน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะด้านเวชกรรม ด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ด้านบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ร้านยา และคลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น โดยสามารถดูรายชื่อได้ที่เว็บไซต์ สปสช. เลือกประเภทการขึ้นทะเบียนที่ระบุว่า บริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ในการเข้ารับบริการถุงยางอนามัย
ขั้นตอนการลงทะเบียน รับถุงยางอนามัยฟรี
สำหรับการลงทะเบียนจองถุงยางอนามัยฟรี 2566 บนแอปฯเป๋าตัง ธนาคารกรุงไทยเปิดให้จองสิทธิวันนี้ (1 ก.พ.) ถึงวันที่ 30 ก.ย.2566 มีดังนี้
คุณสมบัติของประชาชน
- เป็นผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท)
- วัยเจริญพันธุ์
- รับถุงยางได้ครั้งละ 10 ชิ้นต่อ 7 วัน
- เลือกรับสิทธิครั้งละ 1 ไซต์ (49” , 52” , 54” , 56”)
- ไม่สามารถขอรับคละไซต์ได้
- ไม่จำกัดจำนวนครั้งต่อคนและต่อปี
ประเภทของหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการ
- หน่วยบริการการพยาบาลและการผดุงครรภ์
- หน่วยบริการปฐมภูมิเอกชน
- หน่วยบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
- หน่วยบริการเภสัชกรรม
- หน่วยบริการเวชกรรม
ขั้นตอนการจองสิทธิ
รับถุงยางอนามัย ผ่าน กระเป๋าสุขภาพ บนแอปฯ เป๋าตัง
1.เข้าไปที่ กระเป๋าสุขภาพ และ เลือก สิทธิสุขภาพดีป้องกันโรค
2.เลือกเมนู ถุงยางอนามัย
3.เลือกขนาดถุงยางอนามัย ที่ต้องการรับ
4.เลือกหน่วยบริการ
5.เลือก จองสิทธิ เพื่อยืนยันการจองสิทธิ
6. ดำเนินการจองสิทธิสำเร็จ สามารถรับถุงยางในวันที่จอง และเวลาทำการของหน่วยบริการเท่านั้น
กรณีไม่มี Smartphone สามารถใช้บัตรประชาชนตัวจริงเพื่อใช้สิทธิรับถุงยางอนามัยกับหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการ
สามารถสอบถามสิทธิหลักประกันสุขภาพ สายด่วน สปสช. โทร 1330 เปิดบริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
ส่วนขนาดถุงยางอนามัยที่ให้บริการมี 4 ขนาดด้วยกัน คือ 1.ถุงยางอนามัย ขนาด 49 มม. 2.ถุงยางอนามัย ขนาด 52 มม. 3.ถุงยางอนามัย ขนาด 54 มม. และ 4.ถุงยางอนามัย ขนาด 56 มม. สามารถเลือกตามขนาดที่เหมาะสม
14 ก.พ.เริ่มบริการแจกถุงยางอนามัยผ่านตู้จ่ายอัตโนมัติ
ทั้งนี้ ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ ซึ่งตรงกับ “วันวาเลนไทน์” สปสช.จะเริ่มให้การบริการถุงยางอนามัยผ่านตู้จ่ายถุงยางอนามัยอัตโนมัติ เบื้องต้นจะนำร่องติดตั้งเครื่องจ่ายถุงยางอนามัย 3 จุดบริการในพื้นที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี พร้อมกับการแถลงข่าวเปิดตัว ก่อนติดตั้งในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงถุงยางอนามัยให้กับกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่มีความอายและไม่กล้าเข้ารับถุงยางอนามัยที่หน่วยบริการ
“ขอเน้นย้ำและชี้แจงทำความเข้าใจด้วยว่า สิทธิประโยชน์บริการถุงยางอนามัยนี้ ไม่ได้เป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนให้มีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่ยังไม่ถึงวัยอันควร แต่เป็นบริการเพื่อประโยชน์ในการช่วยให้เข้าถึงการป้องกันภาวะท้องไม่พร้อมและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ถือเป็นบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่มีความจำเป็น"นพ.จเด็จ กล่าว
ขณะเดียวกันยังเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573 ให้บรรลุเป้าหมายด้วย
อย่างไรก็ตามทั้ง 2 บริการคือ ถุงยางอนามัยและยาเม็ดคุมกำเนิดนั้น ขณะนี้ใช้ได้เฉพาะผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทอง 30 บาทเท่านั้น ส่วนสิทธิอื่นๆ เช่น สิทธิประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ อยู่ระหว่างรอความชัดเจนและ สปสช.จะประกาศให้ทราบอีกครั้ง
ผลกระทบเมื่อท้องไม่พร้อม
ท้องไม่พร้อมก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับแม่และเด็กหลายอย่าง เนื่องจากผู้ตั้งครรภ์ไม่ได้วางแผนเพื่อเตรียมตัวมีบุตรมาก่อน จึงอาจส่งผลต่อสุขภาพครรภ์ของตนเองและทารกในครรภ์ เช่น หากผู้ตั้งครรภ์ไม่ได้วางแผนมีบุตรแต่เกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา ผู้ตั้งครรภ์อาจไม่สามารถรับมือหรือเตรียมตัวฝากครรภ์กับแพทย์ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งการฝากครรภ์ช้าอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพครรภ์และทารกได้
ผลกระทบด้านสุขภาพ
- การตั้งครรภ์ขณะที่ร่างกายยังเติบโตไม่เต็มที่ ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากภาวะครรภ์เป็นพิษ โลหิตจาง ภาวะตกเลือดหลังคลอด เยื่อบุมดลูกอักเสบ ตลอดจนการเสียชีวิตจากการคลอดบุตร อาการแทรกซ้อนจากการ ยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย เป็นต้น
- ทารกที่เกิดจากแม่วัยรุ่น มักมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ
- อัตราการเสียชีวิตของทารกในครรภ์และเด็กแรกเกิดจากแม่วัยรุ่นมีจำนวนมากกว่าแม่อายุระหว่าง20-29ปีถึงร้อยละ50
- ในระยะยาวพบว่าเด็กที่เกิดจากแม่วัยรุ่นมีแนวโน้มถูกเลี้ยงดูอย่างไม่สอดคล้องกับพัฒนาการและมีภาวะทุพโภชนาการ
ผลกระทบด้านจิตใจ
- มีความเสี่ยงต่อภาวะความเครียดและโรคซึมเศร้าสูง เนื่องจากมักขาดการเตรียมตัวเพื่อมีภาระครอบครัว
ผลกระทบด้านการศึกษา
- อัตราการออกจากโรงเรียนกลางคันเพราะการสมรสมีสูงถึงร้อยละ 14 หรือ 19,178 คนในจำนวน 135,342 คนต่อปี เป็นข้อมูลเฉพาะสถานศึกษาของรัฐในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ยังไม่รวมข้อมูลจากสถานศึกษาภาคเอกชน อาชีวศึกษา และสถานศึกษาบางประเภท
ผลกระทบด้านครอบครัวและการดำรงชีพ
- เนื่องจากผู้ปกครองนิยมแก้ปัญหาด้วยการให้นักเรียนที่ตั้งครรภ์ลาออกจากโรงเรียนและให้แต่งงานเพื่อสร้างครอบครัว และลดแรงเสียดทานจากสังคมที่ตีตรา ส่งผลต่อเนื่องให้ชีวิตครอบครัวของวัยรุ่นที่ไม่มีความพร้อมมักประสบปัญหาในการดำเนินชีวิต และการเลี้ยงดูบุตร
- สืบเนื่องจากมีระดับการศึกษาต่ำ ส่งผลให้ไม่สามารถหางานที่มีรายได้เพียงพอให้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวอย่างมีคุณภาพ และมักไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือร่วมรับผิดชอบจากฝ่ายชาย ตลอดจนครอบครัวและเครือญาติอันเนื่องมาจากการตีตราทางสังคม
ผลกระทบต่อสังคม/ประเทศโดยรวม
- ยังไม่มีการศึกษาของไทยที่สะท้อนถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมจากสถานการณ์ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
- มีรายงานของธนาคารโลกที่ศึกษา “ต้นทุนการเสียโอกาส” ที่เกิดจากการตั้งครรภ์และออกจากโรงเรียนกลางคันของวัยรุ่น พบว่ามีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล ยกตัวอย่างประเทศบราซิลซึ่งมีระดับการพัฒนาประเทศคล้ายคลึงประเทศไทย พบว่าบราซิลจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นอีก 3.5 พันล้านเหรียญหากหญิงวัยรุ่นทุกคน ไม่ประสบปัญหาตั้งครรภ์ก่อนอายุ 20ปี
- ยิ่งมีเด็กหญิง/วัยรุ่นตั้งครรภ์จำนวนมาก ต้นทุนการเสียโอกาสทางเศรษฐกิจจะยิ่งส่งผลกระทบต่อชุมชน และประเทศมากกว่าต่อตัวบุคคล อีกทั้งต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ประเทศต้องสูญเสียในการดูแลแม่และเด็กในกลุ่ม นับว่ามีมูลค่าไม่น้อย ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ในปึ พ.ศ. 2551 พบว่าเกิดต้นทุนค่าใช้จ่ายประมาณ 11 พันล้านเหรียญต่อปี เพื่อรองรับการดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตของแม่และเด็กในกลุ่มนี้
สัญญาณและวิธีตรวจว่าท้องหรือไม่
ผู้ที่ไม่ได้วางแผนมีบุตรสามารถทราบได้ว่าตนเองตั้งครรภ์หรือไม่ โดยสังเกตจากรอบเดือนที่ขาดไปหรือไม่มาตามปกติ ทั้งนี้ หากรู้สึกคัดเต้านม รวมทั้งคลื่นไส้และอาเจียนร่วมด้วยซึ่งเป็นอาการแพ้ท้อง ก็แสดงว่าอาจกำลังตั้งครรภ์ โดยอาการแพ้ท้องจะเกิดขึ้นเมื่ออายุครรภ์ได้ 6 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย
อย่างไรก็ตาม การตรวจครรภ์จะช่วยระบุผลการตั้งครรภ์ได้อย่างชัดเจน ผู้ที่สงสัยว่าตนเองประสบภาวะท้องไม่พร้อมสามารถตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตนเองได้ โดยซื้อชุดตรวจการตั้งครรภ์ซึ่งมีจำหน่ายตามร้านขายยาหรือร้านสะดวกซื้อทั่วไปมาตรวจ ควรตรวจปัสสาวะด้วยชุดตรวจครรภ์หลังจากที่ประจำเดือนไม่มาตามปกติเป็นเวลา 1-2 วัน เพื่อให้ได้ผลการตรวจที่แม่นยำ หากคาดว่าตนเองตั้งครรภ์แม้ผลตรวจจะแสดงว่าไม่ใช่ อาจต้องรอประมาณ 1 สัปดาห์และตรวจด้วยที่ตรวจครรภ์อีกครั้ง หรือไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจได้
ทางเลือกเพื่อรับมือภาวะท้องไม่พร้อม
ภาวะท้องไม่พร้อมเกิดจากการไม่ได้วางแผนเพื่อเตรียมตัวรับมือกับการตั้งครรภ์ ผู้ตั้งครรภ์จึงควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจว่าจะจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร โดยจำเป็นต้องไตร่ตรองประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
- ความพร้อมของตนและคู่รักว่าพร้อมมีบุตรหรือไม่
- ปัญหาสุขภาพของตนและคู่รัก
- ความเป็นอยู่และฐานะทางการเงิน
- ความรับผิดชอบหน้าที่การงานและบทบาทของแม่
- ความรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ที่มีต่อบุตร
- ผลกระทบของภาวะท้องไม่พร้อมต่อสถานภาพทางสังคม เนื่องจากผู้ตั้งครรภ์เกิดตั้งครรภ์ก่อนแต่งงานอย่างถูกต้องตามประเพณี
- การจัดสรรเวลาอยู่ด้วยกันในฐานะสามีภรรยาของคู่รักและบทบาทพ่อแม่ที่มีต่อบุตร
ทั้งนี้ ผู้ที่เกิดความเครียดหลังทำแท้งสามารถใช้บริการจากองค์กรที่ช่วยให้คำแนะนำหรือเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาชีวิตได้ ดังนี้
- สายด่วน 1667 ของกรมสุขภาพจิต เป็นบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการใช้บริการ
- มูลนิธิศูนย์ฮอทไลน์ (www.hotline.or.th) ให้บริการแนะนำและรับปรึกษาปัญหาชีวิตและครอบครัว โดยสามารถเข้าไปตั้งกระทู้ถามได้ที่เว็บไซต์ หรือโทรปรึกษาที่หมายเลข 0-2276-2950 ซึ่งให้บริการจันทร์-ศุกร์ เวลา 8:30-18:00 น. หรือโทร 0-2691-4056-7 ซึ่งเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง
คุมกำเนิดวิธีไหนดีที่สุด ป้องกันไม่ให้ท้อง
การคุมกำเนิดด้วยถุงยางอนามัย ยาคุมกำเนิด ห่วงคุมกำเนิด หรือวิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ร้อยละ 80-90 ส่วนการคุมกำเนิดถาวรอย่างการทำหมัน สามารถคุมกำเนิดได้มากกว่าร้อยละ 99
ผู้ที่คุมกำเนิดไม่ถูกวิธี เช่น ใช้ถุงยางอนามัยแล้วเกิดรั่ว หรือรับประทานยาคุมกำเนิดไม่สม่ำเสมอ ก็เสี่ยงท้องไม่พร้อมได้ ส่วนผู้ที่เคยประสบภาวะมีบุตรยาก ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรืออยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือน ก็สามารถตั้งครรภ์ได้เช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ เช่น ถูกข่มขืน หรือคู่นอนบังคับให้ร่วมเพศโดยไม่สวมถุงยางอนามัย ก็สามารถประสบภาวะท้องไม่พร้อม
ประเภทแรกของการคุมกำเนิด คือ การคุมกำเนิดแบบ “ชั่วคราว” เหมาะสำหรับคนที่มีโอกาสเปลี่ยนใจ คือยังไม่อยากมีตอนนี้ แต่ก็มีแพลนที่จะมีลูกในอนาคต ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 7 วิธี ได้แก่
- คุมกำเนิดด้วย “ถุงยางอนามัย”
วิธีการยอดนิยมที่ไม่มีใครไม่รู้จัก เป็นวิธีการที่สะดวก เรียบง่าย คุมกำเนิดและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ดีถ้าใช้อย่างถูกวิธี โดยถุงยางอนามัยจะช่วยป้องกันไม่ให้อสุจิสามารถเข้าไปผสมกับไข่ได้ แต่อาจทำให้เกิดความระคายเคืองในผู้หญิงบางคนได้
- คุมกำเนิดด้วย “ยาคุมกำเนิดแบบเม็ด”
แบ่งออกเป็น 3 ชนิดหลักๆ คือ
1.ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ซึ่งต้องทานเม็ดแรกภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ และทานอีก 1 เม็ดหลังจากทานเม็ดแรกครบ 12 ชั่วโมง จึงจะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด แต่ยาคุมชนิดนี้มีปริมาณฮอร์โมนที่สูงกว่ายาคุมกำเนิดทั่วไป 2 เท่า จึงไม่แนะนำให้ใช้ต่อเนื่อง
2.ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ซึ่งจะมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพียงอย่างเดียว
3.ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม คือมีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนรวมกันในเม็ดเดียว โดยยาคุมชนิดนี้จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูงมาก และเป็นชนิดที่เป็นที่นิยมมากเช่นเดียวกัน
หลักการสำคัญ คือ ยาคุมกำเนิดจะเข้าไปทำให้สภาวะมดลูกไม่เหมาะสมกับการตั้งครรภ์ ทำให้เมือกบริเวณปากมดลูกมีความเหนียวข้นมากขึ้น เพื่อให้อสุจิไม่สามารถเข้ามาผสมกับไข่ได้นั่นเอง แต่มี 1 ข้อแม้ คือ ต้องทานอย่างต่อเนื่อง การลืมทานเพียง 1 วันก็มีโอกาสจะทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้
- คุมกำเนิดด้วย “ยาคุมกำเนิดแบบฉีด”
เป็นอีกวิธีคุมกำเนิดที่ได้ผลดี สามารถฉีดได้ตั้งแต่หลังคลอด โดยจะเป็นการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ ฉีด 1 ครั้งสามารถคุมกำเนิดได้นาน 1-3 เดือน แล้วแต่ชนิดของยา หลักการทำงานของยาก็จะคล้ายกับยาคุมกำเนิดแบบเม็ด คือ ยับยั้งการตกไข่ ทำให้สภาวะมดลูกไม่เหมาะสมกับการฝังตัวของตัวอ่อน และทำให้เมือกบริเวณปากมดลูกมีความเหนียวข้นมากขึ้น อสุจิจึงผ่านเข้าไปเจอกับไข่ได้ยากขึ้น
การคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้มีข้อเสียคือ ทำให้ประจำเดือนมากะปริบกะปรอยในระยะแรก จากนั้นประจำเดือนจะหยุดไป และแม้หยุดใช้ยาแล้ว ก็ไม่สามารถวางแผนมีลูกได้ในทันที อาจต้องใช้ระยะเวลา 6 เดือน – 1 ปี จึงจะกลับมาตกไข่และมีประจำเดือนตามปกติ จึงไม่เหมาะสำหรับคนที่ต้องการคุมกำเนิดในระยะสั้น
- คุมกำเนิดด้วย “ยาคุมกำเนิดแบบฝัง”
ฝังยาคุมกำเนิด ก็สามารถทำได้ในคุณแม่หลังคลอดเช่นเดียวกัน เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อทารกและน้ำนม โดยแพทย์จะทำการฝังหลอดพลาสติกเล็กๆ ที่บรรจุฮอร์โมน ไว้ใต้ผิวหนังบริเวณท้องแขนด้านใน ขนาดยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ฝังครั้งเดียวสามารถคุมกำเนิดได้นาน 3-5 ปี กลไกลการทำงานของยาก็เช่นเดียวกับแบบฉีด แต่แตกต่างตรงที่สามารถมีลูกได้เร็วกว่าการคุมกำเนิดแบบฉีด หลังนำหลอดฮอร์โมนที่ฝังไว้ออก การตกไข่และรอบเดือนจะกลับมาเป็นปกติในระยะเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ และหากต้องมีการใช้ยาปฏิชีวนะในช่วงที่มีการฝังยาคุมควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลงได้
- คุมกำเนิดด้วย “แผ่นแปะคุมกำเนิด”
ก็คือการนำยาฮอร์โมนมาทำในลักษณะแผ่นแปะภายนอก เหมาะสำหรับคนที่กลัวเข็ม กลัวเจ็บ และก็ไม่อยากทานยาคุม โดยประสิทธิภาพของแผ่นแปะคุมกำเนิดก็เทียบเท่ากับยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด แผ่นแปะจะมีลักษณะเป็นแผ่น บาง ยืดหยุ่น นำมาแปะที่บริเวณสะโพก หน้าท้อง แผ่นหลังช่วงบน หรือต้นแขนด้านนอก จากนั้นฮอร์โมนจะถูกซึมผ่านผิวหนังแล้วเข้าไปตามกระแสเลือดเพื่อคุมกำเนิด ข้อเสียคือ ต้องเปลี่ยนแผ่นแปะทุก 1 สัปดาห์ และเมื่อใช้ครบ 3 สัปดาห์ต้องหยุดแปะ เพื่อให้ประจำเดือนมา แต่ก็เป็นวิธีคุมกำเนิดระยะสั้นที่ได้ผลดี และหากต้องการมีบุตร ก็สามารถมีได้ใน 1-2 รอบเดือนหลังหยุดใช้ยา
- คุมกำเนิดด้วย “วงแหวนคุมกำเนิด”
วงแหวนคุมกำเนิด จะมีลักษณะเป็นพลาสติกสีขาวใส อ่อนนุ่ม ยืดหยุ่นง่าย โดยวงแหวนจะมีการบรรจุฮอร์โมน 2 ชนิด คือ ฮอร์โมนโปรเจสโตรเจน และฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงออกฤทธิ์ในการคุมกำเนิดเช่นเดียวกับยาคุมชนิดเม็ด แต่วงแหวนคุมกำเนิดจะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด 21 วัน หรือ 3 สัปดาห์ เมื่อครบ 21 วันต้องถอดออก และเว้นการใส่เพื่อให้ประจำเดือนมาแล้วค่อบกลับมาใส่ใหม่ เช่นเดียวกับการใช้แผ่นแปะ ข้อดีคือสามารถใส่ได้ด้วยตนเอง โดยการดันวงแหวนคุมกำเนิดเข้าไปในช่องคลอดจนสุด หากใส่ถูกวิธีจะไม่รู้สึกว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ภายใน แนะนำให้คุมกำเนิดด้วยวิธีการอื่นร่วมด้วยภายใน 7 วันแรกหลังการใส่วงแหวน เพื่อให้การคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพสูงสุด
- คุมกำเนิดด้วย “การใส่ห่วงอนามัย”
เป็นวิธีที่เหมาะมากกับคนที่ไม่ต้องการคุมกำเนิดด้วยการใช้ยาฮอร์โมน ห่วงคุมกำเนิดจะมีลักษณะคล้ายตัว T ขนาดเล็ก ที่จะถูกใส่ไว้ในโพรงมดลูก เพื่อขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อนในโพรงมดลูก โดยจะมีสายห่วงออกมาจากปากมดลูกยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ไม่ทำให้ประจำเดือนผิดปกติ ไม่ส่งผลต่อฮอร์โมน ไม่คลื่นไส้อาเจียน ไม่มีผลต่อน้ำหนักตัว อายุการใช้งานนาน 3-5 ปี
ข้อเสียก็คือ ต้องหมั่นตรวจเช็กสายห่วงอย่างสม่ำเสมอ คุณแม่หลังคลอดก็สามารถเลือกใช้วิธีคุมกำเนิดด้วยการใส่ห่วงอนามัยได้ แต่แนะนำให้ใส่ในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังคลอด เพื่อป้องกันการหลุด
สำหรับใครที่มั่นใจแล้วว่าไม่อยากมีลูกเพิ่ม ต้องการ คุมกำเนิดแบบ “ถาวร” วิธีการที่ดีที่สุดก็คงหนีไม่พ้น “การทำหมัน” ซึ่งหลายวิธีคุมกำเนิดข้างต้นที่กล่าวมาเกือบทั้งหมดจะเป็นการคุมกำเนิดโดยคุณผู้หญิง แต่วิธีการนี้คุณผู้ชายทำได้!
- การทำหมันชาย
ทำง่าย ปลอดภัย ใช้เวลาไม่นาน และไม่ต้องนอนโรงพยาบาล… โดยการทำหมันชาย คุณหมอจะทำการผูก หรือตัดท่ออสุจิ เพื่อให้อสุจิที่ถูกสร้างขึ้นไม่สามารถเดินทางออกไปได้ การทำหมันจะไม่ทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลง ยังคงสามารถหลั่งน้ำอสุจิได้ตามปกติ เพียงแต่จะไม่มีตัวอสุจิอยู่ แต่แนะนำว่าควรคุมกำเนิดด้วยวิธีการอื่นร่วมด้วยอย่างน้อย 3 เดือนหลังการผ่าตัด เนื่องจากอาจมีอสุจิหลงเหลืออยู่ หากครบ 3 เดือนพบคุณหมอเพื่อตรวจนับจำนวนอสุจิแล้วก็ไม่ต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีการอื่นอีก
- การทำหมันหญิง ซึ่งก็จะแบ่งออกเป็น 2 วิธีหลักๆ นั่นก็คือ
- การทำหมันเปียก หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การทำหมันหลังคลอดนั่นเอง ยิ่งหากเป็นการผ่าคลอด ยิ่งสามารถทำหมันได้ทันที แต่หากเป็นการคลอดธรรมชาติ หรือคลอดผ่านทางช่องคลอด ถ้าคุณแม่ฟื้นตัวได้ดี ก็สามารถทำหมันได้ทันทีหลังคลอดไปแล้ว 24-48 ชั่วโมง การทำหมันแบบเปียกจะทำได้ง่ายกว่า เนื่องจากมดลูกยังลอยตัวอยู่ในช่องท้อง ยังไม่หดกลับเข้าไปในอุ้งเชิงกราน จึงสามารถหาท่อนำไข่ได้ง่ายกว่า วิธีการก็คือดมยาสลบแล้ว ลงแผลผ่าตัดใต้สะดือ ขนาดแผลยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร เพื่อเข้าไปผูกท่อนำไข่ทั้งสองข้าง และตัดท่อนำไข่บางส่วนออก เพื่อให้ไข่ไม่สามารถไปยังโพรงมดลูกเพื่อการปฏิสนธิได้
- การทำหมันแห้ง วิธีการเดียวกัน แต่แตกต่างกันที่ช่วงเวลา การทำหมันแห้งก็คือการทำหมันในช่วงเวลาปกติ ที่มดลูกอยู่ในอุ้งเชิงกราน ซึ่งจะทำให้การหาท่อนำไข่ยากกว่า จะสามารถเลือกทำได้ 2 รูปแบบ คือ “การผ่าตัดเปิด” โดยจะเป็นผ่าตัดบริเวณหัวหน่าว และ “การผ่าตัดส่องกล้อง” ซึ่งจะเจ็บน้อยกว่า แผลเล็กกว่า แต่ต้องมีการเพิ่มลมเข้าไปในช่องท้องระหว่างการผ่าตัด จึงไม่สามารถทำได้ในผู้ป่วยโรคหัวใจหรือมีระบบไหลเวียนโลหิตผิดปกติ โดยการทำหมันแห้งจะนิยมช่วงหลังมีรอบเดือน เพื่อยืนยันว่าไม่ได้มีการตั้งครรภ์ และจะต้องผ่านการตรวจสุขภาพจึงจะสามารถทำได้
อ้างอิง : โรงพยาบาลพญาไท ,สปสช. , กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย และ ธนาคารกรุงไทย