'บุหรี่ไฟฟ้า’ สารพิษเพียบ เจอ ‘ไซยาไนด์’ ในปัสสาวะคนสูบ
เปิดความจริง 8 เรื่องเกี่ยวกับ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ แพทย์ชี้สารพิษเพียบ เจอ ‘ไซยาไนด์’ ในปัสสาวะคนสูบ ส่วนค่าPM2.5สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 45 เท่า
เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2566 สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายเด็กและเยาวชน จัดเสวนาทางวิชาการเรื่องบุหรี่ไฟฟ้ากับคนรุ่นใหม่ หัวข้อ “รู้ไหมว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตราย” เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2566 โดยรศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงเรื่องทำไมบุหรี่ไฟฟ้าไม่ควรถูกกฎหมาย หากมองในมุมมองด้านสุขภาพว่า ยืนยันบุหรี่ไฟฟ้าอันตราย เพราะก็คือบุหรี่ เพียงแต่บริษัทผู้ผลิตเปลี่ยนโฉมใหม่ มีสารพิษเป็นอันตายต่อสุขภาพเป็นพันชนิด มีสารก่อมะเร็ง และสารเคมีอันตรายต่อสุขภาพทั้งโลหะหนักต่างๆ และพบเจอตัวอย่างผู้ป่วยจำนวนมากในต่างประเทศและในประเทศไทยก็มีที่ได้รับผลกระทบจากการสูบบุรหี่ไฟฟ้าเพียงระยะเวลสั้น โดยไปทำลายปอด
“อันตายของบุหรี่ไฟฟ้า คือ 1. อันตรายต่อสุขภาพผู้สูบ 2.อัตรายต่อคนไม่สูบแต่อยู่ใกล้ 3.เป็นบุหรี่แบบใหม่มาเจาะตลาดทำให้เด็ก เยาวชน ติดสารนิโคติน ที่บุหรี่ไฟฟ้ามีปริมาณสูงกว่าแบบมวน ที่บอกว่าน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา เป็นมายาคติที่ปั้นแต่ง เพราะบุหรี่ไฟฟ้า ก็คือบุหรี่ แต่เป็นบุหรี่ที่เข้ากับยุคเรา ซึ่งจะไปสูบบุหกรี่แบบเดมไหม คงไม่ค่อยมีใครอยากสูบ เพราะรูเว่าอันตราาย กลิ่นเหม็น แต่พอปรับแต่งโฉมใหม่หลายคนก็อยากลอง "รศ.พญ.เริงฤดีกล่าว
รศ.พญ.เริงฤดี กล่าวอีกว่า ผลกระทบต่อสุขภาพ ความจริง 8 ข้อบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายไม่ควรถูกกฎหมาย คือ
1.นิโคตินเป็นสารเสพติด บริษัทบุหรี่แต่งคำขึ้นมา พยายามเปรียบเทียบนิโคตินกับสารอื่นอย่างกาเฟอีน ซึ่งจริงๆ นิโคตินมีฤทธิ์เสพติดสูงมากกว่ากาเฟอีนหลายร้อยหลายพันเท่า ขึ้นสู่สมองได้เร็วมาก ไม่เกิน 7 นาที ติดง่ายเลิกยาก และที่กังวลหลายคนไม่รู้ นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าสูงกว่าบุหรี่มวน บางยี่ห้อสูงกว่าบุหรี่มวน 50 เท่า อันตรายน้อยกว่าจึงไม่น่าจริง ถ้าอายุไม่ถึง 25 ปี สมองยังเติบโตได้ หากมีสารพิษเสพติดเข้าร่างกาย จะไปทำลายการเจริญเติบโตของสมอง เราคงไม่อยากให้เกิดเช่นนั้น โดย 7 ใน 10 จะเลิกนิโคตินไม่ได้ไปตลอดชีวิต
2.บุหรี่ไฟฟ้ามีสารเคมีอันตรายจำนวนมาก บริษัทมักบอกว่าเป็นการสูบไอน้ำ จริงๆ ไม่ใช่ไอน้ำเปล่าธรรมดา แต่เป็นไอสเปรย์ที่มีสารเคมีออกมาจำนวนมาก สารก่อมะเร็ง โลหะหนัก ฝุ่นพิษ PM 2.5 และที่เล็กกว่านั้น บริษัทบอกว่าสารเติมแต่งกลิ่น รสชาติในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าเอามาผสมอาหารได้ กินได้ แต่การเอามาสูดดมเข้าคนละช่องทาง ที่กินได้ ไม่ได้แปลว่าสูดดมแล้วจะปลอดภัย สารที่ทำป๊อปคอร์นรสเนย Diacetyl กินก็ไม่เป็นอะไร แต่พอสูดเข้าปอดทำให้ปอดอักเสบรุนแรง
3.ผลต่อปอดระยะสั้นรุนแรงกว่าบุหรี่มวน เพราะบุหรี่มวนสูบระยะสั้นมักไม่ค่อยเห็นป่วยรุนแรง คนป่วยมักอายุมาก สูบมา 20-30 ปี เจอถุงลมโป่งพองหรือมะเร็ง แต่บุหรี่ไฟฟ้าพบแล้วไม่นานหลักเดือน 1-2 ปีก็พบปอดอักเสบรุนแรง หรืออิวาลี
4.ผลระยะยาวยังไม่ทราบ แต่เมื่อผลระยะสั้นยิ่งกว่าบุหรี่ธรรมดา อนุมานได้หรือไม่ว่าจะอันตรายน้อยกว่า ก็คงไม่ได้ เพราะบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่งมีมา 10 กว่าปี แต่เรามีการแพทย์ทันสมัยทำให้พบอันตรายต่อระบบต่างๆ ทั้งปอด หัวใจ โดยกลไกมาจากนิโคติน และสารพิษที่จะเข้าไปสะสม ทำลายการสูบฉีดของหัวใจ เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ แย่ลง มีงานวิจัยว่าบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงเกิดโรคหอบหืดและถุงลมโป่งพองเพิ่มขึ้น 2 เท่า
ทำลายเซลล์หลอดเลือดแดง 58% เสี่ยงเกิดหัวใจวายเฉียบพลัน 2 เท่า และน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดโอกาสเสียชีวิตเฉียบพลันได้ นิโคตินทำลายสมองวัยรุ่นที่ยังโตไม่เต็มที่ รวมถึงมะเร็งในคนจากบุหรี่ไฟฟ้ายังไม่เห็น แต่เอาหนูไปทดลอง รับไอบุหรี่ไฟฟ้า 1 ปี 1 ใน 4 หนูทดลองเป็นมะเร็งปอด ในคนจึงต้องติดตามต่อไปยาวกว่านี้ บุหรี่ไฟฟ้าทำลาย DNA ไม่ต่างจากบุหรี่มวน ทำให้เสี่ยงมะเร็ง ทำให้เสี่ยงตาบอดเพิ่ม 2 เท่า
ล่าสุดพบว่า ปัสสาวะคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าไปตรวจก็พบสารไซยาไนด์เหมือนกัน เมื่อเทียบกับคนไม่สูบซึ่งระดับไซยาไนด์ในปัสสาวะอยู่ที่ 115.5 แต่คนสูบบุหรี่มวนพบ 343.2 และบุหรี่ไฟฟ้าพบสูงถึง 439.7 นาโนกรัมต่อมิลลิกรัม( ng/mg) คือมีสารพวกนี้ในบุหรี่ไฟฟ้า คนไม่สูบคิดว่ากลิ่นไม่เหม็น อยู่ใกล้ไม่อันตราย แต่การสูบบุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดฝุ่นพิษ ฝุ่นPM 2.5 สูงกว่าค่าปกติ 45 เท่า และยังมี PM 1.0 อีกที่มีปริมาณสูง คนรับควันบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้สูบ แต่รับจากคนอื่น เสี่ยงหลอดลมอักเสบเพิ่ม 3 เท่า
5.สารพิษต่างจากบุหรี่ธรรมดา ที่ไม่เคยพบในบุหรี่มวน ถามว่าอันตรายน้อยหรือมากกว่าก็สรุปยาก เพราะสารเคมีคนละตัว นักวิจัยมหาวิทยาลัยจอฟ์นฮอปกินส์ นำเอาบุหรี่ไฟฟ้ามาตรวจมีสารเคมีเกือบ 2 พันชนิดที่ไม่รู้จักและไม่มีในบุหรี่มวนมาก่อน
6.บุหรี่ไฟฟ้าพุ่งเป้าทำการตลาดไปที่วัยรุ่น เอกสารลับบริษัทบุหรี่บอกฐานธุรกิจของเราคือนักเรียนม.ปลาย หากติดก็จะเป็นลูกค้าระยะยาว เป็นลูกค้าคนสำคัญในวันหน้า การสูบบุหรี่ในวัยรุ่นจึงสำคัญมากกับบริษัทบุหรี่ มีรสชาติต่างๆ เป็นหมื่นชนิด การออกมาเพื่อให้ผู้ใหญ่เลิกสูบคงไม่จริง เพราะมีการออกน้ำยากลิ่นต่างๆ รูปการ์ตูนเป็นของเล่นต่างๆ ที่ดึงดูดเด็ก
นอกจากนี้ ยิ่งสูบยิ่งติด เพราะเป็นนิโคตินใหม่ เรียกว่า Nicotine Salts หรือเกลือนิโคติน ที่เปลี่ยนโครงสร้างนิโคตินให้สูบง่ายขึ้น ไม่แสบระคายเคืองคอ สูบง่ายก็ติดง่าย ยิ่งสูบยิ่งติด เป็นกลยุทธ์ในการดัดแปลงให้เด็กและเยาวชนยิ่งติด เด็กไทยที่เริ่มด้วยบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มสูบบุหรี่มวนเพิ่ม 5 เท่า เพราะสูบแล้วไม่ถึง ถือเป็นต้นทาง คล้ายกับเบียร์ 0% ที่ไม่สุดก็ต้องไปดื่มเบียร์จริง เป็นกลยุทธ์เดียวกัน
7.บุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยเลิกบุหรี่ ถ้าช่วยเลิกได้จริง ก็ต้องเลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้าได้ บุหรี่ไฟฟ้าจึงไม่ใช้แพลตฟอร์มเลิกบุหรี่ เพราะหันไปติดบุหรี่ไฟฟ้าแทน องค์การอนามัยโลกยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยเลิกบุหรี่ มีการรีวิวงานวิจัยทั่วโลก 44 ชิ้น สรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้าที่ซื้อมาสูบเอง โดยไม่ได้มีแพทย์แนะนำให้สูบ พบว่า สุดท้ายเลิกไม่ได้
และ 8.บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าผิดกฎหมาย
บุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายในไทย
ด้าน นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าจัดเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในประเทศไทย ตามกฎหมายควบคุม 4 ฉบับ คือ
1.ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.คำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3.พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท
4.พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 เพราะน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินเป็นส่วนประกอบ หากสูบในพื้นที่ห้ามสูบตามกฎหมายตามมาตรา 67 จะมีฐานความผิดการห้ามสูบในที่สาธารณะ มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท แต่ที่ผ่านมายังมีการลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง สร้างความเสียหายต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนมาตลอด จึงอยากขอความร่วมมือให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง
“สังคมไทยมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นบุหรี่ไฟฟ้ากับกัญชา ต้องยอมรับว่ากัญชานับเป็นพืชที่สามารถให้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ และการใช้งานกัญชาต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์คือ ต้องไม่มีการเอาไปใช้ประโยชน์อย่างเสรีของบุคคลทั่วไป แต่บุหรี่ไฟฟ้ากลับยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ในมิติต่าง ๆ ได้เลย โดยเฉพาะประเด็นการช่วยเลิกบุหรี่ ขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดมีการยื่นขออนุญาตและขึ้นทะเบียนให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกสูบบุหรี่ ตามที่มีการกล่าวอ้าง จึงขอเน้นย้ำประชาชนทุกคนว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่อันตรายไม่แตกต่างจากบุหรี่มวน การสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดการเจ็บป่วยในอนาคตได้” นายไพศาล กล่าว