ผู้สูงอายุเข้าถึงชุดฟันเทียม28%เหตุราคาแพง-กระทบคุณภาพชีวิต
จากรายงานผลการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พบว่า ในกลุ่มอายุ 60-74 ปี ฟันผุ 52.6% ฟันถอน 96.8% และฟันอุด 22.5 % ขณะที่ข้อมูลใน Health Data Center(HDC)ของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าปี 2563 ผู้สูงอายุกว่า 40% เหลือฟันใช้งานไม่ถึง 20 ซี่
Keypoint:
- การส่งเสริมให้คนไทยดูแลสุขภาพช่องปากอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เด็กจนเข้าสู่วัยสูงอายุจะช่วยลดปัญหาสุขภาพช่องปากได้
- 'ผู้สูงอายุ' เป็นกลุ่มวัยที่ประสบปัญหาสุขภาพหลายด้าน โดยเฉพาะการสูญเสียฟันมากกว่าครึ่งของผู้สูงอายุที่มีฟัน อีกทั้งพบว่ามีโรคในช่องปากที่ไม่ได้รับการรักษาและมีโอกาสสูญเสียฟันเพิ่มขึ้น
- 'โครงการ Smiles Can’t Wait' จัดโดยเฮลีออน ประเทศไทย ร่วมกันพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมบริจาคส่งมอบฟันเทียมให้แก่ผู้สูงอายุ ดูแลสุขภาพ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี เสริมความมั่นใจ
แต่ละปีผู้สูงอายุระหว่าง 60-74 ปี และ 80-85 ปี ในประเทศไทยเข้าถึงชุดฟันเทียมเพียง 28% เท่านั้น ซึ่งข้อจำกัดหลักที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถเข้าถึงการรักษาฟันได้ มาจากค่าใช้จ่ายในการทำฟันเทียมที่มีราคาค่อนข้างสูง ทั้งที่ การผู้สูงอายุมีปัญหาการสูญเสียฟัน หรือโรคในช่องปาก จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ความมั่นใจ
“ผู้สูงอายุที่ไม่มีฟัน ทำให้เคี้ยวอาหารได้ไม่ละเอียด จะมีภาวะกลืนอาหารลำบาก เนื่องจากกลไกของระบบประสาทที่ควบคุมการกลืนลดลง เพราะเมื่ออายุมากขึ้น กล้ามเนื้อ ระบบอวัยวะต่างๆ ก็จะเสื่อมลง ทั้งการทำหน้าที่การทำงานของช่องปาก คอหอย กล่องเสียง หลอดอาหาร และกลไกของระบบประสาทที่ควบคุมการกลืน อีกทั้งเมื่อมีอาหารเหลือค้างในปากจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อก่อโรคอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงสำลักอาหารเข้าสู่ทางเดินหายใจได้จึงเป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุ” 'รศ.ทพ.ดร.นิยม ธำรงค์อนันต์สกุล' คณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
'บัตรทอง' ใส่รากฟันเทียมได้แล้ว หมดเขตกันยายนปีหน้า เช็กรายละเอียดที่นี่!
รู้หรือไม่ 58% ผู้สูงอายุไทย เหลือฟันธรรมชาติน้อยกว่า 20 ซี่
สุขภาพช่องปากส่งผลต่อกาย-ใจ
ปัจจุบันมีคนไข้รอเข้ารับการใส่ฟันเทียม เพดานเทียม ประมาณ 4,000 คิว ซึ่งคนไข้ส่วนใหญ่ที่รอคิวอยู่จะหวังราคาถูกในการเข้ารับบริการ ซึ่งการทำฟันเทียมในคลินิกหรือไม่ใช่โรงพยาบาลรัฐจะชิ้นหนึ่งประมาณ 7,000-8,000 บาท แต่คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณฺ์มหาวิทยาลัย จะประมาณ 500-1,000 บาท
ขณะที่ 'ทพ.วิศรุตม์ ประวัติวัชรา'คณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุมีความสำคัญ เพราะนอกจากภายในช่องปากจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในทางกายภาพของผู้สูงวัยโดยตรงแล้ว ยังส่งผลกระทบด้านจิตใจ โดยจะลดทอนความมั่นใจและความสุขในการใช้ชีวิตลงอย่างมาก ลูกหลานหรือผู้ที่มีหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุ จึงควรหมั่นสังเกต และพาผู้สูงวัยไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพในช่องปากและดูแลรักษาฟันอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนดูแลเรื่องการเลือกชนิดของฟันปลอม การสวมใส่และการดูแลรักษาชุดฟันปลอมของผู้สูงอายุในบ้าน
หากผู้สูงอายุที่ใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ที่ไม่พอดี จะทำให้เกิดความเจ็บปวดและความรู้สึกไม่สบายในช่องปากได้ ฟันเทียมที่ไม่พอดี จะก่อให้เกิดการเสียดสีกับเหงือก ทำให้เกิดอาการเจ็บเวลาใช้งานและอาจพบแผลบริเวณที่ใส่ฟันปลอมได้ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา ปัญหาจะรุนแรงขึ้นและอาจส่งผลต่อการรับประทานอาหาร
ดูแลสุขภาพฟัน-ฟันเทียมผู้สูงอายุ
ขณะเดียวกันผู้สูงอายุที่มีการใช้งานฟันปลอมชนิดถอดได้มานานหลายปี อาจพบว่าฟันปลอมที่เคยพอดีกลับหลวม ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสรีระตามธรรมชาติของเหงือกและขากรรไกร ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการไม่พอดีของฟันปลอม ดังนั้น การใส่ฟันปลอมของผู้สูงวัยจึงต้องมีการสังเกตและดูแลอยู่เสมอ เพื่อที่จะได้มีการแก้ไข และไม่ก่อให้เกิดปัญหาในช่องปากตามมา นอกจากนี้ฟันปลอมที่เก่าและมีสภาพไม่ดี อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อราในช่องปากได้
“ผู้สูงอายุควรไปพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละครั้งเพื่อตรวจสภาพฟันเหงือกรวมทั้งเนื้อเยื่อในช่องปากและซ่อมเสริมฟันเทียมให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดีอยู่เสมอ ไม่หลวมหรือคมจนเหงือกและลิ้นเป็นแผลเพื่อสุขภาพช่องปากที่ดี”ทพ.วิศรุตม์ กล่าว
Smiles Can’t Wait ทำฟันเทียมแก่ผู้สูงอายุ
'โครงการ Smiles Can’t Wait'ที่ เฮลีออน ประเทศไทย ร่วมกันพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ส่งมอบสุขภาพที่ดีขึ้นในทุกๆ วันสำหรับทุกคน สานต่อแนวคิด #EveryMouthMatters ผ่านแคมเปญ 'เพราะรอยยิ้มไม่ควรต้องรอ ความสุขก็เช่นกัน' ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูญเสียฟันที่ไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจากการทำฟันเทียม ให้มีโอกาสเข้าถึงบริการฟันเทียมได้มากขึ้น
'น.ส.สุวรรณา ร่วมสนิทวงศ์' ผู้จัดการการตลาดอาวุโส กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ เฮลีออน ในประเทศไทย กล่าวว่าแคมเปญดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างมากจากประชาชนเป็นอย่างมาก ได้รับเงินบริจาครวมกว่า 1 ล้านบาทซึ่งเปิดรับบริจาคในวันผู้สูงอายุแห่งชาติ เดือนเมษายนเพียงเดือนเดียว คาดว่าจะสามารถดำเนินการต่อยอดโครงการเฟส 2 ได้ต่อไป เพื่อดูแลสุขภาพช่องปากและฟันให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
โดยได้ส่งมอบฟันเทียมจำนวน 1,000 ชุดให้แก่ผู้สูงวัยภายใต้ความร่วมมือกับ โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, กองทันตกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า, โรงพยาบาลคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมร้านขายยาแห่งประเทศไทย
ด้าน 'นางปัญจมาพร รุจิสนธิ' อายุ 55 ปี หนึ่งในคนไข้จำนวน 1,000 คนที่ได้รับชุดฟันเทียม กล่าวว่า ประสบปัญหาการสูญเสียฟันจากโรคปริทันต์อักเสบหรือโรครำมะนาดมากว่า 8 ปีแล้ว ซึ่งการเสียฟัน ทำให้เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด อาหารไม่ย่อย เกิดภาวะท้องอืดอยู่ตลอดเวลา และยังส่งผลทำให้ไม่มั่นใจเวลาพูดคุยกับผู้อื่นด้วย หนักเข้าเลยรู้สึกท้อและไม่อยากพูดคุยกับใคร การที่มีโครงการ ‘เพราะรอยยิ้ม ไม่ควรต้องรอ’ ทำให้กลับมามีความสุขอีกครั้ง มีความสุขกับการได้เคี้ยวอาหารจานโปรดหลังจากไม่ได้กินอย่างมานาน
'บัตรทอง'ใส่ฟันเทียมหลวม รับบริการใส่รากเทียมฟรี
โครงการฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567ภายใต้ความร่วมมือ โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ สปสช. ใส่ฟันเทียมให้กับผู้ที่สูญเสียฟันเกือบทั้งปากและใส่รากฟันเทียมให้กับผู้ที่ใส่ฟันเทียมทุกกลุ่มอายุที่มีปัญหาการใส่ฟันเทียม ฟันเทียมหลวม ไม่แน่น ไม่กระชับ หรือไม่สามารถใส่ฟันเทียมได้ ที่ทันตแพทย์วินิจฉัยแล้วว่า จำเป็นต้องได้รับการใส่รากฟันเทียม
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่าในการทำหัตถการนี้ ผู้ป่วยจะได้รับการฉีดยาชาก่อน หลังจากนั้นทันตแพทย์ก็จะทำการใส่รากฟันเทียม 2 รากที่ขากรรไกร ซึ่งใช้เวลาเพียง 1-2 ชั่วโมง ขั้นตอนจากนั้น เป็นช่วงการรอให้รากฟันเทียมยึดติดกับกระดูกเสียก่อน อาจต้องใช้เวลานานประมาณ 2-3 เดือน แล้วจึงเป็นการนัดพบทันตแพทย์เพื่อทำการปรับแต่งฟันเทียมให้ยึดกับรากฟัน
เมื่อผู้ป่วยมีรากฟันเทียมที่จะยึดติดฟันเทียมแล้ว จะทำให้สามารถใช้ฟันเทียมในการบดเคี้ยวได้ดี รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ได้หลากหลาย อันนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี ทั้งยังเป็นการเสริมบุคลิกที่ดีให้กับผู้ป่วยอีกด้วย ในระหว่างนี้ก็จะมีการนัดผู้ป่วยมาตรวจรากฟันเทียมที่ใส่เป็นระยะ ซึ่งรากฟันเทียมนี้ ผู้ป่วยสามารถใส่ได้ไปตลอด แต่ในกรณีที่ใส่ฟันเทียมที่ยึดติดกับรากฟันเทียมไประยะหนึ่ง แล้วฟันเทียมที่ใส่เกิดหลวมอีกนั้น จะเป็นการแก้ไขโดยปรับฟันเทียมบริเวณที่ยึดกับรากฟัน
ผู้ที่มีสิทธิบัตรทองที่ใส่ฟันเทียมทั้งปาก ที่รับบริการในโครงการฯ และมีปัญหาฟันเทียมหลวม ไม่กระชับ ซึ่งทันตแพทย์วินิจฉัยว่าต้องใส่รากฟันเทียมนี้ สามารถเข้ารับบริการใส่รากฟันเทียมได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ สอบถามได้ที่โรงพยาบาลที่ท่านได้รับการใส่ฟันเทียม หรือติดต่อสายด่วน สปสช.1330