วางแผนเกษียณอย่างไร? ให้หมดหนี้ก่อนอายุ 60

วางแผนเกษียณอย่างไร? ให้หมดหนี้ก่อนอายุ 60

“เดือนชนเดือน” เรียกได้ว่าเป็นคำที่เหมาะสมกับภาวะทางเศรษฐกิจ รายได้ของคนวัยทำงานระดับกลางไปจนถึงระดับล่าง  หลายครอบครัวต้องรับจ้างหาเลี้ยงชีพเพื่อให้มีเงินกิน เงินใช้จ่ายในแต่ละวัน

Keypoint:

  • 10 ขั้นตอนง่ายๆ ที่จะช่วยให้ทุกคนวางแผน บริหารจัดการค่าใช้จ่าย หมดหนี้ ก่อนเกษียณอายุ
  • เทคนิคการออมเงิน ตั้งเป้าอายุที่ตัวเองจะมีชีวิต คูณกับจำนวนเงินที่ต้องใช้ในแต่ละเดือน (ต้องรวมค่ารักษาพยาบาลด้วย) นั่นคือ เงินออมที่คุณควรมี
  • ปัจจุบันแม้จะมีภาระค่าใช้จ่ายมากขนาดไหน ต้องรู้จักวางแผนก่อนเกษียณอายุ และต้องออมให้ได้

การจะให้มาเก็บออม วางแผนเกษียณ อาจจะเป็นเรื่องยากของใครหลายคน  แถมบางคนต้องใช้ชีวิตตามกระแส ขอให้มีชีวิตสุขสบายในปัจจุบันต่อให้ต้องเป็นหนี้ท่วมตัวก็ไม่หวั่น

ทว่า ไม่ว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร? มีงานมีเงินมาน้อยขนาดไหน? แต่การวางแผนเกษียณ ไม่ให้เป็นหนี้ แล้วใช้ชีวิตอย่างสุขสบายน่าจะดีที่สุด วันนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้รวบรวมเทคนิค การวางแผนเกษียณ บริหารค่าใช้จ่าย ไม่ให้เป็นหนี้สิน มาแนะนำผู้อ่านทุกท่าน

วางแผนเกษียณอย่างไร? ให้หมดหนี้ก่อนอายุ 60

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'ออมเงิน' แบบไหน ‘เกษียณสุขอยู่สบาย’

“เกษียณมาร์เก็ต” ตลาดนัดวัยเก๋า สร้างสุข -อาชีพชุมชนเพื่อนสูงวัย

ไทย Top 9 "ประเทศค่าครองชีพถูกเหมาะใช้ชีวิตวัยเกษียณปี 2023"

ไทยหมุดหมาย ต่างชาติ "วัยเกษียณ" โอกาสขยับสู่การท่องเที่ยวมูลค่าสูง

 

วางแผนชีวิตก่อนเกษียณ รู้จักค่าใช้จ่าย รู้จักเก็บออม

ทุกเดือนที่ได้รับเงินเดือน หรือมีรายได้เข้ามา  10 สิ่งที่ต้องทำก่อนเกษียณอายุ มีดังนี้

1.การวางแผนการเงินตั้งแต่บัดนี้

การวางแผนทางการเงิน ต้องทำก่อนวัยเกษียณ ไม่ใช่เกษียณแล้วจึงมาเริ่มทำ เพราะอาจจะทำให้สายเกินไป ควรเริ่มตั้งแต่วันนี้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัยกลางคนหรือวัยทำงานขณะที่ยังเป็นหนุ่มสาวก็ตาม คือ การเก็บออมเงิน ไม่ว่าจะฝากประจำ หรือทำประกันเงินออมระยะยาวประมาณ 20 ปีขึ้นไป หรือเลือกทำประกันเงินออมตามแผนที่ทางธนาคารต่าง ๆ มีให้เลือก เช่น เงินออมหลังเกษียณ ที่มีไว้บริการ ก็จะทำให้เกิดการเก็บออมเงินในระยะยาว

อย่าไปคิดว่า อีกตั้งหลายสิบปีกว่าจะได้เงินคืน แต่ถ้าคิดยาว ๆ ไว้ว่า หากเราเป็นพนักงานบริษัททั่วไป หรือประกอบอาชีพอิสระ แล้วในอนาคตที่ไม่แน่นอนนั้น เราอาจไม่ได้แต่งงาน ไม่มีลูกหลาน แล้วใครจะมาดูแล หากไม่ใช่ตัวเราเอง ฉะนั้นไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรก็ย่อมมีความเปลี่ยนแปลงทิ้งนั้น

วางแผนเกษียณอย่างไร? ให้หมดหนี้ก่อนอายุ 60

2.คำนวณค่าใช้จ่ายยามเกษียณ

แม้เรื่องในอนาคตเราจะไม่สามารถฟันธงได้ร้อยเปอร์เซ็น แต่เราสามารถประเมินคร่าวๆ ได้ว่า... เมื่อเกษียณอายุเราจำเป็นต้องใช้เงินมากแค่ไหน เช่น ถ้าตอนนี้อายุ 30 ปี ตั้งใจเกษียณตอนอายุ 60 ปี และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่จนถึงอายุ 80 ปี โดยตั้งใจจะมีเงินใช้จ่ายที่ 25,000 บาทต่อเดือน ซึ่งต้องคำนวณเผื่ออัตราเงินเฟ้อเข้าไปด้วย สมมติว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% ต่อปี เมื่อคำนวณแล้วจะได้ค่าใช้จ่ายที่เราต้องเตรียมในยามเกษียณทั้งหมด 10,836,480 บาท เห็นไหมว่าเป็นจำนวนเงินที่ไม่ใช่น้อยเลย

 

เทคนิคการปลดหนี้ก่อนอายุ 60 ปี 

3.ตรวจสอบเงินออมที่มีอยู่

เมื่อเราได้จำนวนเงินซึ่งเป็นเป้าหมายแล้ว สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับถัดไป คือ สำรวจว่าปัจจุบันเรามีเงินออมเพื่อเกษียณจากอะไรบ้าง เช่น บัญชีเงินฝาก เงินทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันออมทรัพย์ หรือเงินลงทุนในหุ้น และกองทุนรวมต่างๆ การตรวจสอบเงินออมที่มีอยู่ก็เพื่อให้เราสามารถคำนวณได้ว่า ยังขาดเงินที่ต้องออมเพิ่มอีกเท่าไหร่ เช่น ปัจจุบันมีเงินออมจากแหล่งต่างๆ รวมกันอยู่ที่ 2,000,000 บาท เท่ากับว่า เราต้องออมเพิ่มอีก 8,836,480 บาท เพื่อให้ได้จำนวนเงินตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

4.จดบันทึกรายได้ค่าใช้จ่าย

ในแต่ละเดือนต้องวางแผนการใช้จ่ายให้ชัดเจนว่า จะมีค่าใช้จ่ายอะไร เป็นเงินเท่าไร และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องควบคุมให้เป็นตามแผนที่วางไว้ด้วย ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือ การจดบันทึกรายได้ค่าใช้จ่าย เพราะนอกจากจะรู้ว่าทุกบาททุกสตางค์ที่ออกจากกระเป๋าเป็นค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ป้องกันเงินรั่วไหลหรือไม่เป็นไปตามแผนแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วย

วางแผนเกษียณอย่างไร? ให้หมดหนี้ก่อนอายุ 60

ทำบัญชีรายรับรายจ่าย เมื่อถึงวัยเกษียณแล้ว อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจว่าเงินก้อนที่ได้รับจากกองทุนต่าง ๆ ก็ดี หรือจากธนาคารที่ตนฝากไว้นั้นจะมีใช้ได้ตลอดไป เพราะหากตราบใดที่จำนวนเงินไม่งอกเงย แล้วมีแต่ใช้ไปเรื่อย ๆ ก็จะหมด ฉะนั้นควรจะทำบัญชีรายจับรายจ่ายให้ละเอียด ว่าในแต่ละเดือนต้องใช้อะไรบ้างที่จำเป็น เผื่อค่ากิน ค่าอยู่ ค่าน้ำค่าไฟ โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาล หากใครที่ทำประกันสุขภาพไว้ก็ไม่น่าเป็นห่วงนัก แต่ถ้าใครที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกัน การใช้ระบบประกันสุขภาพของรัฐก็เป็นอีกหนทางหนึ่งทำให้ลดค่าใช้จ่ายได้ แต่ทว่า การเก็บเงินไว้สำหรับค่ารักษาพยาบาลเผื่อฉุกเฉิน หรือขาดเหลืออะไร ก็จะได้ไม่เกิดปัญหาทีหลัง โดยเฉพาะคนที่ไม่มีลูกหลานเลี้ยงดู

5.ลดภาระหนี้สิน

ถ้าจะให้ดี ก่อนเกษียณสัก 4-5 ปี ควรจะเริ่มสำรวจหนี้สินว่า ยังมีหนี้อะไร อยู่ตรงไหนบ้าง จำนวนเงินต้นมากน้อยแค่ไหน และดอกเบี้ยเท่าไร จากนั้นให้เพิ่มจำนวนเงินที่จะจ่ายหนี้ในแต่ละเดือนให้มากขึ้น โดยอาจจะนำไปปลดหนี้ที่...

ดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน เพื่อลดภาระดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะเหมาะกับ “หนี้ที่คิดอัตราดอกเบี้ยแบบทบต้นทบดอก” เพราะยิ่งผ่อนให้เงินต้นลดลงเร็วก็จะยิ่งเสียดอกเบี้ยน้อย หรือ

มูลหนี้คงเหลือน้อยที่สุดก่อน เพื่อลดจำนวนเจ้าหนี้ และทำให้มีเงินเหลือไปจ่ายหนี้รายอื่นได้มากขึ้น ซึ่งเหมาะกับ “หนี้ที่คิดดอกเบี้ยคงที่” เพราะไม่ว่าจะผ่อนให้หมดเร็วหรือช้า เจ้าหนี้ก็คิดดอกเบี้ยรวมในเงินผ่อนแต่ละเดือนอยู่แล้ว

นอกจากนี้ อาจจะไปทำเรื่องรีไฟแนนซ์ โดยรวมหนี้จากหลาย ๆ ที่ให้มาเป็นก้อนเดียว เพื่อลดจำนวนเงินที่ต้องผ่อนต่อเดือนให้อยู่ในภาระที่พอรับได้ หรือ เพื่อลดอัตราดอกเบี้ย แต่ก็ต้องศึกษาเงื่อนไขต่าง ๆ และคำนวณดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมก่อนว่า คุ้มหรือไม่ เพราะระยะเวลาการผ่อนชำระอาจจะนานขึ้น ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งหมดก็อาจจะมากขึ้นด้วย

ไม่ใช่แค่ภาระหนี้เท่านั้นที่ต้องปลดให้หมดก่อนวัยเกษียณ แต่ยังรวมถึงภาระค้ำประกันต่าง ๆ ทั้งการค้ำประกันเงินกู้ และการค้ำประกันคนเข้าทำงาน ต้องไปปลดภาระออกให้หมด เพราะมันอาจจะทำให้เรากลายเป็นหนี้ในวัยเกษียณแบบไม่รู้ตัว

วางแผนเกษียณอย่างไร? ให้หมดหนี้ก่อนอายุ 60

"เก็บเงิน" พูดง่าย แต่ทำยาก

6.การเก็บเงินระยะยาว

เป็นอีกทางเลือกหนึ่งทำให้เกิดความสบายใจได้ โดยเฉพาะคนที่มีอาชีพอิสระ ทางรัฐบาลก็มีหลายทางโครงการที่ออกมารองรับให้มีการเก็บออมเงิน เพื่อให้มีเงินก้อนหลังอายุ 60 ปี หากใครที่อยากจะออมเงินธรรมดา ๆ โดยไม่ต้องทำโครงการอะไรก็สามารถทำได้ ไม่ว่าคุณจะหยอดกระปุกออมสิน จะนำเงินฝากธนาคารจากบัญชีออมทรัพย์ทั่วไปก็ดี แต่มีข้อแม้ว่า ให้แยกบัญชีเก็บออกจากบัญชีปกติ แล้วห้ามทำบัตรเอทีเอ็ม ทำให้ถอนเงินได้ง่าย

แบ่งเงินก้อนจำนวนหนึ่งลงทุนที่ให้ผลกำไรแน่นอน หลังเกษียณอายุแล้ว อาจจะแบ่งเงินบางส่วนที่ตนฝากไว้ก่อนหน้านี้ มาฝากในลักษณะของกองทุนรวม พันธบัตรรัฐบาล หรือ การซื้อสลากออมสิน สลาก ธกส. ก็ทำให้ต่อยอดดอกผลได้ หรือใครที่มีประกันเงินออมแล้วจะฝากต่อไป ก็ได้เช่นกัน เพราะในกรณีที่มีลูกหลานแล้วอยากจะเก็บไว้ให้ เมื่อตนเสียชีวิตไป ก็สามารถทำได้ ซึ่งจะมีหลากหลายโครงการ หลายรูปแบบ หากใครที่ชอบเล่นหุ้น อาจจะยั้ง ๆ ใจไว้หน่อยเพราะความเสี่ยงสูง ฉะนั้นเงินจำนวนนี้จึงควรลงทุนกับเงินออมที่ให้ดอกผลแน่นอน หรือเงินปันผลที่ชัดเจน

7.ทำอาชีพเล็ก ๆ น้อย ๆ หลังเกษียณอายุ

 หลายคนก็ไม่อยากอยู่เฉย ๆ อยากจะทำอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่ง ฉะนั้นการประกอบอาชีพ ก็เป็นการต่อยอดให้เกิดรายได้อีกทางหนึ่ง แต่ควรศึกษาให้ดี และไม่ควรจะลงทุนกับการประกอบการที่เสี่ยงมาก ๆ เพราะมีสิทธิ์ขาดทุนสูง อาจจะทำเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อแก้เหงาหรือคลายเครียดจะดีกว่า แล้วเก็บออมเงินไว้ เช่น อาจจะทำขนมขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้กำไรนิดหน่อย แต่ต้องไม่ขาดทุน

8.ใช้เงินเท่าที่จำเป็นมากที่สุด

เช่น ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป พวกของฟุ่มเฟือย เช่น พวกเหล้า บุหรี่ หากใครยังที่เลิกไม่ได้ก็ควรเลิก เนื่องจากของเหล่านี้นอกจากจะทำให้เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์แล้วยังทำลายสุขภาพอีกด้วย เพราะอย่าลืมว่า อายุที่มากขึ้น ย่อมทำให้ร่างกายเจ็บป่วยมากขึ้น หากไม่รักษาสุขภาพให้แข็งแรง แล้วจะต้องนำเงินมาใช้จ่ายกับการรักษาโรคภัยเจ็บ

วางแผนเกษียณอย่างไร? ให้หมดหนี้ก่อนอายุ 60

9.ก่อนจะเกษียณอายุต้องเคลียร์ปัญหาต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้น

 ไม่ว่าจะเป็นผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือภาระอื่น ๆ เพราะต้องระลึกอยู่เสมอว่า หลังเกษียณไปแล้ว ตนเองจะทำงานได้น้อยลง เพราะร่างกายไม่เป็นใจ เนื่องจากอายุที่มากขึ้น ดังนั้น ควรจะสะสางหนี้สินต่าง ๆ ให้หมด หรือถ้าใครที่คิดจะนำเงินก้อนหลังเกษียณอายุมาใช้หนี้สินต่าง ๆ ก็ควรคำนวณดูว่า เมื่อใช้หนี้แล้วจะเหลือเงินเท่าไหร่ เพียงพอต่อการดำรงชีวิตหรือไม่ แต่ในทางที่ดีเคลียร์ปัญหาหนี้สินให้หมดก่อนอายุ 60 ปีจะดีที่สุด

10.ทบทวนเป้าหมายสม่ำเสมอ

เมื่อเราได้แผนการลงทุนที่เหมาะสมแล้ว ก็เริ่มต้นออมเงินได้เลย ที่สำคัญต้องตรวจสอบแผนการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย บริหารพอร์ตลงทุนให้ได้ผลตอบแทนตามที่คาดหวัง รวมทั้งเมื่อเวลาผ่านไปต้องพิจารณาว่าระดับความเสี่ยงที่เรารับได้เปลี่ยนไปหรือไม่ เพื่อประเมินและปรับเปลี่ยนแผนการออมให้เหมาะสมกับตัวเองมากยิ่งขึ้น

เคล็ดลับออมเงินอย่างไร? ให้พอยามเกษียณ

สำหรับเคล็ดลับการออมเงินนั้น  จะต้องออมเงินเท่าไหร่ ถึงจะพอใช้ยามเกษียณ

หลายคนอาจมองว่า ยังมีเวลาเตรียมตัวอีกนาน กว่าจะถึงวัยเกษียณ แต่ในความเป็นจริงแล้วการวางแผนการเงินไว้ใช้ในยามเกษียณนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย

หากคุณต้องการเกษียณตอนอายุ 60  ปี และคาดว่าตัวเองจะมีอายุถึงประมาณ 70 ปี แปลว่าคุณจะต้องใช้ชีวิตแบบไม่มีรายได้ราวๆ 10 ปี สมมุติถ้าคุณต้องการมีเงินใช้หลังเกษียณเดือนละ 30,000 บาท นั่นเท่ากับว่าคุณต้องมีเงินเก็บมากถึง 3,600,000 บาทเลยทีเดียว (30,000 บาท x 12 เดือน x 10 ปี) นี่ขนาดเป็นจำนวนเงินที่ยังไม่รวมไปถึงอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นประมาณปีละ 3% แล้วนะ ถือว่าเป็นจำนวนเงินที่ไม่น้อยเลยทีเดียว

เรายังไม่เริ่มคิดที่จะวางแผนการเงินกันตั้งแต่วันนี้ ก็อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับชีวิตในบั้นปลายได้ เพราะชีวิตคือความไม่แน่นอน ไหนจะเรื่องภาระทางสุขภาพที่ต้องแบกรับเมื่ออายุมากขึ้นอีก ความหวังที่จะให้ลูกหลานดูแล หรือพึ่งพาการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเดียว ก็อาจจะไม่เพียงพอ

คุณเป็นคนหนึ่ง ที่เพิ่มเริ่มก้าวเข้ามาสู่ชีวิตการทำงานอย่างเต็มตัว การเริ่มออมตั้งแต่วันนี้ จะช่วยให้คุณออมเงินในแต่ละเดือนได้โดยที่ไม่ต้องเหนื่อยกับการใช้ชีวิตประจำวันมากจนเกินไป เพียงแค่ออม 20% ของเงินเดือน หากทำได้อย่างต่อเนื่องแบบนี้ คุณก็จะสามารถมีบั้นปลายชีวิตอย่างมีความสุขได้

แต่หลายคนอาจมีคำถามอีกว่า แล้วถ้าต้องการเกษียณก่อน 60 ปี หรือทำงานมาหลายปีแล้ว แต่เงินเก็บยังไม่ถึงไหนเลย จะทำอย่างไร? สิ่งที่จะช่วยให้คุณทำได้ตามเป้าหมายได้เร็วขึ้นก็คือ การนำเงินออมไปลงทุนนั่นเอง ดังนั้นเรามาดูกันดีกว่า ว่ามีช่องทางการลงทุนแบบไหนที่จะช่วยให้เราออมเงินถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้นบ้าง ?

วางแผนเกษียณอย่างไร? ให้หมดหนี้ก่อนอายุ 60

ออมผ่านช่องทางไหนดี?

เมื่อรู้ยอดเงินที่เราจะออมในแต่ละเดือนแล้ว ให้แบ่งเงินออมไปลงทุนด้วย หากคุณต้องการเกษียณเร็วขึ้น หรือมีระยะเวลาในการทำงานไม่มากแล้ว อาจเลือกลงทุนหรือออมในผลิตภัณฑ์ที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น เช่น ตราสารหนี้ กองทุนรวม หรือหุ้น อย่างไรก็ตาม ควรประเมินความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ก่อนลงทุนด้วย เนื่องจากแต่ละคนสามารถรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน การเลือกลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับเรา จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เรามีโอกาสรับผลตอบแทนตามที่หวังไว้ แถมยังเกษียณได้แบบชิวๆ อีกด้วย

ส่วนช่องทางสำหรับการออมเงินเพื่อเกษียณอายุก็มีผลิตภัณฑ์มากมาย ที่จะช่วยให้เราออมเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ มากกว่าการฝากเงินนิ่งๆ ไว้ในธนาคารเช่นกัน เช่น

  •  กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

คนทำงานออฟฟิศน่าจะคุ้นเคยกับกองทุนนี้ โดยเป็นกองทุนที่เราสามารถสะสมเงินได้สูงถึง 15% ของเงินเดือน แถมยังสามารถนำยอดเงินสะสมไปหักลดหย่อนภาษีได้ นอกจากนี้ เรายังมีโอกาสได้รับเงินสมทบจากนายจ้างเพิ่มเติมด้วย

  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

เป็นกองทุนที่เปิดโอกาสให้เราออมเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณ ถือว่าเป็นแหล่งหลัก ในการออมเงินเกษียณเลยก็ว่าได้ เพราะกองทุนรวม RMF นั้นจะต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี และต้องลงทุนไปจนถึงอายุ 55 ปี (เว้นได้อย่างมาก 1 ปี) ทำให้เรามีวินัยในการลงทุน และข้อดีอีกอย่างของ RMF ก็คือเราสามารถบริหารความเสี่ยงได้เอง โดยสับเปลี่ยนการลงทุนจากความเสี่ยงสูงไปยังความเสี่ยงต่ำได้ ระหว่างหน่วยลงทุนของกองทุนรวม RMF ซึ่งมีหลากหลายประเภทให้เราเลือกตามความเหมาะสม นอกจากนี้ยังสามารถนำยอดเงินลงทุนไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของเงินได้ที่เสียภาษีอีกด้วย

  • ประกันชีวิต

หลายคนที่ไม่ค่อยสนใจเรื่องการลงทุน และไม่ชอบการบริหารความเสี่ยงเท่าไหร่นัก ประกันชีวิตก็เป็นทางเลือกในการออมที่ดีอีกทางหนึ่ง แม้ว่าผลตอบแทนจะไม่มากเท่ากับกองทุน แต่การทำประกันก็มีข้อดีหลายข้อ นอกจากจะช่วยแบ่งเบาภาระค่ารักษาพยาบาลก้อนโตที่อาจเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ หรือความเจ็บป่วยที่ไม่คาดฝันแล้ว เรายังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีจากการมีประกันชีวิตได้อีกด้วย

อ้างอิง:ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ,moneyhub,วิจัยกรุงศรี