"Mpox ฝีดาษวานร เคลดวันบี" ติดง่ายขึ้น คนเกิดก่อนปี 2523 โอกาสติดน้อยลง 5 เท่า

"Mpox ฝีดาษวานร เคลดวันบี" ติดง่ายขึ้น คนเกิดก่อนปี 2523 โอกาสติดน้อยลง 5 เท่า

"ฝีดาษวานร Mpox เคลดวันบี" ติดง่ายขึ้น กรมควบคุมโรคย้ำติดจากสัมผัส “สารคัดหลั่ง” ไม่ใช่“แอร์บอร์น”  ประเมินไทยเสี่ยงระดับปานกลางถึงต่ำ  เข้มระบบเฝ้าระวังคนเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง ต้องแสดงตัว-สงสัยตรวจเชื้อได้ที่สนามบินรู้ผลใน 90 นาที เจอส่งเข้ารักษาห้องแยกโรค

KEY

POINTS

  • Mpox ฝีดาษวานร  เคลดวันบี ติดง่ายขึ้น  กรมควบคุมโรคย้ำติดต่อจากสัมผัส “สารคัดหลั่ง” ไม่ใช่“แอร์บอร์น”  ไอ จาม ละอองน้ำลายต้องใกล้กันมาก
  • ประเทศไทยยังไม่พบผู้ป่วยฝีดาษวานร เคลดวันบี ประเมินความเสี่ยงอยู่ระดับปานกลาง-ต่ำ ส่วนวัคซีนคนเกิดก่อนปี 2523 ได้รับวัคซีนไข้ทรพิษแล้ว โอกาสติดน้อยลง 5 เท่า  
  • เปิดพื้นที่เสี่ยงฝีดาษวานร เคลดวันบี ไทยเข้มระบบเฝ้าระวังคนเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง ต้องแสดงตัว-สงสัยตรวจเชื้อได้ที่สนามบินรู้ผลใน 90 นาที เจอยืนยันส่งเข้ารักษาห้องแยกโรค สถาบันบำราศนราดูร

จากกรณีที่องค์การอนามัยโลก(WHO) ประกาศให้การระบาดของฝีดาษวานร เคลดวันบี หรือ Mpox clade Ib เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ  และศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งยุโรป (ECDC) ได้ยกระดับการประเมินความเสี่ยงของโรคฝีดาษวานร จากต่ำเป็นปานกลาง  หลังประเทศสวีเดนรายงานยืนยันพบผู้ป่วยติดเคลดวันบี ซึ่งเป็นรายแรกนอกพื้นที่แอฟริกาที่มีการระบาดมาก

ฝีดาษวานร เคลดวันบี ติดได้ง่ายขึ้น

เมื่อวันที่ 20 ส.ค.2567  นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ไทยยังไม่เจอฝีดาษวานร เคลดวันบี แต่ไทยเคยเจอฝีดาษวานรในสายพันธุ์เคลดทู (Clade II) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 ราว 800 ราย เฉพาะในปี พ.ศ.2567 พบประมาณ 140 ราย เป็นสายพันธุ์เคลดทูทั้งหมด ส่วนมาตรการควบคุมตามด่านเข้าประเทศ กรมควบคุมโรคดำเนินการเข้มข้นมาตลอด แม้กระทั่งช่วงที่องค์การอนามัยโลกประกาศยกระดับการเฝ้าระวัง ก็ยังไม่ได้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่องค์การอนามัยโลกให้ความสนใจเพราะพบการระบาดของโรคสูงขึ้นในพื้นที่แถบแอฟริกา แต่สิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักคือ ไม่ควรติดเชื้อไม่ว่าจะสายพันธุ์อะไร แม้ว่าสายพันธุ์เคลดทูที่มีความรุนแรงน้อย ผู้ป่วยที่สุขภาพแข็งแรงมักหายได้เอง แต่ก็ไม่ควรติดเชื้อ

“ส่วนฝีดาษวานร เคลดวันบี ที่กังวลเนื่องจากเกิดการติดเชื้อในเด็กมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงความสามารถของการแพร่กระจายเชื้อ ติดได้ง่ายขึ้น มีโอกาสติดเชื้อได้มากกว่า เช่น ละอองฝอยน้ำลาย เพราะเดิมทีการติดเชื้อฝีดาษวานร จะต้องสัมผัสใกล้ชิดกันมาก ๆ โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์”นพ.ธงชัยกล่าว 

เข้มข้นคัดกรอง สกัดฝีดาษวานร เคลดวันบี

ทั้งนี้ ประเทศไทย ได้ยกระดับเรื่องความเข้มข้นในการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศ ดูถี่มากขึ้น เฝ้าระวังมากขึ้น พร้อมให้ความรู้ประชาชนให้ตระหนักมากขึ้น เช่น กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ กับ Sex Worker ก็ต้องทราบเรื่องนี้ ต้องเฝ้าระวังตัวเองมากขึ้น ดูว่าผู้ที่เข้ามานั้น มีอาการผิดสังเกต มีตุ่มแผลตามร่างกายหรือไม่

อาการที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ ร่างกายมีตุ่มหนองเกิดขึ้น มีอาการไข้ ปวดศีรษะ ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล พร้อมบอกความเสี่ยงของตัวเอง ส่วนแพทย์จะทำการตรวจหาเชื้อฝีดาษวานรให้ หากพบว่าติดเชื้อก็จะต้องส่งตัวอย่างเชื้อไปที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อจำแนกสายพันธุ์และเฝ้าระวังต่อไป

“หากเจอเป็นฝีดาษวานร เคลดวันบี  ก็ต้องรายงานกรมควบคุมโรค เพราะโอกาสการระบาดก็จะมากขึ้น ทางกรมก็จะยกระดับเฝ้าระวังขึ้น ส่วนผู้ป่วยฝีดาษวานรในไทยที่เสียชีวิต 11 รายนั้น ยังเป็นกลุ่มที่ติดฝีดาษวานรร่วมกับติดเชื้อเอชไอวีอยู่แล้ว”นพ.ธงชัยกล่าว 

ความเสี่ยงฝีดาษวานร เคลดวันบี ไทยยังปานกลาง-ต่ำ

ด้านนพ.สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การที่ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งยุโรป (ECDC)เพิ่มระดับการประเมินความเสี่ยง เพราะมีการพบผู้ป่วยยืนยันในพื้นที่ ซึ่งเป็นกรณีที่คนสวีเดนไปทำงานอยู่ในพื้นที่แอฟริกากลาง มีอาการป่วย แล้วขอเดินทางกลับ ทำให้มีการตรวจพบและรายงานพบผู้ป่วยสายพันธุ์เคลดวันบี จึงจำเป็นต้องมีการประกาศยกระดับการเฝ้าระวัง

ในประเทศไทย ก่อนหน้านี้กรมได้ยกระดับการเฝ้าระวังการเดินทางเข้าประเทศที่ช่องทางเข้าออกประเทศแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงตามประกาศการระบาดขององค์การอนามัยโลก(WHO) จะต้องแสดงตัวการมาจากพื้นที่ดังกล่าว หากพบผู้ป่วยต้องสงสัยสามารถเก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อได้ที่ห้องปฏิบัติการที่สนามบินรู้ผลภายใน 90 นาที ถ้าผลยืนยันการติดเชื้อจะนำเข้าสู่การรักษาที่ห้องแยกโรค สถาบันบำราศนราดูร

“ในส่วนของประเทศไทยผู้ป่วยที่พบทั้งหมดยังเป็นสายพันธุ์เคลดทู ที่มีความรุนแรงต่ำ และยังไม่พบผู้ป่วยฝีดาษวานร เคลดวันบีในประเทศ ตอนนี้การประกาศยกระดับในส่วนอื่นๆจึงอาจจะยังไม่เหมาะสม เลยยังไม่มีการประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขของประเทศ ประเมินความเสี่ยงขณะนี้อยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำ“นพ.สุทัศน์กล่าว   

ติดจากสัมผัสสารคัดหลั่ง ไม่ใช่แอร์บอร์น

การติดเชื้อฝีดาษวานร เคลดวันบี ที่องค์การอนามัยโลกประกาศอาการแสดงจะมีผื่นได้ทั่วทั้งตัว  ขณะที่สายพันธุ์เคลด 2 ลักษณะของผื่นจะอยู่บริเวณที่เป็นเยื่อเมือก มุมปาก รอบรูทวารหนักและแถวบริเวณที่ปกปิด ส่วนการติดต่อจะเป็นการสัมผัสโดยตรงจากสารคัดหลั่งที่มีเชื้อโรคจากตัวคนไข้ ดังนั้น เคลดวันบี ติดได้ง่ายกว่าเคลดทู เพราะรอยโรคอยู่ออกมาด้านนอกร่างกายได้มากกว่า จึงมีประเด็นว่าผู้ป่วยเด็กที่ไม่ได้มีเรื่องของเพศสัมพันธ์แต่ติดเชื้อ

“การติดเชื้อยังเป็นการสัมผัสสารคัดหลั่งหรือดรอปเล็ท(Droplet)ฝอยละอองที่มีขนาดใหญ่ ไปได้ไม่ไกลก็จะลงพื้น ซึ่งเสมหะจากไอจาม หรือละอองน้ำลายสามารถติดได้หากพูดคุยใกล้ชิดหรือไอจามใส่หน้า แต่ยังไม่ใช่การติดต่อแบบไปทางอากาศหรือแอร์บอร์นที่จะเป็นการติดจากฝอยละอองขนาดเล็กและไปได้ระยะไกล”นพ.สุทัศน์กล่าว 

ถามว่ากรณีรับเชื้อมาแต่อยู่ระยะฟักตัวยังไม่แสดงอาการจะแพร่เชื้อได้หรือไม่ นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า โอกาสน้อย ต้องเป็นสารคัดหลั่งที่อยู่ในตัวที่มีเชื้ออยู่ ละอองน้ำลาย ละอองเสมหะอาจจะมีเชื้ออยู่ แต่การจะติดก็คือต้องสูดเข้าไป

คนเกิดก่อนปี 23ปลูกฝีแล้ว โอกาสติดน้อยลง 5 เท่า

ผู้สื่อข่าวถามเรื่องการเตรียมการวัคซีนฝีดาษวานร นพ.สุทัศน์ กล่าวด้วยว่า เชื้อไวรัสก่อโรคฝีดาษวานร Mpox เป็นตระกูลเดียวกับไข้ทรพิษ เพราะฉะนั้นกลุ่มคนที่เกิดก่อนปี 2523 และได้รับวัคซีนไข้ทรพิษหรือการปลูกฝีแล้ว  มีโอกาสติดเชื้อน้อยลง 5 เท่า ส่วนคนที่เกิดหลังจากปี 2523 ขณะนี้มีบริการฉีดวัคซีนที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย 

ส่วนกรมจะจัดหาให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง  อยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อพิจารณาว่าจะมีการเพิ่มเติมอะไรหรือไม่ เนื่องจากราคาค่อนข้างสูง เข็มละ 8,000-8,500 บาท แม้ไม่ใช่วัคซีนใหม่แต่เนื่องจากองค์การอนามัยโลกประกาศให้ไข้ทระพิษหมดไปจากโลกแล้ว จึงมีปริมาณความต้องการน้อย

“การป้องกันโรคก็หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดบุคคล โดยเฉพาะคนที่เราสงสัยว่าติดเชื้อ หรือเห็นรอยโรค เป็นตุ่ม ขอให้มีการทำความสะอาดบริเวณพื้นผิวจุดสัมผัสร่วมสม่ำเสมอหมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น”นพ.สุทัศน์กล่าว 
สำหรับพื้นที่เสี่ยงขณะนี้คือแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันออก เช่น ประเทศสาธารณรัฐบุรุนดี สาธารณรัฐเคนยา สาธารณรัฐรวันดา สาธารณรัฐยูกันดา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก   ที่มีการระบาดของฝีดาษวานร Mpox เคลดวันบี ตามที่องค์การอนามัยโลก(WHO) ประกาศ