ปรับโหมดสู่พฤติกรรม LGBT Ally เพื่อสังคมที่เท่าเทียมและหลากหลาย
เมื่อพูดถึง Pride Month ที่ตรงกับเดือนมิถุนายน เรามักจะนึกถึงการเดินขบวนพาเหรดอย่างคึกคักพร้อมธงสายรุ้งปลิวไสวไปตามถนน และกิจกรรมเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งมักจะดำเนินการโดยกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT+)
นอกเหนือจากกิจกรรมเหล่านี้น่าจะได้พูดถึงคนอีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถมีบทบาทในการช่วยส่งเสริมให้เรื่องของความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศเป็นจริงขึ้นมาได้ นั่นคือ “LGBT Ally”
LGBT Ally คืออะไร
LGBT Ally (รูปพหูพจน์คือ Allies) คือคนที่ไม่ได้นิยามตนเองเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT+) แต่ต้องการสนับสนุน ช่วยเหลือ ยอมรับ และเป็นเพื่อนหรือ “พันธมิตร” (Alliance) กับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศนั่นเอง
หลายครั้งคนที่เป็น LGBT Ally เนื่องจากมีญาติพี่น้อง ลูกหลาน บุคคลในครอบครัว หรือเพื่อนสนิทที่เป็น LGBT จึงต้องการที่จะเรียนรู้และส่งเสริมเรื่องของสิทธิ ความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศให้เกิดขึ้นกับคนที่ตนรัก
แต่หลายๆ คนก็เป็น LGBT Ally โดยที่ไม่ได้มีคนรู้จักใกล้ตัวที่เป็น LGBT แต่ต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมแห่งความเคารพในความแตกต่างหลากหลายของเพื่อนมนุษย์
บางองค์กรในต่างประเทศจะมีการทำเข็มติดเสื้อลายสายรุ้งให้กับพนักงานในองค์กร ซึ่งนอกจากพนักงานกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ LGBT แล้ว พนักงานที่เป็น LGBT Ally ก็จะมีการติดเข็มนี้เช่นกัน
ความหมายของการติดเข็มสายรุ้งนี้เป็นการสื่อถึงการยอมรับและไม่มีอคติต่อความหลากหลายทางเพศ อย่างไรก็ตามการเป็น Ally ที่ดีสามารถทำได้มากกว่าแค่การติดเข็มบนเสื้อ
เปิดใจ เข้าใจ รับฟัง ช่วยเหลือ
อย่างแรกนั้น คนที่จะเป็น LGBT Ally ที่ดี ควรจะเริ่มต้นจากการเปิดใจยอมรับความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง พยายามเข้าใจ รับฟัง มีความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) และเป็น “เพื่อน” ที่อยู่ข้างๆ คอยเป็นกำลังใจ ช่วยเหลือ ดูแล ห่วงใย
ทำให้เพื่อนรู้สึกปลอดภัยและสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ ไม่แบ่งแยก ไม่กีดกัน ไม่ตัดสิน และไม่รู้สึก “อาย” ที่จะบอกใครๆ ว่าเป็น LGBT Ally
ตัดอคติและความเชื่อผิดๆ
บางครั้งสังคมเรายังคงมีอคติหรือความเชื่อผิดๆ ที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดการยอมรับในความหลากหลายทางเพศหรือแม้กระทั่งใช้เป็น “ข้ออ้าง” ในการบูลลี่คนกลุ่ม LGBT
เช่น ความเชื่อที่ว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศคือคนที่ชาติที่แล้วนั้นทำผิดศีลข้อสาม หรือความเชื่อที่ว่าความรักแท้ไม่มีอยู่จริงในเพศทางเลือก เป็นต้น
เหล่านี้เป็นสิ่งที่จะบั่นทอนรากฐานของการสร้างสังคมแห่งการเคารพและยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ดังนั้น LGBT Ally ควรจะช่วยกันสร้างทัศนคติที่ดีต่อความหลากหลายทางเพศ ลบอคติและความเชื่อผิดๆ เหล่านี้ออกไป
หลีกเลี่ยงการล้อเลียนหรือคำถามอึดอัดใจ
LGBT Ally ที่ดีควรจะหลีกเลี่ยงการล้อเลียน แกล้ง หรือล้อเล่นใดๆ จากประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศ ถึงแม้จะคิดว่าเป็นแค่การหยอกล้อระหว่างเพื่อนฝูงหรือคนในครอบครัว แต่ก็อาจทำให้ผู้ฟังรู้สึกไม่สบายใจหรือรู้สึกว่าถูกคุกคามได้
นอกจากนี้บางคำถามที่อาจทำให้ผู้ตอบต้องอึดอัดใจในการตอบก็ควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน อาทิ การพยายามกดดันคาดคั้นเพศสภาพของบุคคล หรือการถามคำถามเรื่องความสัมพันธ์
อย่าลืมว่า Ally ที่ดีจะพยายามสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยและเป็นมิตรให้แก่ “เพื่อน” ที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ
เรียนรู้ซึ่งกันและกัน
นอกจาก LGBT Ally จะคอยช่วยเหลือเพื่อนๆ ที่เป็น LGBT แล้ว LGBT Ally ก็สามารถเรียนรู้จากเพื่อนๆ เหล่านี้ได้ถึงทัศนคติต่างๆ การปฏิบัติตัว ภาษา สรรพนาม คำพูดที่ช่วยส่งเสริมความเท่าเทียม ความหลากหลาย และการเคารพซึ่งกันและกัน
ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเรื่องความหลากหลายในมิติอื่นๆ ได้ เช่น เชื้อชาติ สีผิว ศาสนา อายุ ฯลฯ การเป็น LGBT Ally จึงช่วยสร้างทักษะในการอยู่ร่วมกันในสังคมแห่งความหลากหลายในปัจจุบัน
สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ยอมรับความหลากหลาย
ในระดับองค์กร ก็สามารถเป็น LGBT Ally ให้แก่พนักงานในองค์กรได้ โดยควรสร้างวัฒนธรรมและค่านิยมในองค์กรให้ส่งเสริมเรื่องความเท่าเทียม ความหลากหลาย และความเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร (Equality, Diversity, and Inclusion: EDI)
ซึ่งทำได้ทั้งการวางแนวทางปฏิบัติขององค์กรแบบเป็นทางการและกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมการยอมรับความหลากหลาย นอกจากนี้อาจมีการจัดตั้งเครือข่ายพนักงานที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT Employee Network) ให้เป็นชุมชนในองค์กรสำหรับพนักงาน LGBT ด้วยกันรวมถึงเพื่อนๆ ที่เป็น LGBT Ally ด้วย
ทั้งหมดนี้ เป็นแนวทางเบื้องต้นที่ LGBT Ally สามารถทำได้เพื่อช่วยเป็นอีกหนึ่งพลังในการผลักดันให้เกิดความเท่าเทียม การละทิ้งอคติ การยอมรับ และเคารพในความหลากหลายทางเพศ เพื่อร่วม “เฉลิมฉลอง” การเป็นตัวตนที่แท้จริงของเพื่อนมนุษย์ ซึ่งสามารถทำได้ทุกๆ วัน ไม่ใช่แค่ในช่วงเดือน Pride Month เท่านั้น